วันนี้ (27 สิงหาคม 2567) ที่ท่าเรือส่วนการท่องเที่ยว ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมคณะ แถลงเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำฝนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยระบุว่า สถานการณ์โดยทั่วไป กรุงเทพฯ ยังมีความพร้อมในรองรับมวลน้ำจากภาคเหนือ เนื่องจากเขื่อนสำคัญหลายแห่งยังสามารถรองรับปริมาณได้อยู่ ยืนยันซ้ำว่า สถานการณ์อุทกภัยจะแตกต่างจากปี 2554 อย่างแน่นอน

วิศณุกล่าวว่า สำหรับเขื่อนที่มีความสำคัญกับการเฝ้าระวังระดับน้ำของ กทม.มีด้วยกันทั้งหมด 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา และสถานีวัดน้ำอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการระบายน้ำที่ 898 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และ 1,192 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยทั้ง 2 แห่งมีอัตราการระบายน้ำเฝ้าระวังที่ 2,730 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และ 2,500-3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามลำดับ

รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนไม่ต้องรู้สึกเป็นกังวลกับมวลน้ำเหนือที่จะเข้ามาที่กรุงเทพฯ หากดูที่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา (จุดวัดบริเวณปากคลองตลาด) อยู่ที่ระดับ +1.48 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ควบคุมได้ และทาง กทม.ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ขณะที่มาตรการรองรับน้ำเหนือ รองผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยว่า ได้เสริมแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้สูงขึ้นระดับ 2.80-3.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และได้จัดเตรียมกระสอบทรายในบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่ไม่มีแนวคันกั้นน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) รวมถึงตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำกว่า 96 จุด รวมถึงจัดเตรียมเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและเครื่องสูบน้ำสำรอง

แต่ปัจจัยที่ กทม.ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ ‘ปริมาณน้ำฝน’ ที่คาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ช่วงเดือนกันยายนไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 จะมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงขึ้นใกล้เคียงกับปี 2565 ที่ระดับ 811.50 มิลลิเมตร

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเตรียมการเพื่อความพร้อมคือ การพร่องน้ำในคลอง จะเห็นได้ว่าระดับน้ำในคลองมีระดับต่ำ มีสถานีสูบน้ำ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ผู้ว่าฯ ให้ไปกวดขันดูความพร้อมตลอดเวลาเพื่อเปิดทางน้ำไหล” วิศณุระบุ

ทั้งนี้การรับมือสถานการณ์น้ำฝนของ กทม.มีการพร่องน้ำในคลอง สร้างธนาคารน้ำ (Water Bank) แก้มลิง และเตรียมความพร้อมการระบายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการล้างทำความสะอาด บำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ ซึ่งแล้วเสร็จ 100% ครบทุกจุด

ขณะที่ชัชชาติได้กล่าวให้ความมั่นใจว่า สถานการณ์ปัจจุบัน น้ำเหนือไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่เป็นเรื่องของปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะสูงขึ้น เมื่อช่วง 2-3 วันก่อนหน้า ปริมาณน้ำฝนในกรุงเทพฯ สูงถึง 200 มิลลิเมตร ทั้งที่ความสามารถในการรองรับน้ำฝนมีเพียง 60 มิลลิเมตรเท่านั้น

“2 ปีที่ผ่านมามีการทำโครงสร้างหลายอันที่ทำให้ระบบการจัดการน้ำดีขึ้น เชื่อว่าหลายจุดน้ำลดลงเร็วขึ้น อาจจะมีท่วมขังบ้าง แต่เราก็พยายามให้ลดเร็วขึ้นโดยเฉพาะในถนนสายหลัก” ชัชชาติกล่าว

ทั้งนี้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำและฝนได้ที่ช่องทางการสื่อสารของกรุงเทพมหานคร ทั้งเฟซบุ๊ก, เอ็กซ์ (X), เว็บไซต์ prbangkok.com และ dds.bangkok.go.th อีกทั้งยังสามารถแจ้งเหตุเดือดร้อนและขอความช่วยเหลือได้ทาง Traffy Fondue, เฟซบุ๊กศูนย์ประสานงานน้ำท่วม กทม.สายด่วน 1555



Tags: , , , , ,