ตะวันเบิกฟ้า สองพี่น้องตัวน้อยค่อยๆ ถูกงัดขึ้นมาจากเตียง

ทั้งสองไปอาบน้ำสระผมด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มซึ่งผลิตจากการถางและเผาป่าในอินโดนีเซีย ก้าวออกมาจากห้องน้ำเพื่อสวมเสื้อผ้าส่งตรงจากแรงงานบังคับในบังกลาเทศ และใช้วัตถุดิบราคาประหยัดคือฝ้ายที่ปลูกโดยใช้สารเคมีเข้มข้นจากประเทศจีน

“สตางค์ ไอติม รีบลงมากินข้าวได้แล้ว” ทั้งสองรีบขานรับก่อนจะแล่นฉิวลงบันไดไปตามเสียงเรียก

อาหารเช้าวันนี้คือแฮมและไส้กรอก จากสัตว์ที่เลี้ยงโดยข้าวโพดที่เปลี่ยนผืนป่าให้กลายเป็นเขาหัวโล้น เสิร์ฟพร้อมไข่ดาวจากไก่ไข่ที่เลี้ยงอย่างทรมานในกรงตับที่เล็กจนแทบขยับตัวไม่ได้ ก่อนจะคว้ากล่องข้าวผัดกุ้งซึ่งจับโดยแรงงานทาสบนเรือประมงไปเป็นอาหารกลางวัน สองพี่น้องหอมป๊าม้าแล้วก้าวขึ้นรถตู้โรงเรียน คว้าโทรศัพท์มือถือที่มีส่วนประกอบของสารพัดแร่ที่ขุดจากเหมืองที่ใช้แรงงานเด็กและผู้หญิง โดยผลกำไรจะถูกนำไปใช้สำหรับการก่อการร้าย

ครอบครัวแสนธรรมดาด้านบนคือตัวอย่างผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราอาจมองไม่เห็นว่าของเหล่านั้นมาจากไหน หรือมีส่วนประกอบอะไรบ้าง หลายครั้งที่การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ที่หาซื้อของทุกอย่างได้จากซูเปอร์มาร์เก็ต อาจทำให้เราลืมนึกไปว่าสินค้าเหล่านั้นย่อมมีที่มาที่ไป ไม่ต่างจากน้ำประปาซึ่งไม่ได้มาจากก๊อก แต่ถูกผันมาจากแม่น้ำ ที่มีต้นทางคือผืนป่าอีกทีหนึ่ง

ในประเทศกำลังพัฒนาที่กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคยังไม่เข้มข้น บริษัทบางแห่งฉวยโอกาสสร้างผลกำไรโดยทิ้งผลกระทบภายนอก (externalities) ไว้รายทาง สร้างเป็นภาระทางสังคมเพื่อจะได้กดต้นทุนให้ต่ำแสนต่ำ นำมาลดกระหน่ำให้กับผู้บริโภคในเมืองใหญ่อย่างเราๆ ท่านๆ ที่อาจไม่ได้นึกถึงว่า ราคาที่ถูกแสนถูกหมายถึงแรงงานที่ถูกกดขี่ หรือความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมีที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

โชคดีที่ผู้บริโภคอย่างเรายังมีไพ่ตายในกระเป๋าสตางค์ อาจเป็นรูปแบบธนบัตรหรือบัตรพลาสติกก็ตามแต่ถนัด อำนาจซื้อนี่แหละครับที่นักรณรงค์หลายคนเชื่อว่าสามารถเปลี่ยนแปลงตลาดได้ไม่มากก็น้อย ก็ลองคิดดูแล้วกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากผู้บริโภคทุกคน ‘แบน’ เนื้อไก่ที่เลี้ยงโดยข้าวโพดซึ่งบุกรุกพื้นที่ป่า หรือเสื้อผ้าที่ผลิตจากโรงงานนรก

โชคดีที่ผู้บริโภคอย่างเรายังมีไพ่ตายในกระเป๋าสตางค์ อำนาจซื้อนี่แหละครับที่นักรณรงค์หลายคนเชื่อว่าสามารถเปลี่ยนแปลงตลาดได้ไม่มากก็น้อย

โจทย์ต่อไปคือจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสินค้าเหล่านั้นผลิตอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จะให้เปิด Google ทุกครั้งเพื่อค้นหาข่าวฉาวของบริษัทก่อนหยิบสินค้าใส่ตะกร้าก็คงจะเสียเวลาไม่น้อย หรือให้ไปทัวร์โรงงานผลิตก่อนจะตัดสินใจซื้อเสื้อผ้าสักแบรนด์ก็ดูจะเหนื่อยเกินไป

ไม่ต้องกังวลไปครับ เพราะปัจจุบัน เรามีทางออกที่ง่ายแสนง่ายคือสังเกตจากป้ายรับรอง (Labels) ซึ่งจะระบุว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นผ่านมาตรฐานตามที่องค์กรที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นผู้กำหนด และทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ โดยการรับรองดังกล่าวจะเน้นรับรองกระบวนการผลิตและการแปรรูป เช่น วิธีที่ใช้ในการปลูกพืชในแปลงเกษตร เครื่องมือและวัตถุดิบที่นำมาแปรรูป เป็นต้น

องค์กรเหล่านั้นทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมคนเมืองกับต้นทางของการผลิตสินค้า เข้ามาตอบโจทย์ผู้ที่มีเวลาน้อยแต่อยากมีไลฟ์สไตล์ที่ทั้งดีต่อโลกและดีต่อเรา โดยย่นย่อความยุ่งยากให้เหลือเพียงตราสัญลักษณ์เล็กๆ ให้ผู้บริโภคสังเกตกัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าเหล่านั้นไม่ได้จัดหามาโดยการทำร้ายใคร

แต่ใช่ว่าตราสัญลักษณ์เหล่านั้นจะตอบโจทย์ทุกอย่างนะครับ เพราะต่อให้ข้อมูลดังกล่าวถูกย่นย่อเหลือเพียงเครื่องหมายเล็กๆ แต่ผู้บริโภคเองก็ต้องใช้มานะอุตสาหะระดับหนึ่งในการทำความเข้าใจ

เว็บไซต์ Ecolabel Index รวบรวมรายละเอียดเบื้องต้นของป้ายรับรองเหล่านั้นกว่า 465 แบบจาก 199 ประเทศที่รับรองใน 25 อุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้น หลายองค์กรก็รับรองมาตรฐานสินค้าที่ใกล้เคียงกัน เช่น ตรารับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีอยู่หลายสิบแบบ แถมยังต้องมาแข่งกับหลายเจ้าที่แปะป้ายแบบ ‘คิดเองเออเอง’ กล่าวคือประกาศเอง รับรองเอง โดยไม่มีองค์กรใดเข้าไปรับรองมาตรฐานดังกล่าว เรียกว่าทำให้เหล่ามือใหม่หัดซื้อท้อใจเอาง่ายๆ

เพื่อให้เห็นภาพ เราไปรู้จักตรารับรองที่ถือว่า ‘ฮอตฮิต’ และพอหาได้ในประเทศไทยกันดีกว่าครับ

สารพัดสินค้าเกษตรอินทรีย์

เครื่องหมายรับรองที่คุ้นหูคุ้นตากันดีก็คงหนีไม่พ้นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีทั้งตรารับรอง USDA จากอเมริกา ใบไม้สีเขียวของสหภาพยุโรป ตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (ม.ก.ท.) ยึดเกณฑ์ตามสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM) และตรา Organic Thailand โดยกรมวิชาการเกษตรของไทยเรานี่แหละครับ

แม้ว่าจะมีหลายองค์กรที่ให้การรับรองเกษตรอินทรีย์ แต่หัวใจสำคัญก็คล้ายคลึงกัน เช่น แปลงปลูกจะต้องปลอดสารเคมีอย่างเด็ดขาดอย่างน้อยระยะเวลาหนึ่ง (ตามความเข้มงวดของแต่ละฉลาก) แหล่งน้ำต้องไม่ปนเปื้อน เมล็ดและปุ๋ยก็ต้องมาจากแหล่งที่ปลอดเคมี หากแปลงปลูกอยู่ติดกับแปลงเกษตรที่ยังใช้สารเคมี ก็ต้องทำแนวกันชนเพื่อป้องกันการปนเปื้อน ในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป ก็ต้องแยกใช้เครื่องจักรอย่างชัดเจน หรือทำการผลิตโดยไม่ปะปนกัน ที่สำคัญ เกษตรกรต้องหมั่นจดอย่างสม่ำเสมอว่าใช้วัตถุดิบอะไร สั่งมาจากไหน และใส่ลงในแปลงวันที่เท่าไร

สินค้าที่ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์นั้นมีหลากหลาย ที่พอมองเห็นในไทยก็มีตั้งแต่ผักผลไม้ ข้าว นม ไข่ไก่ ไปจนถึงกะทิ และสินค้าเกษตรแปรรูปต่างๆ บางตรารับรองก็ออกแบบมาเฉพาะเจาะจงกับสินค้าบางประเภทเช่น NATRUE ที่จะรับรองสินค้าออร์แกนิกด้านความงามเท่านั้น

ฉลากรักป่า รักทะเล รักแรงงาน รักสัตว์

เมื่อพูดถึงฉลากรักป่า ก็คงหนีไม่พ้นตราเจ้ากบสีเขียวของ Rainforest Alliance ที่รับรองว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้บุกรุกพื้นที่ป่า และยังบริหารจัดการภายใต้เงื่อนไขการอนุรักษ์ทรัพยากร และมีผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบน้อยที่สุด ส่วนฉลากรักทะเล ที่คุ้นตากันก็คงจะเป็น Marine Stewardship Council หรือ MSC ที่เป็นรูปน้องปลาสีฟ้า ซึ่งรับรองว่าอาหารทะเลดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์จากการประมงที่ยั่งยืน คือไม่จับแบบทำลายล้างจนหมดทะเล

ตรารับรองเหล่านี้ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้นนะครับ ในแง่ของแรงงาน เช่น ราคาผลผลิต สัญลักษณ์ Fairtrade จะรับรองว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวซื้อจากเกษตรกรรายย่อยด้วยราคาที่เป็นธรรม อีกทั้งยังเพิ่มค่าพรีเมียมเป็นกองทุนส่วนกลางเพื่อนำไปใช้พัฒนาชุมชนอีกด้วย

ส่วนฉลากสุดท้ายอาจไม่ค่อยคุ้นตาเท่าไหร่ คือฉลากรักสัตว์ เช่น Global Animal Partnership ที่รับรองว่าผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่คุณๆ ท่านๆ กำลังจะซื้อไปรับประทานนั้น เลี้ยงมาอย่างมีมนุษยธรรม เช่น ไม่ถูกขังอยู่ในกรง มีพื้นที่เหมาะสมเพียงพอที่สัตว์เหล่านั้นจะแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ

ตรารับรองประหยัดพลังงาน

คงไม่มีใครไม่รู้จักฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่โฆษณาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งนับว่าเป็นตรารับรองที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และผู้บริโภคสามารถมองเห็นประโยชน์จากการเลือกซื้อสินค้าที่ได้รับการรับรองได้ค่อนข้างง่ายและชัดเจน

นอกจากฉลากเบอร์ 5 อีกหนึ่งตรารับรองที่ได้รับความนิยมในไทยคือมาตรฐานอาคารเขียว หรือ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ที่รับรองว่าอาคารดังกล่าวออกแบบภายใต้แนวคิดความยั่งยืน โดยคำนึงถึงวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง ระบบไฟฟ้าและน้ำ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมภายในอาคารที่เหมาะสำหรับผู้ใช้งานหรือผู้อยู่อาศัย ซึ่งเรามักจะเห็นตราใบไม้ดังกล่าวในหลายตึกขนาดใหญ่ที่สร้างใหม่ในกรุงเทพฯ

อีกหนึ่งมาตรฐานน้องใหม่ที่ยังไม่ค่อยเห็นมากนักในประเทศไทย คือตรารับรองว่าบริษัทหรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น WindMade หรือ naturemade ซึ่งก็ต้องจับตาดูต่อไปว่าตราสัญลักษณ์เหล่านี้จะไปได้ไกลมากน้อยแค่ไหน

การเลือกซื้อสินค้าที่มีตรารับรอง นับว่าเป็นขั้นแรกๆ ของการลงมือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสู่การเป็นผู้บริโภคที่รับผิดชอบ บางคนอาจมองว่า อ้าว! เราไปเกี่ยวอะไรด้วยล่ะ ถ้าผู้ผลิตหรือบริษัทเป็นตัวสร้างปัญหา ก็ให้รัฐเข้าไปจัดการสิ ทำไมต้องลำบากผู้บริโภคต้องมานั่งศึกษา แถมบางครั้งอาจต้องจ่ายราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไปอีกด้วย

การเลือกซื้อสินค้าที่มีตรารับรอง นับว่าเป็นขั้นแรกๆ ของการลงมือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสู่การเป็นผู้บริโภคที่รับผิดชอบ

ช้าก่อนครับ อย่าลืมว่าการผลิตและการบริโภคก็เป็นเสมือนฟันเฟืองที่ต้องหมุนไปพร้อมกัน ต่อให้บริษัทออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่รักทะเล รักโลก รักป่า แถมยังใช้พลังงานหมุนเวียนมาจำหน่าย แต่ถ้าไม่มีใครสนใจจะซื้อ บริษัทก็อยู่ไม่ได้นะครับ ส่วนภาครัฐผมก็ไม่อยากไปหวังพึ่งเท่าไหร่ สู้ใช้อำนาจซื้อในกระเป๋าสตางค์ของเราค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตลาดน่าจะดูมีความหวังกว่า

ส่วนการจ่ายราคาแพงเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย สุดท้ายมันก็จะส่งผลดีกับตัวเราเอง ที่เห็นภาพชัดที่สุดก็เช่นการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน หรือการบริโภคพืชผักออร์แกนิก ทางเลือกดังกล่าวย่อมช่วยลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าสาธารณูปโภคหรือค่ารักษาพยาบาลในอนาคต ส่วนฉลากด้านสิ่งแวดล้อมอาจจะมองแทบไม่เห็นผลระยะสั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงเชิงระบบ เช่น ภัยธรรมชาติ หรือภาวะโลกร้อน ก็ถือว่าเป็นการจับจ่ายใช้สอยที่คำนึงถึงลูกหลานแล้วกันนะครับ

เข้าซูเปอร์มาร์เก็ตครั้งหน้า ก็อย่าลืมมองหาตรารับรองเหล่านี้นะครับ!

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

Tags: , , , , ,