“แรงงานข้ามชาติก็มีสิทธิชุมนุม” สหภาพฯ จัดกิจกรรมวันแรงงานแม้มีความเสี่ยง ย้ำทุกคนมีสิทธิในการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง

เมื่อวานนี้ (1 พฤษภาคม 2568) สหภาพคนทำงานจัดงานวันกรรมกรสากล โดยมีกลุ่มไรเดอร์ แรงงานยานภัณฑ์ แม่บ้านกองสลาก Sex Worker และกลุ่มแรงงานร่วมเดินขบวนตั้งแต่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ขณะที่กลุ่มตัวแทนแรงงานข้ามชาติออกเรียกร้องสิทธิและแสดงความกังวลจากสถานการณ์ปัจจุบัน

ยามิน (นามสมมติ) หนึ่งในแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยมาแล้วกว่า 30 ปี ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า สาเหตุที่เธอตัดสินใจมาร่วมงานวันแรงงานสากล เพราะต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยกลับไปใช้การต่ออายุใบอนุญาตทำงานแบบเดิม หลัง Pre MOU 2568 จากมติคณะรัฐมนตรี 24 กันยายน 2567 ที่ให้แรงงานกัมพูชาและเมียนมาขึ้นทะเบียนผ่านสถานทูต โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง จากเดิมที่เป็นการลงทะเบียนฝ่ายเดียวของรัฐบาลไทย ซึ่งสร้างความกังวลว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลทหารเมียนมา เช่นการต้องจ่ายเงินให้ทางการเมียนมา ขณะที่กองทัพสามารถนำข้อมูลผู้ลงทะเบียนไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นได้

“เราไม่ยอมให้เงินรัฐบาลทหารพม่าเพราะพวกเขาเป็นคนไม่ดี แต่เรายินดีจ่ายเงินให้รัฐบาลไทย” ยามินทิ้งท้ายว่า เธอกังวลกับกระแสต่อต้านแรงงานข้ามชาติที่รุนแรง และอยากให้คนต่างชาติกับคนไทยทำงานร่วมกัน ดูแลกันและกันอย่างพี่น้อง

ขณะที่ วีระ แสงทอง แกนนำกลุ่มแรงงานข้ามชาติเมียนมา Bright Future แสดงความกังวลกับสถานการณ์ปัจจุบัน หลังมีคนบางกลุ่มอ้างว่า แรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิในการชุมนุมภายในประเทศไทย ซึ่งมีความพยายามผลักให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติกลายเป็นพลเมืองชั้นสองที่ไม่มีสิทธิในการแสดงออก

“คนทุกคนมีสิทธิชุมนุม” วีระกล่าว แต่ก็ย้ำว่า การเชิญชวนแรงงานข้ามชาติออกมาร่วมกิจกรรมชุมนุมเรียกร้องสิทธิ ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกคุกคาม

อย่างไรก็ตาม ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน ยืนยันว่า วันแรงงานสากลเป็นประเพณีทั่วโลก เพราะเช่นนั้นการที่มีแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติออกร่วมกิจกรรมด้วยกัน จึงเป็นดังภาพสะท้อนว่า ไทยมีแรงงานหลากหลายและเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงออก ขณะที่ยังเป็นการป่าวประกาศว่า ประเทศของเราไม่มีการเลือกปฏิบัติกับคนข้ามชาติ

“มันมีข้อห้ามอะไรที่บอกว่าแรงงานข้ามชาติห้ามชุมนุม กฎหมายบ้านเราไม่ได้ยกเว้น คนที่มาทำงานในประเทศไทยได้รับความคุ้มครองเท่ากับคนงานไทย เป็นสิทธิเสรีภาพของทุกคน”

ศักดินากล่าว โดยตอบคำถามกรณีที่แรงงานข้ามชาติแสดงออกกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่อต้าน มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้นำเผด็จการเมียนมาว่า การเมืองกับมิน อ่อง หล่ายแยกออกจากกันไม่ได้ แรงงานคือคนหนึ่งคน ไม่มีอะไรในชีวิตนี้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และการเรียกร้องประชาธิปไตยควรเป็นเรื่องปกติที่ได้รับการยอมรับ

นักวิชาการอิสระยังย้ำว่า ไม่อยากให้สังคมไทยกังวลเกินเหตุ พร้อมยกตัวอย่างว่า ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเกิดเหตุรัฐประหาร ก็เป็นเรื่องปกติที่คนไทยในต่างแดนจะออกมาเคลื่อนไหวแสดงออกต่อต้านเผด็จการ และสังคมไทยควรมองเรื่องนี้ให้กลายเป็นเรื่องปกติ

ขณะเดียวกันศักดินายังทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานจากการที่สังคมเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ และการมีอยู่ของแรงงานข้ามชาติช่วยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยที่คนไทยก็ควรเปิดใจรับฟังปัญหาของพวกเขาเหล่านี้

ด้าน เข็มหมุด สมาชิกสหภาพแรงงาน ทีมผู้จัดงาน กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของไทยให้เจริญเติบโต โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในประเทศก็มาจากแรงงานข้ามชาติ พร้อมกับทิ้งท้ายว่า แรงงานเหล่านี้คือกลุ่มเปราะบาง มักถูกกดขี่จากนายจ้างและไร้อำนาจต่อรอง ดังนั้นในการขับเคลื่อนประเด็นแรงงาน สหภาพคนทำงานมองว่า แรงงานทุกคนต้องเข้มแข็งไปพร้อมกัน

Tags: , ,