เมื่อวานนี้ (8 พฤศจิกายน 2023) ผู้สร้างภาพยนตร์ชาวอุยกูร์เปิดเผยในการพิจารณาคดีว่า เขาถูกรัฐบาลจีนทรมานและบังคับให้สารภาพความเท็จระหว่างที่ถูกควบคุมตัวในมณฑลซินเจียง (Xinjiang) ในข้อหาเข้าร่วมขบวนการก่อการร้าย
อิกราม นูร์เมห์เมต (Ikram Nurmehmet) ชายชาวอุยกูร์วัย 32 ปี เกิดและเติบโตในเมืองอุรุมชี (Ürümqi) มณฑลซินเจียง เป็นที่รู้จักในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์ เขาเคยกำกับหนังสั้นเรื่องดัง ที่ได้ฉายในเทศกาลสำคัญของจีนและต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง
นูร์เมห์เมตตกเป็นที่จับตามองของสังคมจากภาพยนตร์เรื่อง Elephant in the Car (2020) หนังสั้นที่เผยให้เห็นวิถีชีวิตประจำวันของชาวอุยกูร์ ว่าด้วยเรื่องราวหญิงชาวฮั่นที่นั่งอูเบอร์ (Uber) คันเดียวกันกับเด็กหนุ่มชาวอุยกูร์ 2 คน
วันที่ 29 พฤษภาคม 2023 นูร์เมห์เมตถูกทางการจีนควบคุมตัวที่ปักกิ่ง (Beijing) ด้วยข้อหา ‘เข้าร่วมขบวนการก่อการร้าย’ ในฐานะสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนเตอร์กิสสถาน (East Turkestan Separatist) ก่อนเจ้าหน้าที่นำตัวเขากลับมายังบ้านเกิด
ทั้งนี้ แหล่งข่าวของเดอะการ์เดียน (The Guardian) เผยว่า ผู้สร้างภาพยนตร์รายนี้ได้รับสัญญาณเตือนก่อนหน้าการจับกุมหลายครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามโทรหาเขาให้กลับไปยังอุรุมชี เพื่อตรวจสอบบัตรประชาชนที่หายไป แต่นูร์เมห์เมตปฏิเสธ ท่ามกลางคำเตือนของแม่ผู้เล็งเห็นว่า เขาอาจตกเป็นเป้าหมายจากรัฐบาล เนื่องจากมีข่าวลือว่า เพื่อนชาวอุยกูร์ของเขาที่เคยอาศัยในตุรกีสมัยเรียนด้วยกัน ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาคดีครั้งนี้เกิดขึ้นหลังการจับกุมผ่านไป 6 เดือน โดยมีพ่อ แม่ และภรรยาของเขาเข้าร่วม เบื้องต้น นูร์เมห์เมตปฏิเสธข้อหาทั้งหมด และเผยว่า เขาโดนขังในห้องมืด 20 วัน และถูกทรมานระหว่างการควบคุมตัว
“ผมโดนขังในห้องมืด 20 วัน และถูกทรมานร่างกาย ผมไม่เคยเข้าร่วมขบวนการก่อการร้าย หรือยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองในระหว่างที่เรียนในตุรกี” ผู้กำกับภาพยนตร์กล่าวในระหว่างการพิจารณาคดี และเสริมว่า เขาถูกบังคับให้สารภาพด้วยการทรมานร่างกายจากเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากคนใกล้ตัวของนูร์เมห์เมตยังเผยว่า เขาถูกปฏิเสธไม่ให้เลือกทนายความอย่างอิสระ แต่กลับได้รับบุคลากรจากรัฐมาทำหน้าที่ ซึ่งมีการชี้แจงต่อครอบครัวว่า เขาอาจได้รับโทษ 8 ปี และคำตัดสินจะออกมาตอนไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสัปดาห์หน้าหรือปีหน้าก็ตาม
“ฉันหวังว่าเขาจะได้รับการปล่อยตัวในเร็วๆ นี้ มันอยู่ในใจฉันมาตลอด นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมฉันจึงผิดหวังเหลือเกินที่ได้ยินว่า เขาจะต้องถูกจำคุกเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ปี” คนใกล้ตัวของนูร์เมห์เมตที่ไม่เปิดเผยตัวตนเผยความในใจกับเดอะการ์เดียน (The Guardian)
ขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุนนูร์เมห์เมตบางส่วนพยายามยื่นเรื่องต่อหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เพื่อทางช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อเหตุการคุมขังตามอำเภอใจของรัฐบาลจีน
ด้าน วายา หวัง (Waya Wang) รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอชต์สาขาเอเชียเผยว่า การทรมานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการจับกุมทางการเมืองบ่อยครั้ง โดยเฉพาะซินเจียง แม้ว่ากฎหมายจีนจะมีข้อห้าม แต่ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด
ขณะที่ ปีเตอร์ เออร์วิน (Peter Irwin) รองผู้อำนวยการของอุยกูร์ฮิวแมนไรต์โปรเจกต์ (Uyghur Human Rights Project) เผยว่า เป็นเรื่องยากที่จะทราบว่า นูร์เมห์เมตถูกจับตามองจากรัฐบาลด้วยเหตุผลใด แม้การประหัตประหารชาวอุยกูร์จะเกิดขึ้นมากกว่าที่สาธารณชนรับทราบก็ตาม
ความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลจาก วิลเลียม หนี่ (William Nee) เพราะนิยามการก่อการร้ายในประเทศจีนมีลักษณะกว้างเป็นพิเศษ และสามารถนับรวมได้ทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาพยนตร์ที่อ่อนไหวในทางการเมือง หรือการพบปะนักกิจกรรมชาวอุยกูร์ก็ตาม
ก่อนหน้านี้เคยมีกรณี ราฮีล ดาวุธ (Rahile Dawut) ศาสตราจารย์ชาวอุยกูร์ผู้เชี่ยวชาญด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นและประเพณี ถูกตัดสินด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต ด้วยข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หลังมีรายงานว่า เธอหายตัวไปนานถึง 6 ปี
อ้างอิง
Tags: อุยกูร์, ซินเจียง, เอเชียตะวันออก, จีน, ตุรกี, มุสลิม, เอเชีย