‘กลับไป จากมา Revisited< >Departed’ คือนิทรรศการโดย นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ที่บรรจุเรื่องราวของบุคคลสำคัญในชีวิตของศิลปินไว้ ทั้งเรื่องของครอบครัวและคนใกล้ชิดที่เคลื่อนตัวมาทับซ้อนกับผลงานศิลปะของนาวินเรื่อยมา นับตั้งแต่เขาเริ่มสืบค้นที่ไปที่มาของบรรพบุรุษซึ่งอพยพมาจากตำบลคุชรันวาลา (Gujranwala) ในแคว้นปัญจาบ ที่ปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศปากีสถาน ทว่าบรรพบุรุษของเขาเดินทางออกจากคุชรันวาลาก่อนอินเดียประกาศเอกราช และแบ่งแยกดินแดนเป็นประเทศอินเดียและประเทศปากีสถาน เมื่อปี 2490

นิทรรศการจัดแสดงที่ Bangkok City City Gallery ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 7 เมษายน 2562 และการกลับมาแสดงผลงานอีกครั้งในปี 2562 นี้ นาวิน และภัณฑารักษ์คือ วรเทพ อรรคบุตร ได้ร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวของบุคคลสองคนที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของนาวินมากที่สุด นั่นคือพ่อของศิลปินเอง กับมณเฑียร บุญมา ศิลปินและอาจารย์ที่นาวินรักและเคารพผู้ซึ่งล่วงลับไปแล้ว

ความทรงจำถูกบรรจงถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะในเทคนิคการทำงานที่หลากหลายทั้งภาพวาด วิดีโอ ประติมากรรม และศิลปะจัดวาง โดยมีพื้นที่ของ Bangkok City City Gallery เป็นกล่องเก็บความทรงจำ รอคอยให้ผู้ชมมาเปิดผนึกกล่องเพื่อพบกับผลงานศิลปะกว่า 26 ชิ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนถูกปกคลุมไว้ด้วยเรื่องเล่า เรื่องราว และความทรงจำส่วนตัวของศิลปิน

นิทรรศการ กลับไป จากมา แบ่งการจัดแสดงออกเป็นสองห้อง ในห้องแรก (Front Gallery) นาวินเล่าเรื่องผ่านผลงานทั้งหมด 8 ชิ้น เพื่อระลึกถึงมณเฑียรโดยเฉพาะ ทั้งงานที่นาวินได้แรงบันดาลใจจากมณเฑียรและผลงานที่เคยทำร่วมกัน เรื่องราวถูกร้อยเรียงตั้งแต่คนทั้งสองเพิ่งเริ่มต้นรู้จักในฐานะอาจารย์กับลูกศิษย์ แม้ว่ามณเฑียรจะไม่ได้สอนนาวินโดยตรงก็ตาม แต่ก็ได้มีโอกาสร่วมทำงานกันบ่อยครั้ง  

ผลงานวิดีโอ House of Hope (Homage to Montien Boonma) (2556) ซึ่งกินพื้นที่หลักของห้องจัดแสดงทว่าซ่อนตัวอยู่ส่วนในสุดของห้อง ผู้ชมต้องเดินผ่านผลงานชิ้นอื่นๆ ทั้งหมดภายในห้องก่อนจะถูกพื้นที่ทางเดินเล็กๆ บังคับให้เคลื่อนตัวมาสู่ห้องแสดงวิดีโอนี้ คงไม่ผิดนักหากตำแหน่งพระเอกของห้องจัดแสดงห้องแรกจะตกเป็นของ House of Hope โดยมีคุณยายซึ่งเป็นแม่ยายของมณเฑียรเป็นตัวเอกของตัวผลงานอีกทีหนึ่ง

วิดีโอฉายภาพคุณยายที่นั่งอย่างสงบ โดยมีเบื้องหลังคือเปียโนซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ในบ้านหลังเก่าของมณเฑียรที่เขาเคยใช้เป็นสตูดิโอ ฉายซ้อนทับลงบนภาพวาดครอบครัวของมณเฑียร ร่างคุณยายในวิดีโอขยับเล็กน้อยจนผู้ชมแทบไม่ทันสังเกต ใบหน้าที่เผยร่องรอยเหี่ยวย่นค่อยๆ เหม่อมองไปเบื้องบนอย่างไร้จุดหมาย ภาพวาดครอบครัวแฝงความน่าสนใจไว้ด้วยเครื่องหมายคำถามและเครื่องหมายตกใจ ‘?!’ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของมณเฑียร สื่อถึงการตั้งคำถามกับการหาคำตอบที่วนเวียนเป็นวัฏจักรไม่จบสิ้น เครื่องหมายทั้งสองยังกระจายตัวซุกซ่อนอยู่ในนิทรรศการทั้งสองห้อง เช่น ถูกใช้แทนตัวโน้ตเพลง Funeral March ในผลงาน Page 42: Very Beautiful (2562) และภาพวาดไม้เท้ากับไม้เมตรของพ่อนาวิน ที่เมื่อนำมาอยู่เคียงคู่กันแล้ว ภาพที่ออกมานั้นคล้ายคลึงกับเครื่องหมายคำถามและเครื่องหมายตกใจอย่างพอดิบพอดีในผลงาน The Walk of Rawal (!?) (2562)

ห้องที่สอง (Main Gallery) ของนิทรรศการรวบรวมผลงานไว้กว่า 18 ชิ้น นอกจากเรื่องของพ่อที่นาวินตั้งใจจะถ่ายทอดออกมาแล้ว ยังมีเรื่องราวชีวิตของบุคคลในครอบครัวและคนใกล้ชิดของนาวินที่ถูกเล่าผ่านผลงานแต่ละชิ้นอย่างประณีตบรรจง หนึ่งในผลงานที่น่าสนใจคือวิดีโอจัดวาง กลับไป จากมา (2562) ภายใต้ชื่อเดียวกับนิทรรศการ ผลงานชิ้นนี้แสดงภาพบ้านสองหลัง หลังหนึ่งคือบ้านของนาวินส่วนอีกหลังคือบ้านของมณเฑียร วิดีโอฉายภาพบ้านทั้งสองเคียงคู่ขนานกันในบรรยากาศที่สงบ แต่เป็นความสงบที่ปะปนด้วยกลิ่นอายบางๆ ของความเศร้า อารมณ์ที่ว่ายังถูกเน้นเค้นและย้ำด้วยเสียงเปียโนจากบทเพลง Funeral March ของคีตกวีชาวฝรั่งเศส เฟรเดอริก ฟรองชัวส์ โชแปง ที่คลออยู่ บทเพลงที่มณเฑียรชื่นชอบเนื่องภรรยาเคยบรรเลงบทเพลงนี้ให้ฟัง

บริเวณกึ่งกลางห้องจัดแสดงยังมีผลงานอีกชิ้นที่น่าสนใจ โครงไม้ถูกก่อเป็นห้องขนาดใหญ่กินพื้นที่หลักของห้องจัดแสดง นั่นคือผลงาน รื่องเล่าบ้านบ้าน เรื่องราวนาวิน (2558) ที่ศิลปินยกเอาร้านโอเค ร้านขายผ้าในตึกแถวที่เคยเป็นบ้านที่เขาอาศัยอยู่มาจัดแสดงในแกลเลอรี ข้าวของทุกอย่างจากร้านถูกนำมาจัดวางอย่างสมจริง เมื่อก้าวย่างพ้นผ่านประตูร้านเข้าไปภายใน สิ่งของทุกอย่างทั้งผ้า ไม้เมตร ถุง โต๊ะเก็บเงิน กระทั่งการแต่งผนังร้าน ภาพที่ปรากฏนั้นราวกับว่าผู้ชมหลุดเข้าไปอยู่ในร้านขายผ้าของนาวินจริงๆ การก้าวเดินจากแกลเลอรีผ่านเข้าไปข้างในพื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นเหมือนการก้าวเข้าไปข้างนอกมากกว่าการเข้าไปข้างใน

‘ฮิกังบานะ’ (Higanbana) หรือที่สูจิบัตรของงานระบุว่าเป็นพลับพลึงป่าสีแดงสดซึ่งบานในช่วงเวลาที่ชาวญี่ปุ่นหวนรำลึกถึงผู้ล่วงลับ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันในนิทรรศการนี้ แม้ไม่ใช่สัญลักษณ์ที่สื่อถึงความตายอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าฮิกังบานะเป็นดอกไม้ที่ชวนให้นึกถึงเรื่องของความตาย ภาพดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อนาวินใส่ดอกสีแดงนี้เข้าไปในผลงานหลายชิ้นที่เกี่ยวโยงกับความตาย เช่น เรื่องราวนาวิน (Tales of Navin) (2556-58) ชุดผลงานภาพวาดงานศพของตัวศิลปินเองที่ทำขึ้นเพื่อทบทวนชีวิตการทำงานศิลปะตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ภาพวาดโทนสีขาวดำหม่นคลุ้งบรรยากาศความตายตัดด้วยสีแดงสดของดอกฮิกังบานะ สีที่โดดแต่กลับไม่ได้เด่นกลบทั้งภาพ ความหมายที่ผูกติดอยู่กับดอกไม้กลมกลืนกับความหมายของภาพวาดงานศพ อีกทั้งสีแดงสดนั้นยังช่วยตรึงสายตาผู้ชมให้จมจ่อมอยู่กับภาพได้เป็นอย่างดี

ท่ามกลางผลงานหลายหลากชิ้น มีสิ่งหนึ่งที่ช่วยทำหน้าที่ปะติดปะต่อเรื่องราวภายในนิทรรศการ นั่นคือจดหมายที่นาวินเคยเขียนถึงมณเฑียร ฉบับแรกเมื่อครั้งได้รับรางวัลศิลปาธรปี 2553 ฉบับที่สองเมื่อปี 2556 เพื่อขออนุญาตทำงานอุทิศ เนื้อความจากจดหมายซึ่งแต่เดิมคือข้อความที่นาวินตั้งใจเขียนถึงมณเฑียรเมื่อมาปรากฏในนิทรรศการ สถานะของตัวบทจึงงอกเงยเลยพ้นการเป็นบันทึกสามัญ คือเป็นทั้งคำบรรยายประกอบนิทรรศการและผลงานศิลปะไปพร้อมกัน ทุกสถานะทับซ้อนกันอย่างแนบเนียนเกินกว่าจะบ่งชี้ความหมายใดความหมายหนึ่ง ข้อเขียนเข้ามาเติมสิ่งที่ขาดไปจากผลงานแต่ไม่ใช่การทำให้ความหมายเต็มเพราะเรารู้กันดีว่ากิจนั้นเป็นของตัวผู้ชมเอง

กลับไป จากมา แสดงตัวตนออกมามากกว่าการเป็นแค่นิทรรศการศิลปะ แต่เรายังรู้สึกถึงความเป็นพิพิธภัณฑ์ชีวิต ศิลปินร้อยเรียงเรื่องเก่าประสานเข้ากับสิ่งใหม่ เชื่อมโยงสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่กับสิ่งที่หายไปแล้ว ไม่ใช่แค่คนแต่ยังรวมถึงสิ่งของ นำพาสิ่งที่ไม่เคยพบให้มาบรรจบกันในผลงาน ผู้ชมถูกดูดด้วยแรงดึงของจักรวาลที่นาวินสร้างขึ้นมาในนิทรรศการขนาดย่อม บางสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการไม่ได้ปรากฏ ณ โลกใบนี้อีกต่อไปแล้ว เรื่องของความตายถูกเล่าผ่านทั้งภาพของคนที่ตายจากโลกนี้ไปจริงๆ และสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับความตาย แต่ในทางกลับกันผู้เขียนสัมผัสได้ถึงบรรยากาศในนิทรรศการที่ดูมีชีวิต เสียงหายใจที่คลออยู่ในห้องจัดแสดงหลักยิ่งช่วยเน้นย้ำความมีชีวิตแม้เสียงนั้นจะฟังดูเอื่อยช้าราวใกล้สิ้นลม กลับกลายเป็นว่าการเล่าถึงความตาย ยิ่งเป็นการเน้นย้ำถึงการมีชีวิตได้ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง

Tags: , ,