อีลอน มัสก์ (Elon Musk) นายทุนและองค์การนาซา (NASA) ตัดสินใจจบภารกิจแคสสินี-ฮอยเกนส์ (Cassini-Huygens) ที่ถูกส่งออกไปสำรวจอวกาศตั้งแต่ปี 2540 ด้วยงบประมาณกว่าสามพันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ด้วยการใช้โปรแกรมวิถีโคจรที่ชื่อแกรนด์ฟินาเล (Grand Finale) ของยานแคสสินีที่เหลือน้ำมันและพลังงานอยู่น้อยนิดให้ดำดิ่งสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ เพื่อเก็บข้อมูลในระดับชั้นบรรยากาศ พร้อมทั้งกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ (microbe) ที่เกาะติดกับตัวยานมาจากโลกไม่ให้ปนเปื้อนกับดาวบริวารของดาวเสาร์ที่อาจมีสิ่งมีชิวิตอาศัยอยู่

ภารกิจแคสสินี-ฮอยเกนส์ เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การนาซา องค์การอวกาศยุโรป (ESA) องค์การอวกาศอิตาเลียน (ASI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งยานอวกาศ (spacecraft) แคสสินี และยานสำรวจ (space probe) ฮอยเกนส์ (Huygens) ให้เดินทางสู่ดาวเสาร์

แคสสินี-ฮอยเกนส์ใช้เวลาเดินทางตามวงโคจรของดาวศุกร์ โลก และดาวพฤหัส ตามลำดับร่วมเจ็ดปี จนมีแรงเหวี่ยงจากแรงดึงดูดรอบวงโคจรมากพอที่เพิ่มความเร็วและส่งให้ยานทั้งสองพุ่งทะยานสู่เป้าหมายที่ห่างไกลออกไปอีกหลายล้านกิโลเมตร

แคสสินียังคงส่งข้อมูลอันมหาศาลในเวลาจริงกลับมาที่โลก
ขณะที่โครงเหล็กของมันมอดไหม้ไปในชั้นบรรยากาศ

 

แคสสินีใช้เวลาสิบสามปีลอยละล่องรอบวงโคจรของดาวเสาร์อย่างโดดเดี่ยว ในช่วงเวลานั้น แคสสินีประสบความสำเร็จในการปล่อยยานสำรวจฮอยเกนส์ให้ลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ไททัน (Titan) ดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์เมื่อปี 2548 ซึ่งถือเป็นการลงจอดบนดาวเคราะห์ที่ห่างไกลจากโลกที่สุดเป็นครั้งแรกของมนุษยชาติ กล้องถ่ายภาพของยานเก็บภาพที่สวยงามเหนือจินตนาการของวงแหวนรอบดาวที่ละเอียดถี่ยิบเป็นล้านๆ วง และอุปกรณ์ตรวจวัดแสงอินฟาเรด (Composite Infrared Spectrometer – CIRS) ของยานได้เก็บข้อมูลของธารน้ำที่ปะทุขึ้นจากดวงจันทร์เอ็นเซลาดัส (Enceladus) ซึ่งบ่งบอกถึงสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับโลกอันเป็นสภาวะที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต

แคสสินียังคงปฏิบัติหน้าที่ของมันได้อย่างคุ้มค่ากับงบประมาณ ด้วยการส่งข้อมูลอันมหาศาลในเวลาจริงกลับมาที่โลกขณะที่โครงเหล็กของมันมอดไหม้ไปในชั้นบรรยากาศ

อำลาแคสสินี พิธีศพส่งท้ายการเดินทางตลอด 20 ปี

การได้มีโอกาสนั่งชมภารกิจสุดท้ายของยานแคสสินีที่องค์การนาซ่าถ่ายทอดทอดสดผ่านยูทูป เป็นประสบการณ์ที่น่าผิดหวังไม่น้อยสำหรับผู้ชมหลายท่าน ในแง่ที่ว่าชื่อภารกิจสุดท้ายของยานแคสสินีมีความอลังการตระการตาคล้าย ‘ไฟนอลวอล์ก’ แต่การถ่ายทอดสดขององค์การนาซากลับเป็นแค่วิดีโอ 360 องศาที่เก็บภาพไร้เสียงภายในห้อง Jet Propulsion Laboratory ณ สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) ผู้ชมสามารถหมุนวิดีโอได้รอบทิศเพื่อสังเกตปฏิกิริยาของทีมงานที่รับผิดชอบภารกิจแกรนด์ฟินาเล

ถ้าผู้ชมหมุนจอภาพไปที่บริเวณด้านหลังห้องก็จะพบจอภาพเสมือนจริง (virtual screen) อีกจอหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นจอภาพหลักที่ฉายสารคดีประวัติการเดินทางของยานแคสสินี ประมวลคอลเล็กชันวิดีโอและภาพนิ่งที่แคสสินีบันทึกไว้ตลอดอายุการเดินทาง ภาพจำลองช่วงเวลาที่ยานมอดไหม้ดับสลายในชั้นบรรยากาศ และการสัมภาษณ์ทีมงานคนสำคัญแบบสดๆ ซึ่งเสียงที่ผู้ชมได้ยินขณะชมวิดีโอจะเป็นเสียงที่มาจากจอภาพเสมือนจริง

ความรู้สึกในการชมภาพวิดีโอแบบอินเทอร์แอ็กทีฟของนาซานี้ จึงคล้ายกับการรับชมการประกอบพิธีศพนาน 1:32:36 ชั่วโมงให้กับยานแคสสินี ที่เป็นดั่งผู้เฒ่าผู้แก่ที่คอยส่งทอดประสบการณ์จากดินแดนไกลโพ้นกลับมาให้กับบุคลากรขององค์การหลายรุ่นได้ศึกษา

คล้ายกับการรับชมการประกอบพิธีศพให้กับยานแคสสินี ที่เป็นดั่งผู้เฒ่าผู้แก่ผู้คอยส่งทอดประสบการณ์จากดินแดนไกลโพ้นกลับมาให้กับบุคลากรขององค์การหลายรุ่นได้ศึกษา

 

เป็นที่น่าเสียดายว่า ตอนนี้เรายังรับชมภาพสุดท้ายที่แคสสินีบันทึกไว้ขณะเดินทางเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ไมได้ เพราะ ‘ภาพ’ เหล่านั้นยังเป็​นข้อมูลดิบที่ยังไม่ถูกประมวลและเรียบเรียงเป็นเรื่องราวโดย คาโรลิน พอร์โค (Carolyn Porco) และทีมงานตรวจสอบภาพถ่ายของแคสสินี (Cassini Imaging Team) ของเธอ

พอร์โคให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Wired ว่า ความภูมิใจของเธอและทีมงานคือการได้สร้างบันทึกการเดินทาง (travelogue) ของยานแคสสินีขณะที่มันท่องไปในห้วงอวกาศ โดยส่วนตัวแล้วเธอภูมิใจกับภาพถ่าย ‘วันที่โลกส่งยิ้ม’​ (The Day the Earth Smiled) ที่ยานแคสสินีถ่ายรูปของโลกเป็นจุดเรืองแสงเล็กๆ อันไกลโพ้นเมื่อมองจากดาวเสาร์

พอร์โคกล่าวว่า เธออยากให้ภาพดังกล่าว “ช่วยให้ผู้คนทั่วโลกสัมผัสได้ถึงที่ทางของเราในจักรวาล” บทสัมภาษณ์ของพอร์โคเผยให้เห็นเบื้องหลังการผลิตภาพถ่ายจากข้อมูลที่แคสสินีส่งกลับมาสู่โลก ไม่ว่าจะเป็นการตีความ เรียบเรียง และเผยแพร่ให้ภาพเหล่านั้นมีความหมายต่อมนุษย์ กล้องของแคสสินีทำหน้าที่เก็บภาพ แต่ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องเล่าที่ถูกถักทอจากข้อมูลเหล่านั้นก็ยังคงเป็นมุมมองที่ถูกเล่าโดยมนุษย์เพื่อมนุษย์ พิธีศพในรูปแบบการแสดงแกรนด์ฟินาเลก็เป็นผลผลิตของวัฒนธรรมการเล่าเรื่องที่หาจุดจบเยี่ยงวีรบุรุษอย่างยูลิสซิส (Ulysses) ให้แก่การเดินทางตลอดยี่สิบปีของแคสสินี

เมื่อมนุษย์เป็นฝ่ายสร้างความหมายให้เทคโนโลยี

การจัดพิธีศพให้กับวัตถุที่ไม่อาจนำกลับมาซ่อมแซมได้ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด The New York Times ทำสกู๊ปถึงการจัดพิธีศพตามหลักศาสนาให้กับหุ่นยนต์สุนัขไอโบ (Aibo) ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้บริโภคหลายครัวเรือน สำหรับผู้ใช้หลายคน ความตายของไอโบเป็นผลพวงจากการที่บริษัท (Sony) ยุติการผลิตอะไหล่ซ่อมแซมผลิตภัณฑ์

ไอโบเป็นสุนัขที่มีชีวิตจริงมากกว่าจะเป็นหุ่นยนต์เครื่องจักรที่เลียนแบบพฤติกรรมและท่วงท่าของสัตว์ พิธีศพของไอโบชี้ให้เราเห็นถึงความสามารถของมนุษย์ในการเลือกสร้างความหมายให้กับสิ่งของและเทคโนโลยีที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ ไม่มีทางที่เทคโนโลยีจะดำรงอยู่อย่างเป็นภววิสัย (objective) โดยปราศจากมุมมอง เจตนารมณ์ และการตีความของมนุษย์

พิธีศพของไอโบชี้ให้เราเห็นถึงความสามารถของมนุษย์ในการเลือกสร้างความหมายให้กับสิ่งของและเทคโนโลยีที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์

 

ชะตากรรมของแคสสินีและไอโบคล้ายคลึงกันในแง่ที่พิธีกรรมและประสบการณ์ของมนุษย์สามารถบรรจบเข้าหากันอย่างแนบสนิทกับเทคโนโลยี แคสสินีทำหน้าที่เป็นทั้งกล้องถ่ายรูปที่ลอยไปมารอบดาวเสาร์เพื่อส่งข้อมูลกลับมาสู่โลก และเป็นตัวแทนของพิธีกรรมการไว้อาลัยอันสมเกียรติแก่เครื่องจักรที่มนุษย์ส่งออกสู่อวกาศอันเวิ้งว้าง

การออกแบบการสูญสลายของแคสสินีอย่างมีศิลปะเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ขาดหายไปในวิสัยทัศน์ของนายทุนในคราบนักประดิษฐ์อย่าง อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (Space X) ซึ่งกำลังพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศ เขาทวีตว่าเขาจะ “เปิดตัวพัฒนาการใหม่ๆ และรูปแบบการใช้งานที่คาดไม่ถึง ในงาน IAC 2017 (International Astronautical Congress – งานประชุมวิศวกรรมอากาศนานาชาติ) ณ ประเทศออสเตรเลีย” ในวันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2560

เชื่อกันว่า งานนี้มัสก์คงพร้อมจะรายงานความคืบหน้าของแผนการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร The Verge เว็บไซต์เทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่ามัสก์น่าจะเปิดตัวยานอวกาศรุ่นใหม่ที่มีขนาดเล็กลงในระบบขนส่งข้ามดวงดาว (Interplanetary Transport System) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตมีราคาถูกลงกว่าเดิม และมัสก์ยังอาจจะเปลี่ยนใจไปตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์แทนแผนเดิมที่จะให้ยานมุ่งตรงสู่ดาวอังคาร

ทั้งมัสก์และนาซาดูจะต้องการจะมุ่งสู่อวกาศเหมือนกัน แต่จินตนาการต่ออวกาศของทั้งคู่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นายทุนอย่างมัสก์มองว่า หน้าที่ของบริษัทคือการแก้ปัญหาเชิงโลจิสติกส์ด้วยการย้ายทรัพยากรที่เรียกว่า ‘มนุษยชาติ’ ไปสู่พื้นที่ใหม่ มัสก์กล่าวว่าเป้าหมายของสเปซเอ็กซ์คือการ “สร้างระบบการขนส่ง เหมือนกับบริษัทสร้างทางรถไฟ Union Pacific” มัสก์มองว่า “เมื่อระบบขนส่งนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วจะเปิดโอกาสให้ทุกคนๆ ได้ไปดาวอังคารเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ หรือสร้างรากฐานให้กับดาวเคราะห์ดวงใหม่”

ทั้งมัสก์และนาซาดูจะต้องการจะมุ่งสู่อวกาศเหมือนกัน
แต่จินตนาการต่ออวกาศของทั้งคู่แตกต่างกันโดยสิ้น

 

ฟังๆ ดูแล้วเหมือนกับมัสก์กำลังเกณฑ์แรงงานราคาถูกไปเสี่ยงชีวิตบนดาวอังคารเพื่อสร้างกำไรให้กับบริษัทของเขาที่มีแผนจะย้ายฐานการผลิตไปสู่ที่ดินในอวกาศที่ไร้ผู้จับจอง ประหนึ่งคาวบอยอเมริกันที่มุ่งหน้าไปยึดครองดินแดนฝั่งตะวันตก

กรอบความคิดที่มีต่ออวกาศของมัสก์เป็นผลผลิตของบริบทโลกที่เต็มไปด้วยวิกฤตินานับประการ ตั้งแต่ปัญหาโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้และทรัพยากร การก่อการร้าย และสงครามนิวเคลียร์ แต่ถึงกระนั้นเราไม่เคยรู้ว่าเราจะเดินทางไปในอวกาศหรือสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารทำไม นอกเสียจากจะหนีออกจากโลกที่กำลังจะแตกสลาย และเพราะเรามีเทคโนโลยีที่เอื้อให้ภารกิจนี้เป็นไปได้ วาทศิลป์ของมัสก์มักลดทอนให้อวกาศเป็นพรมแดนอีกส่วนของโลกที่ยังอยู่ใต้โครงสร้างของระบบทุนและการแสวงหากำไร

แต่แคสสินีพิสูจน์ให้เราเห็นว่า มนุษยชาติไม่ได้เป็นแค่ทรัพยากรและวัตถุสิ่งของ มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่พร้อมจะอุทิศเวลาให้กับภารกิจที่แลดูจะไม่เกิดมรรคผลใดๆ เป็นเวลาหลายสิบปี มนุษย์อยากจะวาดภาพโลกที่เล็กกระจิดริดในห้วงจักรวาลให้กับมนุษย์อีกคนหนึ่ง และมนุษย์ยินดีที่จะจัดพิธีศพให้แก่หุ่นยนต์ที่อยู่ห่างไกลออกไปเป็นล้านๆ กิโลเมตร แกรนด์ฟินาเลของแคสสินีคือการตอกย้ำให้ผู้ชมเห็นว่า มนุษย์ต่างหากคือผู้รังสรรค์อวกาศให้มีความหมายแก่กันและกัน

Tags: , , , , , , , ,