ย้อนรอย 10 คดี 112 ที่อยู่นอกเหนือการคาดเดาของประชาชน
หลายสิบปีที่ผ่านมา การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” ถูกใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้อง ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ เอาไว้ ให้อยู่ในสถานะ ‘เคารพสักการะ’ และ ‘ล่วงละเมิดมิได้’ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริง กฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมีปัญหาตั้งแต่การกำหนดโทษ ซึ่งถูกแก้ไขหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ให้ ‘รุนแรง’ เกินไป รุนแรงกว่าคดีฆ่าคนตาย ทำให้ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ไม่สามารถขอประกันตัวได้ รวมถึงตีวงเงินประกันตัวสูงถึง 1 แสน – 5 แสนบาท จนถึงการที่ใครก็สามารถแจ้งความผู้อื่นด้วยกฎหมายมาตรานี้ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องให้ตำรวจ หรืออัยการ หรือสำนักพระราชวังเป็นผู้แจ้ง ส่งผลทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายนี้ถูกใช้เพื่อการ ‘กลั่นแกล้งทางการเมือง’
ยิ่งช่วงใดก็ตามที่การเมืองร้อนแรง มาตรา 112 จะถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้น สัมพันธ์กับเหตุการณ์ และบริบททางการเมืองในช่วงเวลานั้นๆ
ยกตัวอย่างเช่นปี 2552 ในชั้นตำรวจ คดีหมิ่นสถาบันฯ เพียงปีเดียวมีมากถึง 104 คดี ส่วนปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่มีการรัฐประหารนั้น มี 99 คดี ปี 2558 มี 116 คดี ปี 2559 มี 101 คดี ก่อนจะค่อยๆ หายไปในปี 2560 – 2561
หากอ้างอิงปากคำจาก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอาวุโส ที่ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ ‘งดใช้’ มาตรา 112 และให้คดีดังกล่าวต้องผ่าน ‘ดุลพินิจ’ ของอัยการสูงสุดเท่านั้น ก่อนจะสั่งฟ้อง นอกจากนี้ยังได้รับการยืนยันอีกครั้งจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ‘ทรงพระเมตตา’ ไม่ให้ใช้มาตรานี้อีกต่อไป
แต่หลังจากการชุมนุมของคณะราษฎรที่ ‘พุ่งเป้า’ ไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา มีข่าวลืออยู่หลายครั้งว่า จะมีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้ใหม่ กระทั่งสุดท้าย นายกฯ ยืนยันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าเป็นเรื่องจริง โดยเหตุที่ต้องนำกลับมาใช้ใหม่นั้น เป็นเพราะเสียงเรียกร้องของประชาชนที่มิอาจทนได้
แม้ว่าตัวบทกฎหมายความผิดมาตรา 112 จะถูกจำกัดความอยู่เฉพาะการดูหมิ่นหรือการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และให้การคุ้มครองเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทผู้สำเร็จราชการเท่านั้น แต่การดำเนินคดีนอกตัวบท ทำให้ขอบเขตของกฎหมายมาตรา 112 อยู่ในสถานะที่ประชาชนคาดเดาไม่ได้
The Momentum ได้รวบรวมความผิดมาตรา 112 ที่อยู่นอกเหนือการคาดเดาของประชาชนจำนวน 10 คดีดังนี้
1. เสียดสีคุณทองแดง
ฐนกร ศิริไพบูลย์ พนักงานโรงงานอายุ 27 ปี ได้คัดลอกและแชร์ภาพแผนผังทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์บนเฟซบุ๊ก จึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2558 และควบคุมตัวไว้ในสถานที่ปิดลับ 7 วัน ภายหลังถูกควบคุมตัว เขาถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่ม สาเหตุมาจากการโพสต์ข้อความเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงคุณทองแดง และกดไลก์ภาพที่เข้าข่ายการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี และได้รับการปล่อยตัวหลังถูกควบคุมตัวในเรือนจำ 86 วัน
ปัจจุบันคดีถูกโอนจากศาลทหารมาสู่ศาลพลเรือน และยังไม่สิ้นสุด
2. อากง SMS
อำพล ตั้งนพกุล (อากง) อายุ 61 ปี (ในวันที่ถูกจับ) ถูกกล่าวหาว่าส่ง SMS จำนวน 4 ข้อความไปที่เบอร์นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 9 -20 พฤษภาคม 2553 โดยเนื้อหาดูหมิ่นแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ฯ แต่อำพลได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยให้เหตุเหตุผลส่งข้อความ SMS ไม่เป็น
สำหรับหลักฐานที่ใช้ยืนยันความผิดคือ รหัสประจำเครื่องโทรศัพท์ หรือหมายเลข imei ที่ทางกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้กล่าวพิสูจน์นั้นตรงกับเลขโทรศัพท์ที่จำเลยใช้ ศาลจึงตัดสินให้อำพลมีความผิดลงโทษจำคุก 20 ปี ก่อนที่อำพลจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับระหว่างจำคุกในวันที่ 8 พฤษภาคม 2555
3. แชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10
เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2559 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ได้แชร์บทความพระราชประวัติพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ของบีบีซีไทย และได้คัดลอกข้อความบางส่วนของบทความมาโพสต์ประกอบบนสเตตัสเฟซบุ๊ก
พันโทพิทักษ์พล ชูศรี รักษาการหัวหน้ากองกิจการพลเรือนมณฑลทหารบกที่ 23 (ตำแหน่งและยศในขณะนั้น) เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษไผ่ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ไผ่ถูกศาลตัดสินให้จำคุก 5 ปี แต่ให้การสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปี 2562 ทำให้นักโทษที่เหลือระยะเวลารับโทษไม่ถึงหนึ่งปีได้รับการปล่อยตัว ไผ่จึงได้ออกจากคุกก่อนกำหนด 23 วัน
4. ไม่ยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนฉายภาพยนตร์
โชติศักดิ์ อ่อนสูง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เข้าไปชมภาพยนตร์ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550 และไม่ได้ยืนทำความเคารพระหว่างที่บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนฉายภาพยนตร์
การกระทำครั้งนี้ได้สร้างความไม่พอใจต่อผู้ชมคนหนึ่ง จึงได้เกิดการด่าทอ ขว้างปาสิ่งของ และขับไล่นักศึกษาทั้งสองออกจากโรงภาพยนตร์ ซึ่งในขณะเกิดเหตุ ผู้ชมภายในโรงภาพยนตร์ได้ช่วยกันปรบมือโห่ขับไล่นักศึกษาทั้งสองคนด้วย
ภายหลังโชติศักดิ์ได้เข้าแจ้งความที่สถานีปทุมวัน ให้ดำเนินคดีกับผู้ชมคนดังกล่าวในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายหมิ่นประมาท และทำให้เสียทรัพย์ ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดฯ และทะเลาะกันอื้ออึงในที่สาธารณสถาน
ขณะที่ผู้ชมภาพยนตร์ที่ถูกแจ้งความข้อหาทำร้ายร่างกาย ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ให้ดำเนินคดีกับโชติศักดิ์และเพื่อน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาจากกรณีที่คนทั้งสองไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์
ภายหลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะพยานหลักฐานมีไม่เพียงพอ จนสามารถชี้ชัดได้ว่าทั้งคู่มีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ อีกทั้งผู้ต้องหาทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
5. ออกข้อสอบที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
ปี 2550 ผศ. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ออกข้อสอบอัตนัย วิชาอารยธรรมไทย ตัวอย่างคำถามเช่น “ท่านคิดว่าสถาบันกษัตริย์มีความจำเป็นสำหรับสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร และต้องปรับตัวอย่างไรให้เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตย”
หลังจากนั้น อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรรายหนึ่ง กล่าวหาว่า ผศ.บุญส่งหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ และขอให้ ผศ.บุญส่ง ส่งกระดาษคำตอบของนักศึกษามาด้วยแต่ ผศ.บุญส่งปฏิเสธ เพราะเป็นการละเมิดสิทธินักศึกษา ภายหลังตำรวจมีคำสั่งไม่ฟ้อง
6. ทำท่าทางประกอบปราศรัยที่มีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
ยศวริศ ชูกล่อม (เจ๋ง ดอกจิก) เป็นนักแสดงตลกและเป็นแกนนำคนสำคัญของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน
ตอนหนึ่งของการปราศรัย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553 ยศวริศได้พูดประกอบท่าทางในลักษณะชี้นิ้วขึ้นฟ้าที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ทั้งนี้ คำตัดสินของศาลระบุว่าแม้ยศวริศ จะไม่ได้ระบุว่าคำพูดดังกล่าวหมายถึงใคร แต่เมื่อพิจารณาจากท่าทางที่ยศวริศทำประกอบ โดยยศวริศแสดงท่าทางด้วยการเอามือหนึ่งชี้ขึ้นฟ้า ขณะที่อีกมือหนึ่งปิดปากตนเอง เป็นการสื่อให้เห็นว่ากำลังพูดถึง ‘บุคคลที่สูงส่งยิ่ง’ แต่ขณะที่จำเลยกล่าวปราศรัยโจมตีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น กลับไม่มีการแสดงท่าทางดังกล่าว
7. ขายซีดีสารคดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
เอกชัย หงส์กังวาน จำหน่ายซีดีสารคดีจากช่องเอบีซี ออสเตรเลีย เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมแจกจ่ายเอกสารจากเว็บไซต์วิกิลิกส์ ในที่ชุมนุมของกลุ่ม ‘แดงสยาม’ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 ทำให้เอกชัยถูกกล่าวหาโดย พันตำรวจโทณฐกร คุ้มทร้พย์ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 และขายซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาต
เอกชัยต่อสู้ถึงเจตนาของการเผยแพร่เนื้อหาเหล่านี้เพื่อให้ประชาชนทราบว่า ต่างชาติมองประเทศไทยอย่างไร และเนื้อหาไม่ได้ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี เพราะเชื่อว่าเนื้อหาเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และปรับ 1 แสนบาทฐานขายซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน เพราะให้การเป็นประโยชน์
8. หาเสียงเข้าข่ายหมิ่นประมาท
13 กรกฎาคม 2529 วีระ มุสิกพงศ์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวีระกานต์) รมช.มหาดไทยในขณะนั้น ได้ปราศรัยช่วยผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยทำการโฆษณาหาเสียงผ่านทางเครื่องขยายเสียงเพื่อสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์
สรุปข้อความตอนหนึ่งของการหาเสียงว่า “หากตนเลือกเกิดเองได้ จะไปเกิดในพระบรมมหาราชวังนั่น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระ”
ต่อมา เชิดชัย เพชรพันธ์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งของพรรคสหประชาธิปไตย เขตกรุงเทพมหานคร ได้ทำการกล่าวหาว่า วีระกานต์ ทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ศาลฎีกาได้พิพากษาว่ามีความผิดมาตรา 112 จำนวน 2 กระทงรวมจำคุก 4 ปี อย่างไรก็ตาม หลังจำคุกได้หนึ่งเดือน วีระก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ
9. หมิ่นพระนเรศวรมหาราช
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักวิชาการอาวุโสได้ร่วมอภิปรายในเวทีวิชาการหัวข้อ ‘ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง’ จัดโดยกลุ่มสภาหน้าโดม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 11 ธันวาคม 2550 ระหว่างการอภิปราย สุลักษณ์พูดถึงประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯ โดยระบุทำนองว่า ‘การทำยุทธหัตถีอาจไม่มีจริง’
ภายหลังการอภิปราย สุลักษณ์ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระนเรศวร ดูหมิ่นสถาบัน แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ฟ้องร้องได้ สุดท้ายอัยการไม่สั่งฟ้อง
10. หมิ่นพระเกียรติรัชกาลที่ 4
ณัชกฤช จึงรุ่งฤทธิ์ ได้จัดรายการวิทยุชุมชน ‘ช่วยกันคิดช่วยกันแก้’ ออกอากาศในวันที่ 5 เมษายน 2548 กระจายเสียงในพื้นที่ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี
เนื้อหาสรุปได้ว่า ณัชกฤชทำการดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 ว่ามีการปกครองที่ไม่ดี ไม่มีอิสระ ต้องเป็นทาส ซึ่งคำพูดเหล่านี้ศาลตัดสินว่าทำให้รัชกาลที่ 4 เสียพระเกียรติ ส่งผลให้ประชาชนไม่เคารพสักการะ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง
ภายหลังศาลได้ตัดสินให้ จำคุก 4 ปี แต่จำเลยให้การสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง 1 ปี รวมทั้งให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 12 ชั่วโมง