เมื่อวานนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2024) สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia) รายงานว่า คนรุ่นใหม่ชาวเมียนมาเตรียมวางแผนออกนอกประเทศ หลัง มิน อ่อง หลาย (Min Aung Hlaing) ผู้นำเผด็จการกลับมาใช้ ‘กฎหมายเกณฑ์ทหาร’ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยคาดว่า ไทยจะเป็นจุดหมายสำคัญของกลุ่มผู้ลี้ภัย
ก่อนหน้านี้ พลเอก ซอ มิน ตุน (Zaw Min Tun) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสารสนเทศเมียนมา ระบุผ่านบีบีซีเมียนมา (BBC Burmese) ว่า กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2024 โดยบุคคลใดที่อายุ 18 ปีขึ้นไปประมาณ 5,000 คน ต้องถูกเกณฑ์ทหารเพื่อทำหน้าที่ ‘ปกป้องประเทศ’
เบื้องต้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสารสนเทศเผยว่า ชาวเมียนมา 5 หมื่นคนอาจต้องเข้ารับใช้ชาติ ท่ามกลางจำนวนทหารที่สูญเสียไปจากการทำสงครามระหว่างฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่หากฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษจำคุก 3-5 ปี
เรดิโอฟรีเอเชียเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวในเมียนมาว่า คนหนุ่มสาวจำนวนมากจากย่างกุ้ง เตรียมเดินทางมุ่งตรงมายังประเทศไทย ขณะที่เยาวชน 50 คนต่อแถวยาวหน้าสถานทูตไทยในเมียนมาตั้งแต่เวลา 05.30 น. ตอนเช้าตรู่ เพื่อยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศ
อย่างไรก็ตาม สถานทูตไทยในเมียนมาประกาศเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า สามารถรองรับการขอวีซ่าได้แค่ 400 คนต่อวันเท่านั้น
แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวตนเพื่อความปลอดภัยยังระบุต่อว่า บทสนทนาในเมียนมาเต็มไปด้วยความเคร่งเครียดในเรื่องการถูกบังคับเกณฑ์ทหาร คนรุ่นใหม่จำนวนมากที่นั่งบนรถโดยสารต่างคุยกันถึงหนทางเอาตัวรอดจากเงื้อมมือกองทัพ บ้างแสดงความคิดเห็นว่า อาจ ‘บวชเรียน’ หากออกนอกประเทศได้
เช่นเดียวกับสถานทูตไทยในเมียนมา มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งหนึ่งในเชียงใหม่ประกาศว่า ทางคณะไม่สามารถรับผู้สมัครจากเมียนมาได้อีกต่อไป เนื่องจากมีผู้สมัครเข้ามาอย่างล้นหลาม
“พวกเขากำลังเตรียมออกนอกประเทศเพราะไม่มีงานให้ทำ และตอนนี้การบังคับใช้กฎหมายกำลังทำให้พวกเขาหมดหนทาง” แหล่งข่าวในเมียนมาระบุกับเรดิโอฟรีเอเชีย เขาเล่าว่า ในอดีตตนพยายามหางานในญี่ปุ่น แต่ตอนนี้กำลังมองหนทางใหม่ในประเทศไทย ทว่าทุกอย่างไม่ได้ง่ายเช่นนั้น เพราะดูเหมือนว่า รัฐบาลทหารเมียนมากำลังปิดโอกาสการทำงานในต่างประเทศ
ขณะที่ ไซ จี ซิน โซ (Sai Kyi Zin Soe) นักวิจารณ์การเมือง แสดงความคิดเห็นว่า การที่กองทัพมีเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ จะยิ่งทำลายเศรษฐกิจและเกิดความขุ่นเคืองกว่าเดิม โดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องปกติที่คนรุ่นใหม่จะหลีกเลี่ยงการถูกบังคับให้เกณฑ์ทหาร เพราะคนกลุ่มนี้มีการศึกษา ได้เรียนรู้มากมายหลายอย่าง และถือเป็นการเดินเกมที่แย่มาก
ด้าน อู ทู ชิต (U Htoo Chit) กรรมการบริหารมูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนาในไทย ให้ความเห็นกับสำนักข่าวอิรวดี (Irrawaddy) ว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะกระทบต่อทรัพยากรมนุษย์มากขึ้น เพราะในปัจจุบันก็แทบไม่สามารถหาแรงงานได้อีกแล้ว
นอกจากนี้ เขายังเสริมถึงสถานการณ์ผู้อพยพในประเทศไทย โดยระบุว่า แรงงานเมียนมาผิดกฎหมายอาจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการ ‘ละเมิดสิทธิมนุษยชน’ แรงงานเมียนมาที่ทวีความรุนแรงตามไปด้วย
ปัจจุบัน บรรยากาศในเมียนมาของคนหนุ่มสาวเต็มไปด้วยความโกรธเคือง โดยเฉพาะผู้คนในเมืองยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ ย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ บ้างแสดงความคิดเห็นกับสำนักข่าวอิรวดีว่า จะไม่ยอมขายวิญญาณให้กับกองทัพที่ย่ำยีพวกเขามาเป็นเวลาเนิ่นนาน
หรือแม้แต่ผู้ปกครองของเด็กหนุ่มสาวเหล่านี้ก็ยังตกอยู่ในสภาวะหวาดกลัวจนนอนไม่หลับ หลังมีรายงานว่า กองทัพเมียนมากระจายกำลังควบคุมตัวชายหนุ่มทั่วประเทศ ขณะที่บางส่วนพยายามลิสต์รายชื่อวัยรุ่นทั้งชายและหญิง เพื่อเตรียมเกณฑ์ทหารในอีกไม่ช้า
อ้างอิง
https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmar-junta-steps-up-forced-conscription.html
https://www.rfa.org/english/news/myanmar/military-conscription-02152024171520.html
https://www.irrawaddy.com/news/burma/military-conscription-sparks-furious-backlash-in-myanmar.html
Tags: ทหาร, ไทย-เมียนมา, พม่า, อาเซียน, ไทย, คนรุ่นใหม่, เมียนมา, ประเทศไทย, มิน อ่อง หล่าย, การเมืองเมียนมา, ผู้ลี้ภัย, กองทัพเมียนมา, ผู้อพยพ, ชายแดนไทย