เมื่อวานนี้ (20 สิงหาคม 2024) สำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ (New York Times) รายงานว่า โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อนุมัติแผนยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ของประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามในอนาคต โดยจับตามองไปที่การสะสมอาวุธนิวเคลียร์ของจีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อนุมัติแผนการรับมือภัยคุกคามนิวเคลียร์ระดับสูงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2024 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สหรัฐฯ ปรับแผนการป้องปรามด้านอาวุธร้ายแรงต่อจีน หลังจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน (Pentagon) เชื่อว่า การสะสมอาวุธนิวเคลียร์ของปักกิ่ง อาจนำไปสู่การแข่งขันกับสหรัฐฯ และรัสเซียได้ในอนาคต
ยุทธศาสตร์ตอบโต้การใช้อาวุธนิวเคลียร์จากชาติมหาอำนาจอื่นของสหรัฐฯ
แผนการดังกล่าวชื่อว่า ‘Nuclear Employment Guidance’ มีจุดประสงค์เพื่อรับมือกับภัยคุกคามนิวเคลียร์จาก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนทุก 4 ปี ทว่าไม่มีการประกาศจากทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการ คาดว่า เอกสารจัดเก็บอย่างเข้มงวด มีเพียงเจ้าหน้าที่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (National Security Council) และผู้บังคับบัญชาระดับสูงเท่านั้นที่เข้าถึงได้
การมีอยู่ของเอกสารนี้ตอกย้ำโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลัง ปราเนย์ วัดดี (Pranay Vaddi) ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการควบคุมอาวุธและการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ อ้างอิงเนื้อหาจากเอกสารดังกล่าวว่า กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. พร้อมตอบสนองวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ทั้งในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไปและฉับพลัน ไม่ว่าจะต้องตอบโต้โดยใช้อาวุธธรรมดาหรืออาวุธนิวเคลียร์ก็ตาม
ขณะที่ วิพิน นารัง (Vipin Narang) นักกลยุทธ์นิวเคลียร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) ที่ทำงานให้กับเพนตากอน ก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ไบเดนออกแนวทางการรับมืออาวุธนิวเคลียร์จากประเทศอื่น โดยเน้นไปที่ขนาดของอาวุธและความแพร่หลายของอาวุธนิวเคลียร์ของจีน
อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวออกมาปฏิเสธว่า แผนการดังกล่าวไม่ได้มุ่งตรงไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง โดย ฌอน ซาเวตต์ (Sean Savett) โฆษกทำเนียบขาว ระบุว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่ความลับแต่อย่างใด เป็นเพียงข้อมูลแนะนำเบื้องต้นในต้นปี และไม่ได้ชี้ว่า ประเทศใดคือภัยคุกคามของสหรัฐฯ
ความเกรงกลัวนิวเคลียร์ของมหาอำนาจโลก
หากข่าวนี้มีมูลความจริง นั่นหมายความว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะต้องรับศึกหนักตั้งแต่รับตำแหน่ง หลังโลกกำลังเผชิญความผันผวนจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ตั้งแต่ 3 ปีก่อนหน้า เมื่อ วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ผู้นำรัสเซีย ยืนยันว่า เขาพร้อมจะใช้อาวุธนิวเคลียร์กับยูเครน
ความเกรงกลัวของสหรัฐฯ ต่อการที่ชาติอื่นใช้อาวุธนิวเคลียร์ ไม่ได้เกิดเฉพาะกับเครมลินเท่านั้น หลังมีบทสนทนาระหว่างไบเดนกับผู้บัญชาการระดับสูงของรัสเซียในปี 2022 ว่า แนวโน้มการใช้อาวุธร้ายแรงของโลกอาจพุ่งสูงเกิน 50% หรือมากกว่านั้น
สถานการณ์ดังกล่าวยังรวมถึงจีน โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) เปิดเผยในเดือนมิถุนายน 2024 ว่า จีนและสหรัฐฯ จัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Track Two Diplomacy) โดยมีนักวิชาการและอดีตผู้นำระดับสูงของ 2 ประเทศเข้าร่วมในเดือนมีนาคม 2024 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังรัฐบาลของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดเงินสนับสนุนประชุมนี้ตั้งแต่ปี 2019
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ตัวแทนจากสหรัฐฯ แสดงความกังวลถึงแนวโน้มการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของจีน กรณีที่พ่ายแพ้ในการรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวกับไต้หวัน ขณะที่ตัวแทนจากจีนย้ำว่า ปักกิ่งสามารถเอาชนะไทเปโดยไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธร้ายแรงแม้แต่นิดเดียว
ปัจจุบัน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า จีนมีหัวรบนิวเคลียร์ถึง 500 หัว และอาจถึง 1,000 หัวพร้อมกับขีดความสามารถที่มีประสิทธิภาพสูงภายในปี 2030 โดยที่ เดวิด ซานโทโร (David Santoro) หนึ่งในผู้เข้าร่วมการเจรจาครั้งนี้ระบุว่า วอชิงตัน ดี. ซี. ต้องการสร้างหลักประกันว่า ปักกิ่งจะไม่ละเมิดนโยบาย No First Use (NFU) หรือการใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีประเทศอื่นก่อน ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้หวนให้คิดถึงยุคสงครามเย็นในทศวรรษ 1960
อ้างอิง
https://www.nytimes.com/2024/08/20/us/politics/biden-nuclear-china-russia.html
https://www.theguardian.com/us-news/article/2024/aug/20/biden-nuclear-strategy-china-threat
Tags: รัสเซีย, นิวเคลียร์, เพนตากอน, ความมั่นคง, โจ ไบเดน, อาวุธนิวเคลียร์, วิกฤตนิวเคลียร์, สหรัฐอเมริกา, ทำเนียบขาว, เกาหลีเหนือ, จีน