แผนการเงินที่สำคัญมากที่สุดแผนหนึ่งเลยก็คือ ‘แผนเกษียณอายุ’ แต่แผนการเงินที่สำคัญมากนี้กลับกลายเป็นแผนการเงินที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่สำคัญ หรือมองว่ายังไม่ต้องรีบทำตอนนี้ก็ได้ ยังอีกตั้งนาน
บทความนี้เรามาดูความจริงที่เกี่ยวกับการเกษียณอายุกันดีกว่า
เมื่อเราพูดถึงเรื่องการเกษียณอายุ หลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่ายุ่งวุ่นวายและเป็นเรื่องยาก ไหนจะมีเรื่องผลตอบแทน ไหนจะเรื่องเงินเฟ้อ คำนวณไม่ถูกแน่ๆ ถ้าอย่างนั้นเราลองยกเรื่องพวกนี้ออกไปให้หมดก่อน แล้วให้เราลองนึกย้อนกลับไปเมื่อสมัยตอนเด็กจนกระทั่งเรียนจบ สมมติว่าเราเรียนจบปริญญาโท อายุเราก็น่าจะประมาณ 25 ปี จากนั้นเราก็เข้าสู่ตลาดแรงงานกัน
จากนั้นถ้าลองถามคนที่อายุ 25 ปี เพิ่งเริ่มต้นทำงานว่าอยากจะเกษียณอายุกันเมื่อไร เชื่อได้เลยว่าส่วนใหญ่ไม่น่าจะมีใครตอบที่ตัวเลข 60 ปีกันแล้ว แต่น่าจะอยู่ราวๆ 45-50 ปีกัน หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 55 ปี
พอเรารู้อายุที่เราจะเกษียณกันแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องตอบต่อมา คือ เราจะมีชีวิตถึงอายุเท่าไหร่ ? ตรงนี้ถ้าเราไปดูอายุขัยเฉลี่ยของบ้านเรา ซึ่งอยู่ที่แถวๆ 78-80 ปี ณ ปัจจุบัน แนะนำว่าเวลาเราวางแผนเกษียณควรคิดเผื่อเราอายุยืนมากกว่าเฉลี่ยสัก 5-7 ปี ทำให้อายุขัยที่เราควรจะนำมาคำนวณก็น่าจะอยู่ที่แถวๆ 85 ปี
ทีนี้เราลองมาคำนวณเล่นๆ เอาแบบที่ไม่ต้องมีเงินเฟ้อ ไม่ต้องมีผลตอบแทนจากการลงทุน เราเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 25 ปี จนถึง 55 ปี นั่นแปลว่าเรามีเวลาทำงานทั้งหมด 30 ปี แต่เราต้องหาเงินเลี้ยงตัวตั้งแต่อายุ 25 ปีจนถึง 85 ปี แปลว่าเราต้องมีชีวิตอยู่ยาวถึง 60 ปี
เรามีเวลาทำงานทั้งหมด 30 ปี แต่เราต้องหาเงินเลี้ยงตัวตั้งแต่อายุ 25 ปีจนถึง 85 ปี แปลว่าเราต้องมีชีวิตอยู่ยาวถึง 60 ปี
เราจะเริ่มเห็นความจริงบางอย่างว่าเราต้องทำงาน 30 ปี เพื่อเลี้ยงตัวเอง 60 ปี ลองมองย่อยกว่านั้น คือ เราต้องทำงานหนึ่งเดือนเพื่อเลี้ยงดูตัวเราเองสองเดือน หรือพูดง่ายๆ ว่า เมื่อเราทำงานมีรายได้เราควรมีเงินออมอย่างน้อย 50% ของรายได้นั่นเอง!
แค่เราคิดเลขแบบง่ายๆ ไม่ต้องปวดหัวอะไร ก็ได้เห็นความจริงที่หลายๆ คนชอบคิดว่าเรื่องเกษียณอายุไม่ใช่เรื่องต้องรีบคิดหรอก เดี๋ยวอีกสัก 5 ปี 10 ปีค่อยจัดการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเรายิ่งเริ่มช้าเราก็ยิ่งต้องเก็บเงินมากกว่า 50% อีก ยังไม่นับรวมเป้าหมายอื่นๆ เช่น ซื้อรถ ซื้อบ้าน แผนเที่ยว ฯลฯ
หลายๆ คนพอเจอตัวเลข 50% ก็บอกว่าไม่ไหว ให้เก็บ 50% แบบนี้จะเก็บได้ยังไง
ในขั้นตอนการวางแผนเกษียณอายุ ยังมีแง่มุมเรื่อง ‘การลงทุน’ อยู่ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายๆ ปวดหัว แต่การศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุนเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามาก เพราะการลงทุนจะกลายมาเป็นเครื่องทุ่นแรงในการออมเงินของเราได้เป็นอย่างดี
สมมติให้ปีหนึ่งเรามีรายได้ปีละ 200,000 บาท แล้วใช้เงิน 100,000 บาทต่อปี นั่นแปลว่า เราจะเหลือเงินเก็บ 100,000 บาท จากตัวอย่างด้านบน เราทำงาน 30 ปี จะต้องมีเงินเก็บทั้งหมด 3,000,000 บาท ณ วันที่เราเกษียณเพื่อทยอยถอนเงินออกมาใช้ได้ปีละ 100,000 บาท
แต่ถ้าเราใส่ความรู้เรื่องการลงทุนลงไปในแผนสักหน่อย รู้จักการจัดพอร์ตต่างๆ ไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยสัก 6% ต่อปี ตลอดระยะเวลา 30 ปี จากที่เราต้องเก็บเงินเดือนละ 100,000 บาทเพื่อให้มีเงิน 3,000,000 บาท ณ อายุ 55 ปี เราเก็บเงินเพียง 37,947 บาท ต่อปีเท่านั้น หมายความว่าถ้าเรารู้เรื่องการลงทุน เราจะเก็บเงินน้อยลงไปมากกว่า 60% ต่อปีเลยทีเดียว
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าถ้าอยากวางแผนเกษียณต้องรู้จักการลงทุนด้วย เรียกได้ว่าความรู้เรื่องการเงินเป็นสิ่งที่มีต้นทุนมหาศาล
ถ้าเราใส่ความรู้เรื่องการลงทุนลงไปในแผนสักหน่อย จากที่เราต้องเก็บเงินเดือนละ 100,000 บาท ก็อาจเก็บเงินเพียง 37,947 บาท ต่อปีเท่านั้น
ในช่วงแรกเรื่องการลงทุนอาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสักหน่อย แต่เราอาจจะลองใช้เวลาหลังเลิกงานหรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์แบ่งมาศึกษา ซึ่งแน่นอนว่าใช้เวลาในการศึกษาน้อยกว่าการเรียนปริญญาตรีหรือปริญญาโท สำหรับเรื่องการลงทุนนั้นเป็นสิ่งที่เรียกว่าปริญญาชีวิตที่เรียนรู้เพียงแค่ครั้งเดียวก็สามารถใช้ความรู้นี้ไปได้ตลอดชีวิต
Tags: การเงินส่วนบุคคล, วางแผนเกษียณอายุ, วางแผนการเงิน, เกษียณอายุ