เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีแห่งยูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) เข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (Pope Francis) ในนครรัฐวาติกัน (Vatican) เป็นการส่วนตัว หลังจากมีการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีอิตาลี จอร์เจีย เมโลนี (Georgia Meloni)
การเข้าพบของเซเลนสกี นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่สงครามปะทุขึ้น แม้ว่าทั้งสองจะเคยพบกันล่าสุดเมื่อปี 2020 ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยจุดประสงค์การพูดคุย คือการขอแรงสนับสนุนการเจรจาสันติภาพจากโป๊ปฟรานซิส หลังจากเคยเสนอความช่วยเหลือยูเครนเพื่อยุติการรุกรานของรัสเซีย
อีกทั้ง สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเคยตรัสกับนักข่าวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ว่าวาติกันมีส่วนร่วมเป็นเบื้องหลังของ ‘ภารกิจสันติภาพ’ เพื่อยุติความขัดแย้งในยูเครน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
“เรามีภารกิจอยู่ในตอนนี้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะ เมื่อเรื่องราวเหล่านี้เป็นสาธารณะได้เมื่อไร ข้าพเจ้าจะเปิดเผย” สังฆราชแห่งวาติกันกล่าว พร้อมระบุว่า เขาต้องการเดินไปทางยังคีฟ รวมถึงมอสโกด้วย โดยหวังว่า การจาริกแสวงบุญของเขาจะช่วยส่งเสริมสันติภาพ ท่ามกลางเสียงประท้วงของรัสเซียต่อการประณามความโหดร้ายในสงครามจากสังฆราชผู้นี้
การพบปะเป็นไปอย่างส่วนตัว และใช้เวลา 40 นาทีในห้องทำงานของสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งใกล้กับหอประชุมแห่งวาติกัน ประธานาธิบดียูเครนแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อโป๊ปฟรานซิส ที่แสดงความห่วงใยต่อโศกนาฏกรรมของชาวคีฟนับล้านชีวิต
“สำหรับเด็กน้อยชาวยูเครนนับหมื่นคนที่ถูกเนรเทศ เราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อนำพวกเขากลับมายังที่บ้าน” เซเลนสกีกล่าวกับผู้นำแห่งวาติกัน หลังจากนายกรัฐมนตรียูเครน แดนนีส ชมัลฮัล (Denys Shmyhal) ขอให้สมเด็จพระสันตะปาปาช่วยรับเด็กที่ส่งกลับจากรัสเซียไปยังยูเครน
แต่ถ้อยคำขอดังกล่าวของคีฟกลับไม่ถูกกล่าวถึง ในทางกลับกัน สำนักวาติกันระบุว่า การพบกันของทั้งคู่เป็นเรื่องสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมและการเมืองของยูเครนที่ถูกกระตุ้นโดยสงคราม
“พระสันตะปาปาทรงยืนหยัดอธิษฐานอย่างต่อเนื่อง ทรงเป็นพยานด้วยการวิงวอนต่อสาธารณชนมากมาย รวมถึงพระเจ้าเพื่อสันติภาพอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว” สำนักวาติกันกล่าวถึงการรุกรานของรัสเซียที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022
ผู้นำแห่งคีฟยังทวีตข้อความว่า ขอให้สมเด็จพระสันตะปาปาประณามอาชญากรรมของรัสเซียในยูเครน เนื่องจากไม่มี ‘ความเท่าเทียม’ กันระหว่างเหยื่อกับผู้รุกราน แม้ว่าโป๊ปฟรานซิสต้องรักษาความเป็นกลางตามจารีตของวาติกันก็ตาม
“ผมยังได้พูดถึงแผนสันติภาพของเรา ซึ่งมันจะเป็นทางออกเดียวที่บรรลุทุกอย่าง” เซเลนสกีกล่าวในแถลงการณ์
แผนสันติภาพดังกล่าวหมายถึง ‘แผน 10 ประการ’ ของยูเครน เพื่อยุติปัญหาต่างๆ ได้แก่ การจัดตั้งศาลอาญาพิเศษเพื่อลงโทษรัสเซียในฐานะอาชญากรสงคราม การสร้างสถาปัตยกรรมความมั่นคงให้กับกลุ่มยุโรป-แอตแลนติก การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เสียหายของยูเครน รวมถึงการรับประกันความปลอดภัยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ณ ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia)
“ประมุขแห่งวาติกัน ในฐานะผู้ซึ่งพยายามแก้ไขปัญหาให้กับรัสเซียกับยูเครน จะสามารถเป็นตัวกลางเจรจาความขัดแย้งระหว่างคุณกับปูตินได้หรือไม่?” สถานีโทรทัศน์ของอิตาลีถามประธานาธิบดีแห่งยูเครน
“ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ยูเครนไม่ได้ต้องการตัวกลาง เพราะคุณไม่สามารถต่อรองกับปูตินได้” เขาตอบคำถามและเน้นย้ำว่า สงครามในสนามรบเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงไม่มีแผนจะพูดคุยกับปูติน ผู้ที่ทำให้ความพยายามทั้งหมดไร้ประโยชน์ด้วยคำพูดว่า “คุณกำลังพูดอะไรอยู่เหรอ?”
ขณะเดียวกัน การเยือนอิตาลีของเซเลนสกีเป็นไปด้วยความราบรื่น หลังนายกรัฐมนตรีเมโลนียืนยันว่า จะการันตีความช่วยเหลือทางการเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงการสนับสนุนเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) ต่อคีฟท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน
โดยก่อนหน้าการแถลงข่าว นายกรัฐมนตรีแห่งอิตาลีประณามรัสเซียว่า “ก้าวร้าวอย่างรุนแรงและไม่ยุติธรรม” ต่อยูเครน และให้คำมั่นว่า โรมจะสนับสนุนคีฟภายใต้เงื่อนไข ‘ตราบเท่าที่จำเป็น’ พร้อมทั้งเรียกร้องให้มอสโกถอนกำลังจากยูเครนทันที
“ถ้อยแถลงที่เราพูดกันมันชัดเจน อนาคตของยูเครน คืออนาคตของสันติภาพและเสรีภาพ และนี่คือสิ่งเดียวกับอนาคตแห่งยุโรป ซึ่งไม่มีหนทางอื่นที่เป็นไปได้
“คุณไม่สามารถบรรลุสันติภาพด้วยการยอมจำนน นี่จะเป็นตัวอย่างร้ายแรงมากสำหรับทุกชาติในโลก
“เราเดิมพันด้วยชัยชนะของยูเครน” นายกรัฐมนตรีแห่งโรมกล่าว โดยปรากฏกายข้างเซเลนสกี ซึ่งเธอเรียกว่า ‘เพื่อน’ ในการแถลงข่าวที่พระราชวังชิกิ ที่ตั้งของรัฐบาลอิตาลี
รวมถึงประธานาธิบดี แซร์จิโอ มัตตาเรลลา (Sergio Mattarella) แห่งอิตาลี ก็สนับสนุนยูเครนเป็นอย่างดี โดยระบุว่า พร้อมอยู่เคียงข้างยูเครนในขณะต้อนรับ และตอกย้ำระหว่างการพบปะว่า ไม่เพียงแต่โรมจะสนับสนุนคีฟทั้งด้านการเงินและทหาร แต่ยังรวมไปถึงการบูรณะซ่อมแซมผลกระทบจากสงคราม และความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม
ส่วนเซเลนสกีเรียกการเยือนครั้งนี้ว่า “ชัยชนะที่กำลังใกล้เข้ามา” และทวีตข้อความขอบคุณอิตาลีซ้ำอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทสำคัญของโรม นับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น หลังบริจาคเงินประมาณ 1,000 ล้านยูโร (ประมาณ 37,090,900,000 บาท) เพื่อสนับสนุนทางการทหารและทางการเงิน รวมถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับยูเครน
สำหรับการเคลื่อนไหวล่าสุด เซเลนสกีเดินทางไปเยือนเยอรมนีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้น โดยพบปะกับผู้นำเบอร์ลิน นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ช็อลทซ์ (Olaf Scholz) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ทางรัฐบาลเยอรมนีเปิดเผยว่า กำลังให้ความช่วยเหลือทางทหารด้านการเงินเพิ่มเติมแก่ยูเครนมูลค่ามากกว่า 2.7 พันล้านยูโร (ประมาณ 91,049,400,000 บาท) รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ รถถัง ระบบต่อต้านอากาศยาน และกระสุน
บอริส พิสโทริอุส (Boris Pistorius) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมแห่งเบอร์ลินกล่าวว่า “เยอรมนีให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง และจะให้ความช่วยเหลือมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตราบเท่าที่เยอรมนียังสามารถให้ความช่วยเหลือได้อยู่”
อ้างอิง
https://www.politico.eu/article/zelenskyy-in-rome-to-meet-italian-officials-pope-francis/
https://time.com/6279660/zelenskyy-meets-pope-francis-vatican/
https://www.nytimes.com/2023/05/13/world/europe/zelensky-pope-francis-ukraine-war.html
https://www.nytimes.com/2023/05/14/world/europe/ukraine-zelensky-berlin.html
Tags: ยูเครน, NATO, โป๊ปฟรานซิส, นาโต้, เซเลนสกี, สงครามรัสเซีย-ยูเครน, เยอรมนี, รัสเซีย, อิตาลี