ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ศิลปะและวัฒนธรรมมักจะเป็นเครื่องมือในการแสดงออกซึ่งเสรีภาพภายใต้การกดขี่ หลายต่อหลายครั้งที่ศิลปะถูกใช้เป็นหนทางในการแสดงการต่อต้านผู้มีอำนาจอันฉ้อฉลในสังคมอย่างรัฐ กฎหมาย หรืออำนาจการเมืองที่กดขี่ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ไปจนถึงการต่อต้านสงคราม ความรุนแรง การแบ่งแยกสีผิว และการกดขี่ทางเพศ ศิลปะในแนวทางนี้ถูกเรียกว่า ศิลปะต่อต้าน (Resistance Art) หรือ ศิลปะประท้วง (Protest Art) นั่นเอง
นอกจากงานศิลปะต่อต้านที่ทำในรูปแบบทางศิลปะตามขนบอย่างจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์แล้ว มันยังกินความหมายรวมไปถึงงานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากกระแสเคลื่อนไหวทางสังคม การเมือง หรือสร้างขึ้นโดยนักเคลื่อนไหวและรณรงค์ทางการเมือง เพื่อการขับเคลื่อนมวลชน ในการชุมนุมทางการเมือง อย่างการประท้วงหรือเดินขบวน ที่ใช้งานศิลปะในเชิงสื่อสารมวลชนอย่าง ป้าย ภาพสัญลักษณ์ โปสเตอร์ สิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อถึงสารหรือประเด็นที่เฉพาะเจาะจง
หรือแม้แต่เป็นการเคลื่อนไหวและแสดงออกในเชิงต่อต้านขัดขืนต่ออำนาจรัฐอย่างสงบ ที่เรียกว่า อารยะขัดขืน (civil disobedience) ที่แสดงออกในรูปแบบของศิลปะการแสดงสด (Performance Art) ศิลปะจัดวางเจาะจงพื้นที่ (Site-specific installations) ศิลปะกราฟฟิตี้ (Graffiti) และ สตรีทอาร์ต (Street art) หรือแม้แต่ภาพล้อเลียน หรือ มีม (meme) ในสื่อออนไลน์ ไปจนถึงงานศิลปะในหลากสื่อหลายแขนง ศิลปินที่ทำงานศิลปะประท้วงมักจะหลีกเลี่ยงการทำงานกับสถาบันศิลปะและหอศิลป์เชิงพาณิชย์ เพื่อพยายามเข้าถึงผู้ชมหรือมวลชนในวงกว้างกว่านั่นเอง
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ศิลปะมีบทบาทสำคัญในการบันทึกเหตุการณ์ทางสังคมการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสงคราม ความรุนแรง และความไม่เท่าเทียมเสมอมา แต่การมีเสรีภาพในเชิงสร้างสรรค์ ที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ของรัฐและศาสนานั้น เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ในโลกศิลปะ ถึงแม้ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ด้วยกันในโลกจะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ก็ตามที
ศตวรรษที่ 19 และ 20 คือเป็นช่วงเวลาที่เกิดสงครามและการปฏิวัติในหลายพื้นที่ของโลก เป็นผลให้มีการแพร่หลายของภาพแห่งการต่อต้านและปฏิกิริยาตอบโต้อย่างมาก ในช่วงนี้เองที่ศิลปะเริ่มสะท้อนถึงความเจ็บปวดจากความขัดแย้งเหล่านั้น อย่างเช่นงานจิตรกรรมประวัติศาสตร์เชิงอุปมานิทัศน์ (Allegorical) หรือการใช้สัญลักษณ์เปรียบเทียบ ที่สื่อถึงนัยยะทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง และมีความสนใจอย่างรุนแรงในการเปิดเผยข้อเท็จจริงอย่างบ้าคลั่ง ว่าสงครามนั้นสร้างความเจ็บปวดและบาดแผลให้ร่างกายและจิตใจมนุษย์ได้เพียงไร
ดังเช่นในฝรั่งเศส ที่เกิดการเติบโตของนายหน้าค้างานศิลปะและผู้บริโภคศิลปะชนชั้นกลาง ซึ่งทำให้เหล่าบรรดาศิลปินปลดแอกตัวเองจากข้อจำกัดทางความคิดและอุดมการณ์ของเหล่าบรรดาผู้อุปถัมภ์อย่างศาสนจักรและรัฐ จากที่พวกเขาต้องวาดแต่ภาพความยิ่งใหญ่และความเป็นวีรบุรุษของเหล่านักรบและรัฐบุรุษ ศิลปินเหล่านั้นหันมาวาดภาพของมวลชน คนธรรมดาสามัญ หรือแม้กระทั่งวาดภาพของตัวเองแทน
ในขณะที่ศิลปินบางคนใส่ใจในการแก้ปัญหาของสไตล์และเทคนิคในการวาดภาพ ศิลปินบางคนก็ใช้สไตล์และเทคนิคเหล่านั้นในการแสดงออกถึงทัศนคติทางสังคมและการเมืองของพวกเขา
ศิลปินเหล่านั้นใช้เทคนิคหลากหลายในการแสดงออกถึงทัศนคติของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการกระทบกระเทียบ เปรียบเปรย ล้อเลียน เสียดสี ประชดประชัน และการใช้สัญลักษณ์ เพื่อบังคับให้ผู้ชมเผชิญหน้าและสัมผัสกับความเป็นจริงทางสังคมและการเมืองอันไม่พึงประสงค์ ซึ่งโดยปกติพวกเขามักจะหลีกเลี่ยงมันไป
อย่างเช่นภาพวาด Oath of the Horatii (1784) ของจิตรกรชาวฝรั่งเศส ฌาค-หลุย ดาวิด (Jacques-Louis David) ภาพวาดแบบนีโอคลาสสิคที่หยิบเอาเหตุการณ์ในอดีตอย่างตำนานของโรมันโบราณที่เป็นเรื่องราวที่เชิดชูความรักชาติและการเสียสละชีพเพื่อส่วนรวมของชายชาตรี มาใช้ในเชิงอุปมานิทัศน์ เพื่อแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางการเมืองของเขาในเวลานั้น ถึงผลงานชิ้นนี้จะทำให้เขาถูกกดดันและตั้งคำถามจากสถาบันทางศิลปะของฝรั่งเศสอย่างมาก แต่ในเวลาต่อมามันก็ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วจากเหล่าบรรดาผู้สนับสนุนการปฏิวัติฝรั่งเศส
หรือในภาพวาด Liberty Leading the People (1830) ของจิตรกรชาวฝรั่งเศส ยูจีน (หรือ เออแฌน) เดอลาครัว (Eugène Delacroix) ที่วาดขึ้นเพื่อแสดงการเฉลิมฉลองการปฏิวัติฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคม ปี 1830 ด้วยภาพในเชิงอุปมานิทัศน์ของเทพีแห่งเสรีภาพที่อยู่ในรูปลักษณ์ของหญิงสาวชาวบ้านท่าทางห้าวหาญ สวมเสื้อยาวหลุดร่วงจนเห็นหน้าอกหน้าใจ มือหนึ่งชูธงสามสีของกองทัพปฏิวัติ (ที่กลายเป็นธงชาติของฝรั่งเศสมาจนถึงทุกวันนี้) อีกมือถือปืนยาวติดดาบปลายปืน เธอเดินนำหน้าประชาชนหลากชนชั้น ให้ก้าวผ่านซากปรักหักพังและร่างของผู้บาดเจ็บล้มตายไปข้างหน้า ภาพนี้แสดงถึงความพยายามของประชาชนชาวปารีสในการจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยขึ้นมา
ภาพวาดแหวกขนบที่ไม่ยึดติดกับความงามตามอุดมคติที่นำเสนอภาพของนักปฏิวัติหญิงเนื้อตัวมอมแมมแต่งกายหลุดรุ่ยกึ่งเปลือยของเดอลาครัวภาพนี้ สร้างความตื่นตะลึงให้กับคนในยุคนั้นเป็นอย่างมากเมื่อครั้งแรกที่มันถูกจัดแสดงที่ซาลง (Salon) ต่อมารัฐบาลของกษัตริย์หลุยส์-ฟิลิป ซื้อภาพนี้ไป โดยหวังจะแขวนโชว์ในพระราชวังลุกซ็องบูร์ เพื่อย้ำเตือนถึงความเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของพระองค์ แต่มันก็ต้องถูกปลดออกและเก็บให้พ้นจากสายตาของสาธารณชนด้วยนัยยะทางการเมืองอันชัดเจนจนอื้อฉาวของมัน หลังจากการปฏิวัติเดือนมิถุนายน 1832 ภาพวาดนี้ก็กลับคืนสู่มือของเดอลาครัว และต่อมาก็กลายเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์จวบจนถึงปัจจุบัน
ในทางกลับกัน แทนที่จะบรรยายถึงความรุ่งโรจน์และชัยชนะในการสู้รบในสงครามเช่นเดียวกับศิลปินรุ่นก่อนหน้าเขาทำมาหลายต่อหลายศตวรรษ ศิลปินชาวสเปนอย่าง ฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) กลับมุ่งเน้นในการแสดงออกถึงความทารุณโหดร้ายของสงครามในภาพวาด The Third of May 1808 (1814) ที่วาดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่กองทัพฝรั่งเศสของนโปเลียนบุกเข้าโจมตีสเปนในเดือนพฤษภาคม 1808 ในระหว่างสงครามคาบสมุทร (Peninsular War)
โกยาเปลี่ยนขนบในการนำเสนอจุดเด่นของตัวละครในภาพวาดภาพนี้ ด้วยการให้ผู้ชมมองตรงไปยังใบหน้าของเหยื่อที่กำลังตื่นตระหนกและหวาดหวั่นกับความตายที่กำลังคุกคาม แทนที่จะเป็นเหล่าทหารผู้รุกรานที่มองไม่เห็นใบหน้าชัดเจน เขาถ่ายทอดห้วงขณะอันน่าสะเทือนใจ ด้วยแสงเงาที่ตัดกันอย่างเข้มข้นรุนแรง ในจุดที่สว่างไสวที่สุดเป็นภาพของชายหนุ่มที่ยืนอยู่ท่ามกลางฝูงชนผู้หวาดกลัว สายตาจ้องมองไปยังเหล่าศัตรูที่กำลังเล็งปืนหมายเอาชีวิตพวกเขา สองมือชูขึ้นเหนือหัวคล้ายกับยอมจำนน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มีท่าทางราวกับพระเยซูกำลังถูกตรึงกางเขน อีกทั้งบนมือขวาของเขายังปรากฏร่องรอยที่ดูคล้ายกับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ (Stigmata) ดูเหมือนกับว่า โกยาเปรียบภาพการสังหารหมู่ครั้งนี้กับการพลีชีพเพื่อไถ่บาปให้มวลมนุษย์ก็ไม่ปาน
ภาพวาดของโกยาภาพนี้ แหวกขนบของภาพวาดแบบประเพณีทางศาสนาและภาพวาดสงครามตามแบบแผนอย่างสิ้นเชิง มันได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในภาพวาดแห่งยุคสมัยใหม่ภาพแรก และเป็นผลงานศิลปะที่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติในทุกแง่มุมของการวาดภาพเลยก็ว่าได้ มันส่งอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังมากมาย อาทิเช่น ภาพวาด Massacre in Korea (1951) และ Guernica ของปิกัสโซ
นอกจากนั้นมันยังส่งอิทธิพลสู่ภาพวาดชุด The Execution of Emperor Maximilian ของจิตรกรชาวฝรั่งเศส เอดูอาร์ มาเนต์ ที่วาดขึ้นตั้งแต่ปี 1867 ถึง 1869 ภาพวาดจำนวนห้าภาพ ที่แสดงเหตุการณ์ที่จักรพรรดิแม็กซีมีเลียนที่ 1 แห่งเม็กซิโก กำลังถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า ถึงการวางตำแหน่งของผู้สังหารและเหยื่อในภาพนี้จะได้แรงบันดาลใจมาจากองค์ประกอบในภาพวาดของโกยา แต่ภาพวาดชุดนี้ก็มีความแตกต่างกับผลงานของโกยา ที่แบ่งแยกฝ่ายดีและร้ายอย่างชัดเจน กับทั้งท่วมท้นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ภาพวาดของมาเนต์ชุดนี้ดูคลุมเครือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายทหารทางขวาของภาพกำลังตรวจสอบปืนยาวของเขาอย่างใจเย็น และเหล่าฝูงชนที่กำลังเฝ้ามองความรุนแรงจากประหารชีวิตอย่างไม่ยินดียินร้ายจนดูคล้ายกับภาพข่าวที่บันทึกเหตุการณ์อย่างไร้อารมณ์ร่วม
ในขณะที่ศิลปินบางคนใช้ภาพวาดของตัวเองตีแผ่ด้านมืดของสังคม ดังเช่นในภาพวาด The Night (1918-1919) ของ มักซ์ เบ็คมันน์ ที่ทำขึ้นในช่วงการการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐไวมาร์ มันเป็นผลงานที่เป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอย่าง นิว อ็อบเจกทิวิตี ที่เปิดเผยด้านอัปลักษณ์ของสังคมเยอรมันร่วมสมัยในยุคนั้นอย่างจะแจ้ง ไร้การประนีประนอม
ศิลปินบางคนก็ใช้ตัวเองเป็นสื่อในการแสดงออกถึงความเลวร้ายของสงคราม ดังเช่นในภาพวาด Self-Portrait as a Soldier (1915) ซึ่งเป็นภาพเหมือนตัวเองของศิลปินเยอรมัน แอร์นส์ ลุดวิก เคียร์สเนอร์ (Ernst Ludwig Kirchner) ในขณะที่กำลังสติแตกตอนเป็นทหาร จนถูกไล่ออกจากกองทัพ ในภาพ เขาสวมเครื่องแบบกองทหารปืนใหญ่ที่ 75 แขนขวาของเขาที่ขาด (แค่ในภาพนะ ไม่ได้ขาดจริงๆ ) แสดงออกถึงบาดแผลทางจิตและความวิตกกังวล อันเป็นผลกระทบจากสงคราม เคียร์สเนอร์หวาดกลัวว่าอาการป่วยทางจิตจะทำให้เขาไม่อาจวาดภาพได้อีก ซึ่งหลังจากพรรคนาซีตราหน้าผลงานของเขาว่าเป็น ‘ศิลปะเสื่อมทราม’ (degenerate art) และห้ามเขาทำงานศิลปะ เขาก็ฆ่าตัวตายในปี 1938
หรือผลงานของศิลปินชาวเยอรมัน เคเธอ โคลวิตซ์ (Käthe Kollwitz) ที่สำรวจประเด็นของความยากจน ความตาย โหดร้ายทารุณของสงคราม และแสดงการประท้วงต่อต้านความอยุติธรรมในสังคม ดังเช่นในภาพ Woman with a Dead Child (1903) ภาพพิมพ์แม่พิมพ์หิน (Lithography) ที่แสดงออกถึงความรู้สึกโศกเศร้าและสูญเสียได้อย่างลึกซึ้ง
ส่วนในภาพ The Volunteers (1922) ภาพพิมพ์ไม้ (Woodcut) ที่แสดงถึงอุปทานหมู่และความคลั่งชาติที่นำไปสู่สงคราม ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ด้วยภาพของกลุ่มเด็กหนุ่มที่เดินตามยมทูตไปอย่างหน้ามืดตามัว
โคลวิตซ์เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติจากผลงานภาพพิมพ์โลหะ ภาพพิมพ์ไม้ และภาพพิมพ์หิน และยังเป็นที่รู้จักจากผลงานการวาดภาพโปสเตอร์ให้กับฝ่ายซ้ายทางการเมือง และใบปลิวรณรงค์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของเธอด้วย
หรืออย่างผลงานที่แสดงออกถึงมุมมองในการต่อต้านสงครามอย่างโจ่งแจ้งอย่าง Guernica (1937) ของศิลปินชาวสเปน ปาโบล ปิกัสโซ ภาพวาดเชิงสัญลักษณ์ในสไตล์คิวบิสซึมที่แสดงออกถึงความเจ็บปวดและความตายได้อย่างน่าสะเทือนใจ และถ่ายทอดความเลวร้ายน่าสยดสยองของสงครามได้อย่างทรงพลัง
ปิกัสโซได้แรงบันดาลใจจากโศกนาฏกรรมในเกอร์นิกา หมู่บ้านชนบทเล็กๆ ในแคว้นบาสก์ประเทศสเปน ที่ถูกรัฐบาลเผด็จการของจอมพลฟรันซิสโก ฟรังโก อาศัยกองกำลังทหารนาซีและฟาสซิสต์บุกโจมตีและทิ้งระเบิดปราบปรามผู้ต่อต้านจนย่อยยับในสงครามกลางเมือง ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ เด็ก และสตรีล้มตายเป็นจำนวนมาก
ภาพวาดภาพนี้เป็นผลงานชิ้นเอกของปิกัสโซ และเป็นตัวอย่างอันชัดเจนของการต่อต้านสงครามจวบจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังของศิลปินผู้เป็นสามเสาหลักของวงการศิลปะเม็กซิกันอย่าง ดิเอโก ริเวรา, โฆเซ่ โอรอซโก และ เดวิด ซิเกอิรอส (David Siqueiros) ที่ใส่ประเด็นทางสังคมและการเมืองและแนวคิดแบบสังคมนิยมอย่างชัดเจนผ่านบรรดาภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่วาดบนอาคารสาธารณะต่างๆ พวกเขาใช้ศิลปะเป็นเสมือนหนึ่งอาวุธในการปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงแก่น
แง่มุมและประวัติศาสตร์ของศิลปะต่อต้านยังมีอีกมาก โปรดติดตามตอนต่อไป
ข้อมูล
https://nladesignvisual.wordpress.com/2013/04/06/resistance-art-introduction/
https://en.wikipedia.org/wiki/Oath_of_the_Horatii
https://en.wikipedia.org/wiki/Liberty_Leading_the_People
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Third_of_May_1808
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Execution_of_Emperor_Maximilian
http://weimarart.blogspot.com/2010/07/kathe-kollwitz.html
https://prachatai.com/journal/2016/03/64863
https://prachatai.com/journal/2008/07/17365
Tags: art, Resistance Art, Protest Art, Anti-war, Art and Politic