เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีแห่งยูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) เข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (Pope Francis) ในนครรัฐวาติกัน (Vatican) เป็นการส่วนตัว หลังจากมีการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีอิตาลี จอร์เจีย เมโลนี (Georgia Meloni) 

การเข้าพบของเซเลนสกี นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่สงครามปะทุขึ้น แม้ว่าทั้งสองจะเคยพบกันล่าสุดเมื่อปี 2020 ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยจุดประสงค์การพูดคุย คือการขอแรงสนับสนุนการเจรจาสันติภาพจากโป๊ปฟรานซิส หลังจากเคยเสนอความช่วยเหลือยูเครนเพื่อยุติการรุกรานของรัสเซีย 

อีกทั้ง สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเคยตรัสกับนักข่าวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ว่าวาติกันมีส่วนร่วมเป็นเบื้องหลังของ ‘ภารกิจสันติภาพ’ เพื่อยุติความขัดแย้งในยูเครน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม 

“เรามีภารกิจอยู่ในตอนนี้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะ เมื่อเรื่องราวเหล่านี้เป็นสาธารณะได้เมื่อไร ข้าพเจ้าจะเปิดเผย” สังฆราชแห่งวาติกันกล่าว พร้อมระบุว่า เขาต้องการเดินไปทางยังคีฟ รวมถึงมอสโกด้วย โดยหวังว่า การจาริกแสวงบุญของเขาจะช่วยส่งเสริมสันติภาพ ท่ามกลางเสียงประท้วงของรัสเซียต่อการประณามความโหดร้ายในสงครามจากสังฆราชผู้นี้

การพบปะเป็นไปอย่างส่วนตัว และใช้เวลา 40 นาทีในห้องทำงานของสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งใกล้กับหอประชุมแห่งวาติกัน ประธานาธิบดียูเครนแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อโป๊ปฟรานซิส ที่แสดงความห่วงใยต่อโศกนาฏกรรมของชาวคีฟนับล้านชีวิต 

“สำหรับเด็กน้อยชาวยูเครนนับหมื่นคนที่ถูกเนรเทศ เราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อนำพวกเขากลับมายังที่บ้าน” เซเลนสกีกล่าวกับผู้นำแห่งวาติกัน หลังจากนายกรัฐมนตรียูเครน แดนนีส ชมัลฮัล (Denys Shmyhal) ขอให้สมเด็จพระสันตะปาปาช่วยรับเด็กที่ส่งกลับจากรัสเซียไปยังยูเครน 

แต่ถ้อยคำขอดังกล่าวของคีฟกลับไม่ถูกกล่าวถึง ในทางกลับกัน สำนักวาติกันระบุว่า การพบกันของทั้งคู่เป็นเรื่องสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมและการเมืองของยูเครนที่ถูกกระตุ้นโดยสงคราม

“พระสันตะปาปาทรงยืนหยัดอธิษฐานอย่างต่อเนื่อง ทรงเป็นพยานด้วยการวิงวอนต่อสาธารณชนมากมาย รวมถึงพระเจ้าเพื่อสันติภาพอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว” สำนักวาติกันกล่าวถึงการรุกรานของรัสเซียที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022

ผู้นำแห่งคีฟยังทวีตข้อความว่า ขอให้สมเด็จพระสันตะปาปาประณามอาชญากรรมของรัสเซียในยูเครน เนื่องจากไม่มี ‘ความเท่าเทียม’ กันระหว่างเหยื่อกับผู้รุกราน แม้ว่าโป๊ปฟรานซิสต้องรักษาความเป็นกลางตามจารีตของวาติกันก็ตาม 

“ผมยังได้พูดถึงแผนสันติภาพของเรา ซึ่งมันจะเป็นทางออกเดียวที่บรรลุทุกอย่าง” เซเลนสกีกล่าวในแถลงการณ์ 

แผนสันติภาพดังกล่าวหมายถึง ‘แผน 10 ประการ’ ของยูเครน เพื่อยุติปัญหาต่างๆ ได้แก่ การจัดตั้งศาลอาญาพิเศษเพื่อลงโทษรัสเซียในฐานะอาชญากรสงคราม การสร้างสถาปัตยกรรมความมั่นคงให้กับกลุ่มยุโรป-แอตแลนติก การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เสียหายของยูเครน รวมถึงการรับประกันความปลอดภัยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ณ ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia)

“ประมุขแห่งวาติกัน ในฐานะผู้ซึ่งพยายามแก้ไขปัญหาให้กับรัสเซียกับยูเครน จะสามารถเป็นตัวกลางเจรจาความขัดแย้งระหว่างคุณกับปูตินได้หรือไม่?” สถานีโทรทัศน์ของอิตาลีถามประธานาธิบดีแห่งยูเครน

“ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ยูเครนไม่ได้ต้องการตัวกลาง เพราะคุณไม่สามารถต่อรองกับปูตินได้” เขาตอบคำถามและเน้นย้ำว่า สงครามในสนามรบเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงไม่มีแผนจะพูดคุยกับปูติน ผู้ที่ทำให้ความพยายามทั้งหมดไร้ประโยชน์ด้วยคำพูดว่า “คุณกำลังพูดอะไรอยู่เหรอ?”

ขณะเดียวกัน การเยือนอิตาลีของเซเลนสกีเป็นไปด้วยความราบรื่น หลังนายกรัฐมนตรีเมโลนียืนยันว่า จะการันตีความช่วยเหลือทางการเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงการสนับสนุนเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) ต่อคีฟท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน

โดยก่อนหน้าการแถลงข่าว นายกรัฐมนตรีแห่งอิตาลีประณามรัสเซียว่า “ก้าวร้าวอย่างรุนแรงและไม่ยุติธรรม” ต่อยูเครน และให้คำมั่นว่า โรมจะสนับสนุนคีฟภายใต้เงื่อนไข ‘ตราบเท่าที่จำเป็น’ พร้อมทั้งเรียกร้องให้มอสโกถอนกำลังจากยูเครนทันที

“ถ้อยแถลงที่เราพูดกันมันชัดเจน อนาคตของยูเครน คืออนาคตของสันติภาพและเสรีภาพ และนี่คือสิ่งเดียวกับอนาคตแห่งยุโรป ซึ่งไม่มีหนทางอื่นที่เป็นไปได้

“คุณไม่สามารถบรรลุสันติภาพด้วยการยอมจำนน นี่จะเป็นตัวอย่างร้ายแรงมากสำหรับทุกชาติในโลก

“เราเดิมพันด้วยชัยชนะของยูเครน” นายกรัฐมนตรีแห่งโรมกล่าว โดยปรากฏกายข้างเซเลนสกี ซึ่งเธอเรียกว่า ‘เพื่อน’ ในการแถลงข่าวที่พระราชวังชิกิ ที่ตั้งของรัฐบาลอิตาลี 

เซเลนสกีและเมโลนี (ที่มา: AFP)

รวมถึงประธานาธิบดี แซร์จิโอ มัตตาเรลลา (Sergio Mattarella) แห่งอิตาลี ก็สนับสนุนยูเครนเป็นอย่างดี โดยระบุว่า พร้อมอยู่เคียงข้างยูเครนในขณะต้อนรับ และตอกย้ำระหว่างการพบปะว่า ไม่เพียงแต่โรมจะสนับสนุนคีฟทั้งด้านการเงินและทหาร แต่ยังรวมไปถึงการบูรณะซ่อมแซมผลกระทบจากสงคราม และความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม

ส่วนเซเลนสกีเรียกการเยือนครั้งนี้ว่า “ชัยชนะที่กำลังใกล้เข้ามา” และทวีตข้อความขอบคุณอิตาลีซ้ำอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทสำคัญของโรม นับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น หลังบริจาคเงินประมาณ 1,000 ล้านยูโร (ประมาณ 37,090,900,000 บาท) เพื่อสนับสนุนทางการทหารและทางการเงิน รวมถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับยูเครน

สำหรับการเคลื่อนไหวล่าสุด เซเลนสกีเดินทางไปเยือนเยอรมนีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้น โดยพบปะกับผู้นำเบอร์ลิน นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ช็อลทซ์ (Olaf Scholz) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ทางรัฐบาลเยอรมนีเปิดเผยว่า กำลังให้ความช่วยเหลือทางทหารด้านการเงินเพิ่มเติมแก่ยูเครนมูลค่ามากกว่า 2.7 พันล้านยูโร (ประมาณ 91,049,400,000 บาท) รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ รถถัง ระบบต่อต้านอากาศยาน และกระสุน

บอริส พิสโทริอุส (Boris Pistorius) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมแห่งเบอร์ลินกล่าวว่า “เยอรมนีให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง และจะให้ความช่วยเหลือมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตราบเท่าที่เยอรมนียังสามารถให้ความช่วยเหลือได้อยู่”

อ้างอิง

https://www.politico.eu/article/zelenskyy-in-rome-to-meet-italian-officials-pope-francis/

https://time.com/6279660/zelenskyy-meets-pope-francis-vatican/

https://apnews.com/article/zelenskyy-italy-visit-pope-francis-meloni-d24d92183d1db65b87dec14edb8dc1a5

https://www.nytimes.com/2023/05/13/world/europe/zelensky-pope-francis-ukraine-war.html

https://www.nytimes.com/2023/05/14/world/europe/ukraine-zelensky-berlin.html

https://apnews.com/article/russia-ukraine-putin-pope-francis-europe-religion-5c51f98f221d129327a215128d49fc7a

Tags: , , , , , , , ,