วันนี้ (16 สิงหาคม 2566) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีรัฐสภามีมติตีความว่า การเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีกตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า บุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง เมื่อผู้ร้องเรียน ได้แก่ พรชัย เทพปัญญา และบุญส่ง ชเลธร ซึ่งใช้สิทธิในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ ซึ่งเป็น ส.ส.พรรคก้าวไกล และคณะ ใช้สิทธิในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งและเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล ไม่ใช่บุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อต่อรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป
กระบวนการดังกล่าวทำให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่สามารถบรรจุวาระการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้ และขั้นตอนดังกล่าวติดขัดนับตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ แม้การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จะผ่านมานานกว่า 3 เดือนแล้วก็ตาม
นับจากนี้คาดว่า วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา จะเดินหน้ากระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปทันที โดย ณ ตอนนี้มีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวคือ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยที่ประชุมร่วมรัฐสภาต่อไป
Tags: ศาลรัฐธรรมนูญ