‘เงินบำนาญ’ เป็นคำที่อาจคุ้นเคยกันดีในแง่ของการเป็นค่าตอบแทนหลังเกษียณอายุของเหล่าคนทำอาชีพรับราชการ อย่างไรก็ตาม อันที่จริงการจ่ายบำนาญในประเทศไทยมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ, กองทุนบำนาญภายใต้ประกันสังคม, การจ่ายบำเหน็จให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือกองทุนการออมแห่งชาติ โดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมายหลัก คือเพื่อเป็น ‘หลักประกันรายได้’ ให้กับ ‘ผู้สูงอายุ’ 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุดังกล่าว ‘ไม่เพียงพอ’ ต่อการใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคง ซ้ำถูกผลักให้กลายเป็นการต้องรับผิดชอบตัวเอง ซึ่งเห็นชัดเจนมากขึ้นท่ามกลางความเหลื่อมล้ำ เช่น คนที่ประกอบอาชีพต่างกันก็จะได้รับสวัสดิการเหล่านี้ในอัตราที่แตกต่างกันไป หรือกระทั่งการช่วยเหลือจากภาครัฐก็เป็นไปในทิศทางราวกับเป็น ‘การสงเคราะห์’ มากกว่าสวัสดิการถ้วนหน้า

ยกตัวอย่างกรณี ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ ที่มีการปรับเกณฑ์ไปเมื่อราวกลางเดือนสิงหาคมปีนี้ (2566) ที่กระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนเกณฑ์ผู้รับจาก ‘ทุกคนที่ไม่มีสวัสดิการจากหน่วยงานรัฐ’ เป็น ‘ผู้มีรายได้ไม่เพียงพอ’ และได้รับเงินขั้นต่ำเพียงแค่ 600 บาทต่อเดือน ซึ่งการเปลี่ยนเช่นนี้อาจกล่าวได้อย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นการต้อง ‘พิสูจน์ความจน’ แทนที่จะเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าที่ผู้สูงอายุทุกคนควรได้รับ ไม่ว่าจะเป็นใครและมีฐานะอย่างไร

ทั้งหมดนี้จึงเกิดเป็นความพยายามของภาคประชาชนในการผลักดันยื่นเสนอกฎหมาย ‘พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ’ เพื่อเปลี่ยนความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาเหล่านี้

ที่จริงแล้ว ความพยายามในการผลักดันให้เกิด ‘บำนาญแห่งชาติ’ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพื่อให้ผู้สูงวัยหลุดพ้นจากสังเวียนการพิสูจน์ความจน และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงหลังเกษียณมีมานานแล้ว ผ่านการเสนอกฎหมายหลายฉบับ ทั้งจากภาคประชาชนและพรรคการเมือง เช่น พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคไทรักธรรม

ในส่วนของภาคประชาชนขณะนั้นก็มีการรวบรวมรายชื่อจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 1.4 หมื่นรายชื่อ เป็น ‘ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ’ เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 แต่ก็ถูกปัดตกในช่วงรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยเหตุผลว่า เป็นกฎหมายการเงิน ซึ่งต้องให้นายกรัฐมนตรีให้คำรับรอง 

ในวันนี้ ภาคประชาชนยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ อีกครั้ง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. เปลี่ยนแนวคิดของการสร้างหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ จาก ‘การสงเคราะห์’ ให้เป็นแบบ ‘ถ้วนหน้า’ อย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า

2. จ่ายบำนาญให้ทุกคนเมื่อมีอายุครบ 60 ปี โดยไม่มีเงื่อนไข

3. 3,000 บาทถ้วนหน้า และจะมีการกำหนดให้พิจารณาเกณฑ์ทุก 3 ปี

4. จัดการระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าในรูปแบบ ‘กองทุน’ ที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นมืออาชีพ ทั้งการดูแลเงินในกองทุน และการหารายได้เพิ่มเพื่อความยั่งยืน

5. มีการกำหนดแหล่งที่มาของรายได้กองทุนผ่านการจัดเก็บภาษี ทั้งระบบภาษีที่มีอยู่เดิม ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ และนำมาเข้ากองทุนบำนาญเฉพาะ รวมถึงเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีที่ยังไม่มีการเก็บอย่างชัดเจน เช่น ภาษีความมั่งคั่ง

หากต้องการเข้าชื่อเพื่อร่วมผลักดันสวัสดิการบำนาญ สามารถลงชื่อได้ทาง https://pension-4all.com/

ที่มา

https://ilaw.or.th/node/5392

https://www.ilaw.or.th/node/5721

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/198561

https://themomentum.co/report-interview-sustarum-elderly-allowance/

https://www.facebook.com/wefairwelfare/photos/a.192525018231948/931631640987945/?type=3

https://www.facebook.com/iLawClub/posts/pfbid0ZHE4yAXFpEkQQMnaixkb4DVphgqZUvYSMbsbjkH8ZP7Nkc1rWZByux6JYW8kwM3Jl

https://themomentum.co/report-interview-sustarum-elderly-allowance/

Tags: ,