วันนี้ (7 เมษายน 2565 ) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ฐาปนีย์ สุขสำราญ ผู้สมัคร ส.ก.พรรคก้าวไกล เดินทางไปยังหมู่บ้านอิมพีเรียลพาร์ค ถนนเฉลิมพระเกียรติ ซอย 67 พื้นที่ได้รับผลกระทบจากการกิจการโรงผลิตไฟฟ้า โดยใช้ระบบกำจัดมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีเชิงกลชีวภาพหรือระบบ Mechanical Biological Treatment (MBT) ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยเฉพาะเรื่องมลพิษทางกลิ่นที่เหม็นรบกวนความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรง และกระจายไปไกลในรัศมีกว่า 5 กิโลเมตร มีหมู่บ้านได้รับผลกระทบกว่า 30 หมู่บ้าน และทางพรรคก้าวไกลได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและเรื่องร้องเรียนในช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา

ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2565 รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกคนหนึ่ง พร้อมด้วย ประสาท มีแต้ม ประธานคณะอนุกรรมการบริการสาธารณะ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน สภาองค์กรของผู้บริโภค และทีมงาน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ พากันลงพื้นที่ตามที่ชาวบ้านหมู่บ้านอิมพีเรียลพาร์ค อ่อนนุช ร้องเรียนและได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และวันที่ 5 เมษายน 2565 ที่ผ่านมามีคำสั่งจาก กกพ. ให้พักใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าของบริษัทกรุงเทพธนาคม เนื่องจากบริษัทไม่ปฏิบัติตาม Code of Practice (CoP) สำหรับการใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้ครบถ้วน โดยเฉพาะการจัดการเชื้อเพลิงขยะชุมชนจนส่งผลให้เกิดปัญหากลิ่นเน่าเหม็นต่อชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสาธารณะ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างปกติสุขของประชาชน รวมทั้งสุขภาพอนามัยของประชาชนในระยะยาว

ด้วยเหตุนี้ กกพ. จึงใช้อำนาจตามความในมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงานฯ และมีคำสั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการการผลิตไฟฟ้าของบริษัทและให้บริษัทดำเนินการแก้ไขทันที โดยติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติที่ปลายปล่อง (CEMs) และมีการแจ้งเตือนเมื่อเกินหรือใกล้มาตรฐานพร้อมปรับปรุงระบบการเผาไหม้เขื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมอัตราระบายของมลพิษทางอากาศให้ได้มาตรฐาน ทำให้ในวันดังกล่าว รสนาประกาศชัยชนะที่เกิดจากประชาชนผ่านเฟซบุ๊กทันที

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้วิโรจน์ได้เดินทางไปยังโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุชอีกครั้ง และจากการตรวจสอบพูดคุยกับพนักงานที่ทำงานในโรงไฟฟ้าขยะโดยตรง พบว่าแม้มีคำสั่งดังกล่าวออกมา แต่การดำเนินกิจกรรมในโรงไฟฟ้าขยะยังไม่ยุติลง ซึ่งได้รับคำตอบว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงการยุติการขายไฟฟ้าเท่านั้น แต่การดำเนินการหมักเพื่อแปลงขยะยังคงดำเนินการต่อไป แต่ลดปริมาณลง วิโรจน์จึงตั้งข้อสังเกตถึงบริษัทและนายทุนเบื้องหลังว่าส่อเจตนาเอื้อธุรกิจบ่อกลบขยะหรือไม่

วิโรจน์ตั้งข้อสังเกตว่า การทำให้เทคโนโลยีดีๆ กลายเป็นระบบที่ใช้การไม่ได้ อาจเกิดจากความจงใจเอื้อกลุ่มทุนธุรกิจบ่อขยะที่จะเสียประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นค่านำไปฝังกลบที่ กทม. ต้องจ่ายดังที่กล่าวไปข้างต้น หรือการสูญเสียรายได้จากการที่คนเข้าไปคัดแยกเอาขยะ ซึ่งประเด็นนี้รู้กันว่าเป็นธุรกิจที่มีมาเฟียคุมมายาวนาน เมื่อโรงไฟฟ้าขยะเหล่านี้ใช้งานไม่ได้ สุดท้ายจะเหลือสภาพเป็นเพียงจุดพักขยะเพื่อรอนำไปที่บ่อขยะรอการฝังกลบ สำหรับพื้นที่จุดพัก จากแค่ปัญหากลิ่นก็จะขยายต่อกลายเป็นปัญหาน้ำ เพราะไม่เชื่อว่าจะมีการออกแบบไว้เพื่อรองรับขยะที่หมักหมมและน้ำเสียอาจซึมลงดินไปสู่แหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ๆได้

“แม้มีคำสั่งให้พัก แต่การดำเนินกิจกรรมในโรงไฟฟ้าขยะยังไม่ยุติลง ในทางกลับกันอาจเอื้อให้โรงไฟฟ้าขยะกลายเป็นที่พักขยะ เพื่อส่งต่อไปฝังกลบในบ่อขยะในพื้นที่อื่น รวมถึงบ่อใหญ่ในจังหวัดข้างเคียง หมายความว่า กรุงเทพมหานครอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 800 บาทต่อตัน และหากการกำจัดขยะโดยเปลี่ยนเป็นพลังงานไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการลดการฝังกลบ จากเดิม 80 เปอร์เซ็นต์ ให้เหลือ 30 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาขยะแบบเดิมๆ ก็จะยังอยู่กับกรุงเทพต่อไป”

ทั้งนี้ วิโรจน์กล่าวว่า โรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้เกิดจากคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ซึ่งละเว้นกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ จึงยังมีข้อสงสัยว่า การจัดการปัญหาที่ล่าช้าในเวลานี้ มีความข้องเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์นายทุนธุรกิจบ่อกลบขยะในจังหวัดข้างเคียง จึงทำให้การแก้ไขปัญหาอะไรก็ตามที่ควรจะทำได้ง่ายกลับกลายเป็นยาก

ด้าน สนธิ คชวัฒน์ อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ขั้นตอนการทำงานของระบบ MBT คือนำขยะมูลฝอยที่เข้าไปยังระบบคัดแยกเพื่อแยกมูลฝอยขนาดใหญ่และมูลฝอยโลหะออกไป ส่วนที่เหลือขยะประเภทอินทรีย์จะนำเข้าสู่ระบบบำบัดและย่อยสลายทางชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วยถังเตรียมหมัก (BIO DAMP) และเครื่องบีบอัด (Screw Press) ในขั้นตอนนี้จะแยกกากของสารอินทรีย์ออกมานำไปเป็นขยะเชื้อเพลิง (RDF) ได้ และจะได้น้ำชะกากที่มีความเข้มข้นสูงซึ่งจะส่งไปยังถังหมักแบบไร้อากาศ หรือระบบ Anaerobic Digestion (AD) เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพหรือก๊าซมีเทนและส่งเข้าสู่เครื่องผลิตไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าต่อไป จึงคาดว่าประชาชนที่ได้รับกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง จะมาจากก๊าซไข่เน่าและก๊าซแอมโมเนีย ซึ่งเกิดจากการหมักขยะโดยไม่ใช้ออกซิเจนในกระบวนการดังที่กล่าวมา มีโอกาสที่ทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงเกิดโรคแพ้อากาศ มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ระคายเคืองเคืองตา คันผิวหนัง หรืออาจเป็นอันตรายสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้

สนธิให้ข้อมูลว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยขยะแห่งนี้ กทม. ต้องการให้เป็นต้นแบบของการกำจัดขยะแบบได้พลังงานหรือ Waste to energy โดยไม่ต้องมีการเผา แต่ได้ก๊าซชีวภาพมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีต้นแบบจากประเทศเยอรมนี เป็นโครงการที่มีแนวคิดดีมาก แต่การจัดทำโครงการกลับมาพังไม่เป็นท่าในขั้นตอนปฏิบัติการที่ดำเนินการแล้วก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น เป็นเหตุรำคาญรบกวนต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยรอบ

ภาพ: พรรคก้าวไกล

Tags: , , ,