วันนี้ (25 มิถุนายน 2024) สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งเผยว่า สหราชอาณาจักรปล่อยตัว จูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ (WikiLeaks) กลับสู่ประเทศออสเตรเลีย หลังจากตกลงรับสารภาพความผิดตามกฎหมายจารกรรมข้อมูลของสหรัฐฯ ถือเป็นการสิ้นสุดมหากาพย์คดีความที่โลกจับตามองตลอด 14 ปีที่ผ่านมา

ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) อัสซานจ์ยอมรับผิดในฐานสมรู้ร่วมคิดจากการเปิดเผยเอกสารของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ โดยเขามีกำหนดการณ์ขึ้นศาลในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2024 เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ที่เกาะไซปัน (Saipan) หมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งอยู่ในความดูแลของสหรัฐฯ ด้วยโทษจำคุก 62 เดือน หรือ 5 ปี

ทั้งนี้ เอกสารจากศาลประจำเขตหมู่เกาะนอร์ทเทิร์นมาเรียนา (Northern Mariana Island) ระบุว่า สาเหตุการส่งตัวอัสซานจ์ไปยังเกาะไซปัน เป็นเพราะว่าใกล้กับออสเตรเลีย ประเทศบ้านเกิดของเขา 

นอกจากนี้ ข้อมูลจากเดอะการ์เดียน (The Guardian) เผยว่า อัสซานจ์จะไม่ได้รับโทษอีกต่อไป เพราะศาลพิจารณาว่า การจำคุกในเรือนจำเบลมาร์ช (Belmarsh) เป็นเวลา 1,901 วัน ถือเป็นบทลงโทษที่สมเหตุสมผลแล้ว โดยที่อัสซานจ์จะได้เดินทางกลับออสเตรเลีย หลังจากการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น

ขณะเดียวกัน แอ็กเคานต์วิกิลีกส์ใน X โพสต์คลิปวิดีโออัสซานจ์อยู่ในชุดสีฟ้าและกางเกงยีนส์ ซึ่งกำลังเซ็นเอกสาร ก่อนจะขึ้นเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวจากบริษัทวิสตาเจ็ท (VistaJet)

“นี่เป็นผลมาจากการเรียกร้องจากแคมเปญทั่วโลก ตั้งแต่ระดับรากหญ้า นักรณรงค์เพื่อเสรีภาพสื่อ นักการเมือง และผู้นำทางการเมืองจากทุกมุมโลก จนถึงองค์การสหประชาชาติ” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของวิกิลีกส์

เบื้องต้นยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า อัสซานจ์จะเดินทางไปไหน โดยรอยเตอร์ทำการตรวจสอบ FlightRadar24 แอปพลิเคชันตรวจสอบเที่ยวบิน ผ่านการตรวจจับเครื่องบินของวิสตาเจ็ท และพบว่า เครื่องบินของอัสซานจ์เดินทางจากท่าอากาศยานลอนดอนสแตนสเต็ด (Stansted) ในช่วงเที่ยงของวันจันทร์ในประเทศอังกฤษ และคาดว่าจะลงมาเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศไทย 

ทว่าข้อมูลนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ โดยโฆษกของอัสซานจ์ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล ขณะที่วิสตาเจ็ทไม่ได้ตอบคำถามจากสื่อมวลชน 

ย้อนรอยชีวิตผาดโผนของอัสซานจ์: ชายผู้สั่นสะเทือนวงการการเมืองด้วย ‘การเปิดโปง’ 

ปัจจุบัน อัสซานจ์มีอายุ 52 ปี แต่หากย้อนกลับไปในอดีต เขาเป็นที่รู้จักในฐานะนักคอมพิวเตอร์หัวกะทิชาวออสเตรเลีย ก่อนจะผันตัวมาก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ในปี 2006 โดยมีจุดเด่นโด่งดังคือ การเผยแพร่และเปิดโปงข้อมูลลับในโลกออนไลน์ที่ได้รับเบาะแสจากผู้หวังดี ไม่ว่าจะเป็นวงการการเมือง การทุจริต สายลับ หรือการเซ็นเซอร์ข้อมูลของรัฐ จนขยายตัวเป็นกลุ่มเครือข่ายข้ามชาติในเวลาต่อมา

ทว่าเรื่องที่ทำให้อัสซานจ์กลายเป็นอาชญากรคือ การเข้าไปพัวพันกับข้อมูลของสหรัฐฯ โดยมี เชลซี แมนนิง (Chelsea Manning) เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข่าวกรองชาวอเมริกัน คอยเป็นหูเป็นตา และอัปโหลดข้อมูลหรือเอกสารจำนวนมากลงวิกิลีกส์

ความโด่งดังของวิกิลีกส์ถูกจับตามอง เมื่อมีการปล่อยคลิปวิดีโอลับของกองทัพสหรัฐฯ ที่กราดยิงชาวอิรัก 12 คนจากเฮลิคอปเตอร์ในปี 2007 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นามีร์ นัวร์ เอลดีน (Namir Noor Eldeen) ช่างภาพรอยเตอร์วัย 22 ปี ยังไม่รวมถึงการปล่อยเอกสารลับในสงครามอัฟกานิสถาน เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการคุมขังนักโทษในอ่าวกวนตานาโม (Guantánamo) นับ 100 ฉบับ รวมถึงทำหน้าที่เปิดโปงความฉาวโฉ่ร่วมกับสำนักข่าวกระแสหลักมากมาย

ขณะเดียวกัน อัสซานจ์และวิกิลีกส์ยังได้เปิดโทรเลขทางการทูตนับ 2.5 แสนฉบับ ซึ่งรวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับบุคคลชั้นนำในการเมืองไทย อาทิ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี, พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษในเวลานั้น สนทนากับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในห้วงเวลาระหว่างปี 2007-2009 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังมีวิกฤตการเมือง

แม้หลายฝ่ายจะมองว่า การกระทำของอัสซานจ์และวิกิลีกส์ เป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพสื่อ โดยมีจุดประสงค์เปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อ ทว่าสหรัฐฯ กลับมองว่า นี่คือภัยความมั่นคงแห่งชาติ และเป็นอันตรายต่อสายลับชาวอเมริกันที่แฝงตัวในทั่วโลก

ท้ายที่สุดในปี 2010 แมนนิ่งถูกกองทัพสหรัฐฯ จับกุมภายใต้เงื่อนไขเข้มงวดเพื่อป้องกันเธอจากการปลิดชีพ ท่ามกลางการตั้งข้อสงสัยจากสังคมว่า เธอถูกทรมานจากทหารจนเกิดความผิดปกติทางจิต

ต่อมา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เริ่มสอบสวนอัสซานจ์ ขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดี บารัก โอบามา (Barack Obama) พยายามตั้งข้อหาอาชญากรรมให้กับเจ้าของวิกิลีกส์ ซึ่งประจวบเหมาะกับที่สวีเดนออกหมายจับในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศในปี 2010

แต่ปรากฏว่า อัสซานจ์ตัดสินใจลี้ภัยในสถานทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรในเวลา 7 ปี ภายใต้เหตุผลว่า เขาถูกประหัตประหารทางการเมือง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จนกระทั่งในปี 2019 เอกวาดอร์เพิกถอนสถานะผู้ลี้ภัยของอัสซานจ์ หลังสวีเดนยุติการสอบสวนคดีดังกล่าว ทำให้ทางการอังกฤษสามารถเข้าไปจับกุมเขาถึงสถานทูตเอกวาดอร์

แม้จะมีความพยายามจากสหรัฐฯ ในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ทว่าในปี 2021 ผู้พิพากษาอังกฤษปฏิเสธคำร้องดังกล่าว โดยระบุว่า เขามีแนวโน้มที่จะปลิดชีพตนเองสูง หากถูกคุมขังในคุกสหรัฐฯ ก่อนจะอยู่ในเรือนจำเบลมาร์ชจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

https://www.nytimes.com/2024/06/24/us/julian-assange-wikileaks-timeline.html

https://www.nytimes.com/2024/06/24/us/politics/julian-assange-plea-deal.html

https://www.nytimes.com/2010/04/06/world/middleeast/06baghdad.html

https://www.theguardian.com/media/article/2024/jun/25/julian-assange-plea-deal-with-us-free-to-return-australia

https://www.reuters.com/world/us/wikileaks-assange-expected-plead-guilty-us-espionage-charge-document-says-2024-06-24/

https://www.reuters.com/world/what-is-wikileaks-why-did-it-get-julian-assange-so-much-trouble-2024-06-25/

Tags: , , , , , ,