นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 หลังจาก วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศ ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ การรุกรานของรัสเซียเกิดขึ้นต่อเนื่องมาถึงสัปดาห์ที่ 3 ส่งผลให้ยอดผู้ลี้ภัยสงครามหลั่งไหลออกนอกยูเครนมากกว่า 2.5 ล้านคน ขณะที่ประชากรอีกส่วนหนึ่งลี้ภัยไปยังยูเครนตะวันตก ที่ห่างไกลจากจุดสู้รบ
วันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ ได้จัดการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติสมัยวิสามัญฉุกเฉิน เพื่อขอมติจากสมาชิก 193 ประเทศ ในการประณามรัสเซียที่ใช้กำลังทหารบุกยูเครน ผลการลงมติปรากฏว่า มีชาติสมาชิกกว่า 141 ประเทศ เห็นชอบให้ประณามการกระทำของรัสเซีย และอีก 35 ประเทศงดออกเสียง แม้ว่าการออกเสียงดังกล่าวจะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ถือเป็นการแสดงถึงจุดยืนของประเทศในสหประชาชาติ
ฟิลิปโป กรันดี (Filippo Grandi) ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กล่าวว่าการลี้ภัยสงครามของชาวยูเครนครั้งนี้ ถือเป็นวิกฤตการณ์ที่จำนวนผู้ลี้ภัยพุ่งสูงในยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และสิ่งที่เขากังวลต่อไปคือ คลื่นลูกที่ 2 ของการอพยพ ประชากรที่ไม่มีญาติ ไม่มีครอบครัวหรือคนรู้จักในประเทศข้างเคียง จะขาดทรัพยากรในการดำรงชีวิต และทุพลภาพ
ประชากรผู้ลี้ภัยสงครามยูเครนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก เนื่องจากภายหลังการบุกรุกของ (General Military Mobilization) และประกาศกฎอัยการศึกห้ามผู้ชายชาวยูเครนอายุตั้งแต่ 18-60 ปี ออกนอกประเทศ จำนวนผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จึงประกอบไปด้วยผู้หญิงและเด็ก เพราะผู้สูงอายุเดินทางลำบากหรือไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ บางครอบครัวต้องทนอยู่ในเมืองที่มีสงคราม เพราะไม่สามารถละทิ้งผู้สูงอายุในครอบครัวได้ หรือแม้แต่การให้เด็กเดินทางเพียงลำพัง
สำนักข่าวบีบีซีได้เปิดเผยว่า มีเด็กชายชาวยูเครนอายุ 11 ปี เดินเท้าจากยูเครนมาถึงประเทศสโลวาเกียเพียงลำพัง ตลอดระยะทางกว่า 1,200 กิโลเมตร เขาเดินทางโดยมีถุงใส่ของเล็กๆ หนังสือเดินทาง และเบอร์ติดต่อของญาติ แม่ของเด็กชายชาวยูเครนอายุ 11 ปีเปิดเผยว่า รัสเซียได้เข้ามาโจมตีเมืองที่เธอและลูกอาศัยอยู่ ซึ่งเมืองดังกล่าวเป็นเมืองที่มีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ ขณะนี้กำลังถูกรัสเซียโจมตี ส่วนสาเหตุที่เธอต้องปล่อยให้ลูกเดินทางเพียงลำพังนั้น เพราะไม่สามารถทิ้งแม่ที่นอนป่วย ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายเองได้ เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของผู้ลี้ภัยเท่านั้น ยังมีชาวยูเครนอีกจำนวนมากที่ต้องพัดพรากจากครอบครัว คนรัก และสัตว์เลี้ยง
สถิติประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้เป็นสถานที่พักพิงให้ผู้ลี้ภัยยูเครน (ข้อมูลจาก UNHCR เมื่อวันที่ 13 มีนาคม)
1. โปแลนด์ 1,720,227 คน
2. มอลโดวา 330,217 คน
3. ฮังการี 255,291 คน
4. สโลวาเกีย 204,862 คน
5. โรมาเนีย 412,856 คน
ขณะที่ประเทศยุโรปอื่นๆ อาทิ เยอรมนี ออสเตรีย โครเอเชีย เอสโตเนีย กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลิทัวเนีย เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สวีเดน มีรายงานผู้ลี้ภัยสงครามหลักหมื่นคน
ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่หนีออกนอกประเทศด้วยการเดินทางผ่านรถไฟที่แออัดไปด้วยผู้คน หรือเดินทางด้วยรถยนต์ที่ถนนเต็มไปด้วยรถยนต์ยาวเหยียด และเดินเท้าข้ามประเทศ คอนสตานตา โดโฮทารู (Constanta Dohotaru) นักเคลื่อนไหวชาวมอลโดวา ได้ให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า อีกสิ่งที่น่ากังวลและน่ากลัวสำหรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนคือ ขบวนการค้ามนุษย์ โดยเธอกล่าวอีกว่า บริเวณชายแดนระหว่างประเทศ ผู้หญิงบางส่วนรู้สึกกลัวที่จะเข้าไปในรถยนต์ของอาสาสมัครที่จะพาเธอไปยังสถานที่พักพิง นี่คือเหตุผลว่าทำไมอาสาสมัครของเราถึงต้องใส่เสื้อกั๊ก พร้อมกับแสดงบัตรประจำตัวเพื่อแสดงตัวตน และยืนยันว่าเราได้รับอนุญาตจากรัฐบาลที่พร้อมให้บริการขนส่งถึงที่หมายอย่างปลอดภัย
ชาวยูเครนได้รับความช่วยเหลืออะไรบ้าง
สหภาพยุโรป (อียู) เตรียมการให้ผู้ลี้ภัยยูเครนสามารถอยู่และทำงานได้ 27 ประเทศ ในสหภาพยุโรปเป็นเวลา 3 ปี พร้อมกันนั้น ยังได้รับสวัสดิการสังคม ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล และการศึกษาสำหรับเด็ก
ด้านโปแลนด์ที่มีจำนวนผู้ลี้ภัยสูงสุด ทางรัฐบาลได้ออกมาประกาศว่า ทางโปแลนด์ต้องการเงินสนับสนุนมากกว่าจำนวนเงินที่ทางอียูเสนอให้ เพื่อใช้ในการรองรับด้านต่างๆ ของกลุ่มผู้ลี้ภัยที่จะเดินทางมาถึง เช่น การรักษาพยาบาล หรือบริการรับส่งเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายถัดไป ส่วนฮังการีให้เงินสนับสนุนด้านอาหาร เสื้อผ้า และการศึกษาแก่ผู้ลี้ภัย ขณะที่สาธารณรัฐเช็ก ให้วีซ่าพิเศษแก่ผู้ลี้ภัยชาวยูเครน และประเทศอื่นๆ ในยุโรปตะวันออกได้เตรียมความพร้อมสำหรับผู้ลี้ภัย
เมื่อ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โวโลดีมีร์ เซเลนสกี กล่าวว่านับตั้งแต่การบุกโจมตีของรัสเซีย ทหารยูเครนถูกสังหารไปแล้วกว่า 1,300 คน และสำนักงานอัยการสูงสุดของยูเครนได้เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า หลังจากผ่านการบุกรุกของรัสเซียมาราว 20 วัน ส่งผลให้มีประชากรเด็กในยูเครนเสียชีวิตแล้ว 90 ราย และบาดเจ็บมากเกินร้อยคน