เชียมัค นามาซี (Siamak Namazi) อดีตนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังในเตหะราน (Teharan) กว่า 8 ปี ออกโรงประณามรัฐบาลอิหร่าน หลังได้รับการปล่อยตัวจากข้อตกลงระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านเมื่อวานนี้ (18 กันยายน 2023)
นามาซีเป็นชายสัญชาติอเมริกัน-อิหร่าน วัย 51 ปี เขาเป็นผู้บริหารบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่งในประเทศดูไบ ทว่าทางการอิหร่านจับกุมเขาด้วยข้อหา ‘ร่วมมือกับศัตรูต่างชาติ’ เมื่อนามาซีเดินทางไปเยี่ยมลูกชายของเขาในเตหะราน (Teharan) เมื่อปี 2018
กระทั่ง นามาซีและนักโทษอีก 9 คน ได้รับการปล่อยตัว เพราะข้อตกลงสหรัฐฯ กับอิหร่านในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อทั้งสองประเทศตัดสินใจปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองของแต่ละฝ่ายจำนวน 5 คน รวมทั้งสิ้น 10 คน
อีกทั้งสหรัฐฯ ยังยกเลิกการอายัดเงินมูลค่า 6,000 ล้านบาทของอิหร่าน ที่ยังติดค้างในเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 2019 สืบเนื่องจากนโยบายการคว่ำบาตรการห้ามส่งออกน้ำมันของสหรัฐฯ ในรัฐบาลของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) แต่มีเงื่อนไขสำคัญว่า การใช้จ่ายเงินดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้หลักการทางมนุษยธรรม
กระบวนการแลกเปลี่ยนนักโทษครั้งนี้ มีกาตาร์เป็นประเทศอำนวยความสะดวกในการเจรจาและเคลื่อนย้ายผู้คน โดยอดีตนักโทษของ 2 ประเทศ ได้แลกเปลี่ยนตัวในโดฮา (Doha) เมืองหลวงของกาตาร์ ก่อนจะขึ้นเครื่องบินกลับไปยังประเทศปลายทาง
อย่างไรก็ตาม นามาซีเผยความในใจสุดอัดอั้นของเขา ระหว่างกำลังเดินทางจากอิหร่านมายังโดฮาว่า
“มากกว่า 44 ปี ระบอบการเมืองในอิหร่านเล่นกลเกมสกปรก ด้วยการขังผู้บริสุทธิ์ชาวอเมริกัน และผู้คนสัญชาติอื่นๆ พวกเขาใช้เรื่องเสรีภาพของคนกลุ่มนี้เพื่อหากินจากนานาชาติ
“พวกเราต้องเปลี่ยนความเจ็บปวดรวดร้าวของเหยื่อจากความชั่วร้าย ไปสู่มาตรการหลีกเลี่ยงการแสวงหาผลกำไรที่คิดคำนวณมาแล้วเป็นอย่างดี และธุรกิจอันโสมมของเตหะราน เพราะหากพวกเราหล่อเลี้ยงเส้นทางชั่วร้าย ระบอบเลวร้ายเช่นนี้จะคงอยู่ต่อไป” นามาซีแสดงความคิดเห็น โดยเปรียบเทียบว่า การจับตัวประกันของอิหร่านคือธุรกิจแสวงหาผลกำไรกับโลกตะวันตก เมื่อเตหะรานพยายามเรียกร้อง ‘ทรัพย์สิน’ เป็นข้อแลกเปลี่ยน เพื่อปล่อยตัวนักโทษ
นอกจากนี้ อดีตนักโทษรายนี้ยังแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกับพรรครีพับลิกัน (Republican) ว่า อิหร่านอาจจะนำเงินจำนวน 6,000 ล้านไปสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน หลังทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ที่ดูแลการพัฒนานิวเคลียร์ในเชิงสันติ ออกโรงประณามอิหร่าน เพราะไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบโปรแกรมการพัฒนานิวเคลียร์ ซึ่งมีนัยส่อแววผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด
“หากประเทศโลกเสรียังจะยอมทำตามผลอันเลวร้าย เมื่อชีวิตของมนุษย์กลายเป็นเครื่องต่อรอง (…) เมื่อถึงเวลานั้น เราคงคาดเดาได้ว่า ชาวอเมริกันหรือใครหลายคนคงตกเป็นตัวประกันของรัฐไปแล้ว” นามาซีทิ้งท้าย
ท่าทีของรัฐบาลอิหร่านกับสหรัฐฯ และอนาคตของความสัมพันธ์สองประเทศนับจากนี้
อีบราฮิม ราซี (Ebrahim Raisi) ประธานาธิบดีอิหร่าน แสดงความรู้สึกถึงการปล่อยตัวนักโทษอเมริกันว่า เป็นการกระทำที่เต็มไปด้วยหลักการทางมนุษยธรรม และอาจเป็นขั้นตอนแรกที่นำไปสู่ปรากฏการณ์อื่นๆ ในอนาคต
ขณะเดียวกัน โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวความรู้สึกยินดีกับการกลับมาของนักโทษ 5 คน พร้อมชื่นชมพันธมิตรหรือผู้คนที่ช่วยเหลือให้การปล่อยตัวสำเร็จลุล่วง
“เชียมัก นามาซี โมราด ตาห์บาซ (Morad Tahbaz) อีหมัด ชาร์กี (Emad Sharghi) และพลเมืองอีกสองคนที่ร้องขอความเป็นส่วนตัวด้วยการไม่ระบุชื่อ พวกเขาจะได้กลับมาเจอคนที่รักในไม่ช้า หลังจากอดทนกับปีแห่งความรวดร้าว ไม่แน่นอน และทุกข์ทรมาน” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ที่ระบุจากทำเนียบขาว
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้บรรยากาศความตึงเครียดระหว่างสองประเทศดูเหมือนจะดีขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่า นี่อาจเป็นก้าวสำคัญเพื่อยุติความบาดหมางในอดีต และพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูต แต่นักวิเคราะห์บางส่วนก็แสดงความคิดเห็นว่า ยังคงไปได้ยากลำบากพอสมควร
อเล็กซ์ วาทานกา (Alex Vatanka) นักวิชาการแห่งสถาบันมิดเดิลอีสต์ (Middle East Institute) ระบุกับอัลจาซีรา (Al Jazeera) ว่า ดีลครั้งนี้เป็นไปในเชิงธุรกิจล้วนๆ และเป็นการป้องกันไม่ให้สถานการณ์ระหว่างประเทศร้ายแรงไปกว่านี้ เพราะไม่กี่วันก่อนการปล่อยตัว สหรัฐฯ ยังเดินหน้าคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่และหน่วยงานในอิหร่านหลายสิบราย สืบเนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลในปี 2022
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/world-middle-east-66841137
https://www.theguardian.com/world/2023/sep/18/iran-american-prisoner-swap-hostage-sanction-biden
https://time.com/6315295/us-iran-prisoner-swap/