‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมและผลกระทบที่เกิดขึ้น ถือเป็นหายนะสำหรับมวลมนุษยชาติ’
เท็ด คาซินสกี (Ted Kaczynski) หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ยูนาบอมเบอร์’ (Unabomber) ผู้ก่อการร้ายก่อเหตุป่วนสหรัฐฯ เป็นเวลา 17 ปี โดยการส่งพัสดุติดระเบิด คร่าชีวิตเหยื่อไป 3 รายและบาดเจ็บอีก 23 ราย กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังการเสียชีวิตของเขาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2023 ในเรือนจำกลาง เมืองบัตเนอร์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ด้วยวัย 81 ปี จากการฆ่าตัวตาย
สิ่งหนึ่งที่ผู้คนจดจำเกี่ยวกับเท็ดได้พอๆ กับเหตุสะเทือนขวัญที่เขาก่อไว้ทั่วสหรัฐฯ คือแนวคิด อุดมการณ์และเป้าหมายของเขา ที่เมื่อฟังในเวลานั้น ทุกคนก็เห็นตรงกันว่าเข้าข่ายคนบ้าเสียสติ แต่ดูเหมือนว่าข้อวิพากษ์ที่เขามีต่อสังคมสมัยใหม่และการพัฒนาเทคโนโลยี จะสอดคล้องกันจนน่าขนลุก เมื่อสังคมในปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาครอบงำเราในทุกย่างก้าว อย่างที่เขากล่าวไว้ไม่มีผิด
The Momentum ชวนผู้อ่านทุกคนรู้จักกับภูมิหลัง การก่อเหตุและแนวคิด ของอดีตอาจารย์คณิตศาสตร์ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ผู้สาบานว่าจะทำลายระเบียบสังคมสมัยใหม่ เพื่อให้มนุษย์ได้กลับสู่วิถีธรรมชาติ
อัจฉริยภาพและดาบสองคมของ เท็ด คาซินสกี
ธีโอดอร์ คาซินสกี เกิดที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เมื่อปี 1942 ในครอบครัวชนชั้นแรงงานเชื้อสายโปแลนด์ ในช่วงวัยประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น เท็ดเป็นเด็กปกติทั่วไปสามารถเข้าสังคมได้ บางครั้งเขาก็ได้เป็นผู้นำในกลุ่มเพื่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขามีพรสวรรค์ด้วย เช่น ทักษะและความฉลาดที่สูงลิ่ว เท็ดมีไอคิวสูงถึง 167 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) และสตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking)
แต่หลังจากช่วงมัธยมศึกษาเป็นต้นมา เขากลับไม่สามารถเข้าสังคมกับเด็กโตได้ ซ้ำร้ายยังโดนรังแกอยู่เป็นประจำ โดยเพื่อนร่วมชั้นเรียนคนหนึ่งพูดถึงเท็ดว่า “คนอื่นมักจะไม่ได้มองเขาในฐานะมนุษย์ทั่วไป แต่มักมองว่าเขาเป็นสมองเดินได้มากกว่า”
หลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาที่เอเวอร์กรีนปาร์กคอมมูนิตี้ไฮสคูล (Evergreen Park Community High school) โดยการข้ามชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เท็ดได้รับทุนการศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดในด้านคณิตศาสตร์ด้วยวัยเพียง 16 ปี เขาได้เข้าร่วมการทดลองของ เฮนรี เมอร์เรย์ (Henry Murray) นักจิตวิทยา ทำให้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสภาพจิตใจของเขา
ผู้ร่วมการทดลองจะถูกขอให้เขียนบทความเกี่ยวกับปรัชญาและแนวคิดส่วนตัว โดยบอกว่าจะนำบทความเหล่านี้ไปถกเถียงกับนักศึกษารายอื่นๆ แต่ความจริงแล้วบทความเหล่านี้จะถูกนำไปให้บุคคลที่สามด่า ว่า รังแก และด้อยค่า โดยใช้เนื้อหาจากบทความ ในขณะที่ผู้เข้าร่วมจะถูกวัดปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาจากขั้วไฟฟ้า
เท็ดต้องผ่านการทดลองที่โหดร้ายนี้ทุกสัปดาห์ เป็นเวลา 3 ปี รวมเป็นเวลากว่า 200 ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า การทดลองนี้ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเท็ดอย่างมาก แม้ว่าต่อมาเขาจะปฏิเสธว่า ผลกระทบของการทดลองนี้ไม่เกี่ยวข้องต่อแนวคิดและการกระทำของเขาก็ตาม
หลังจากเท็ดเรียนจบในปี 1962 และเรียนต่อปริญญาโทในสาขาเดิมที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เท็ดเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเรขาคณิตและแคลคูลัส ที่มหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วยอายุเพียง 25 ปี น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ก่อนที่เขาจะหมดแพสชันและลาออกใน 2 ปีให้หลัง แล้วย้ายไปอาศัยอยู่ในกระท่อมกลางป่าที่รัฐมอนแทนา ทำให้เขาพบความสุขจากการใช้ชีวิตตามวิถีธรรมชาติ
แต่แล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็มาถึง เมื่อชีวิตในกระท่อมแสนสุขของเขาต้องถูกรบกวนจากโครงการตัดถนนผ่านป่าที่เขาอาศัยอยู่ นี่ถือเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้เขาเริ่มลุกขึ้นเอาคืนสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘สังคมสมัยใหม่’
การก่อเหตุและการถูกจับกุม
เมื่อปี 1978-1995 เท็ดสังหารผู้คนไป 3 ราย และทำให้บาดเจ็บอีก 23 ราย จากการส่งพัสดุบรรจุระเบิดประดิษฐ์ไว้ด้านใน ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่คือคนที่เท็ดมองว่ามีส่วนเร่งพัฒนาสังคมอุตสาหกรรม เช่น ผู้บริหารบริษัทค้าไม้ น้ำมัน สายการบิน คอมพิวเตอร์ และนักวิชาการด้านเทคโนโลยีตามมหาวิทยาลัยต่างๆ
เป็นเวลานับ 17 ปี ที่ชาวอเมริกันต้องหวาดผวากับการเปิดกล่องพัสดุ กระทั่งเท็ดถูกจับเพราะการกระทำเพื่ออุดมการณ์ของเขา เมื่อเขาเรียกร้องให้สำนักพิมพ์ระดับประเทศ เช่น นิวยอร์กไทมส์ และวอชิงตันโพสต์ เผยแพร่บทความของเขาโดยแลกกับการไม่ส่งพัสดุบรรจุระเบิดเพิ่ม ซึ่งต่อมาสำนักพิมพ์ดังกล่าวยอมตกลง หลังเจ้าหน้าที่รัฐแนะนำว่า การเผยแพร่บทความ 3 หมื่นคำของเท็ดน่าจะช่วยให้สืบหาคนร้ายได้ง่ายขึ้น
ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อ เดวิด คาซินสกี (David Kaczynski) น้องชายของเท็ดสังเกตถึงความคล้ายคลึงทางภาษาระหว่างยูนาบอมเบอร์กับพี่ชายเขา เท็ดจึงถูกจับกุมตัวได้ในที่สุด ในวันที่ 3 เมษายน 1996
เท็ดถูกสั่งลงโทษจำคุกตลอดชีวิต 8 ครั้ง โดยไม่มีทัณฑ์บน ในคุกเอดีเอ็กซ์ฟลอเรนซ์ (ADX Florence) รัฐโคโลราโด ซึ่งเป็นการลดโทษลงมาจากโทษประหารชีวิต เพราะยอมรับสารภาพสิ่งที่ทำลงไป หลังจากก่อนหน้านั้น เขาปฏิเสธคำแก้ต่างของทนายของเขาว่า ตัวเขาวิกลจริต
สังคมอุตสาหกรรมและอนาคต: ความจริงที่น่ากลัวจากความคิดของฆาตกรเสียสติ
เคยลองคิดถึงชีวิตประจำวันที่เป็นอยู่ของตัวเราไหม การตื่นเช้า เปิดโทรศัพท์ จ้องหน้าจอ ไถฟีดที่อัลกอริทึมมอบให้ อาบน้ำ แปรงฟัน กินอาหารอย่างรวดเร็ว เพื่อเข้างานให้ทัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน เพื่อจะได้มีเงิน มีหน้ามีตาในสังคม เสร็จแล้วก็กลับบ้านพักผ่อน ดูหนัง ฟังเพลง หาของอร่อยกินตามคนแนะนำในอินเทอร์เน็ต จบวันก็นอน และชีวิตก็วนเวียนเช่นนี้ไม่รู้จบ
ซึ่งหากพิจารณาโดยถี่ถ้วน จะพบว่าชีวิตประจำวันของเรา กำลังโดนสังคมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีพรากเสรีภาพไปจากเราโดยไม่รู้ตัว
เมื่อย้อนกลับมาสู่ความคิดของเท็ด แม้จะมีจุดอ่อนหลายประการ เช่น การมองแบบขาวดำ คือ ธรรมชาติเท่ากับดี เทคโนโลยีเท่ากับชั่ว แต่ความคิดของเขา ยังเป็นเสียงที่น่านำมาวิเคราะห์ว่า ทำไมมนุษย์คนหนึ่งจึงมีแนวคิดเช่นนี้ เพื่อให้เราเริ่มตั้งคำถามถึงสภาพสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะการวิพากษ์เทคโนโลยี สังคมอุตสาหกรรม ผลกระทบต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม เขาเชื่อว่าเทคโนโลยีอย่างการพัฒนาอุตสาหกรรมและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ นั้นคุกคามเสรีภาพส่วนบุคคล ความสุขของมนุษย์และโลกธรรมชาติ
เท็ดโต้แย้งว่าการพัฒนาเทคโนโลยีนำไปสู่การสูญเสียอิสรภาพส่วนบุคคล การควบคุมทางสังคมที่เพิ่มขึ้น การสูญเสียความหมาย และเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต โดยเขาเสนอว่า ผู้คนในยุคเผด็จการก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีเสรีภาพมากกว่าผู้คนในสังคมที่อ้างว่า ‘เป็นประชาธิปไตย’ แต่อยู่ในสังคมอุตสาหกรรม เพราะเผด็จการยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ควบคุมผู้คนในทุกแง่มุมของชีวิตได้เท่าในปัจจุบัน
ในทางกลับกัน เขาเสนอว่าหนทางสู่เสรีภาพ คือการ ‘หวนคืนสู่ธรรมชาติ’ และกลับไปใช้ชีวิตที่เรียบง่ายเหมือนในยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งชุมชนมีขนาดเล็กและพึ่งพาตนเองได้ สามารถทวงคืนอิสรภาพส่วนตนและกลับไปใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติได้
เท็ดเชื่อว่าหนทางเดียวที่ช่วยให้มนุษยชาติรอดพ้นภัยจากเทคโนโลยีได้ คือการปฏิวัติโดยใช้ความรุนแรงเพื่อให้สภาพสังคมสมัยใหม่พังทลายลง จนเกิดภาวะอนาธิปไตย ที่ซึ่งเขาเชื่อว่าจะปลดปล่อยให้มนุษย์กลับไปใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติได้
ถึงความคิดของเท็ดจะเขียนขึ้นราว 20 ปีที่แล้ว แต่กลับสะท้อนสภาพสังคมปัจจุบันได้มากกว่ายุคไหนๆ จากเทคโนโลยีต่างๆ ที่คอยบงการชีวิตเราโดยไม่รู้ตัว อัลกอริทึมที่คอยป้อนความคิดและความต้องการให้เราจนไม่สามารถแยกได้ว่า สิ่งที่เราต้องการมาจากเจตจำนงเสรีหรือการปั่นหัวโดยเทคโนโลยี
ระบบข้อมูล ระบบสอดแนม และสังคมสมัยใหม่ คอยบีบบังคับและขัดเกลาผู้คนให้ต้องทำตามความต้องการของสิ่งที่เท็ดเชื่อว่าคือ ‘สถาบันอันทรงอำนาจในสังคม’ เช่น รัฐบาลและทุน จนเหลือพื้นที่ความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพส่วนบุคคลน้อยเต็มทน
จนเมื่อผู้คนเกิดภาวะซึมเศร้า และสูญเสียเป้าหมายของชีวิตจากผลกระทบของสิ่งเหล่านี้ สังคมได้เพียงมอบยาแก้โรคซึมเศร้าให้กินไปวันๆ โดยไม่ยอมแก้ปัญหาที่ต้นตอแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังพยายามกล่าวโทษบุคคล แทนที่จะยอมรับว่าสังคมสมัยใหม่นั้นเน่าเฟะ ต้องแก้ไขด่วนที่สุด
แต่เกิดความย้อนแย้ง เมื่อเท็ดเลือกใช้วิธีการอันป่าเถื่อน โดยการพรากเสรีภาพจากชีวิตและร่างกายของผู้บริสุทธิ์ ในนามของเสรีภาพในแบบที่เขาคิดขึ้นเอง นอกจากจะเป็นการลดทอนทฤษฎีของเขาให้เป็นเพียงทฤษฎีบ้าๆ ของฆาตกรเสียสติคนนึง แต่ยังเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สุดที่มนุษย์เดินดินคนหนึ่งควรได้รับ คือเสรีภาพต่อชีวิตและร่างกาย
ท้ายที่สุดแล้ว แม้เทคโนโลยีและโลกสมัยใหม่จะเน่าเฟะดังที่เท็ดวิพากษ์ไว้ แต่สังคมก็มีทางเลือกการมองไปข้างหน้าและหาทางอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีในรูปแบบที่ต่างไปได้ แทนที่จะย้อนเวลากลับ
ไปสู่อดีตอันลุ่มหลงแบบที่เท็ดคิด
อ้างอิง
https://www.nytimes.com/2023/06/10/us/unabomber-ted-kaczynski.html
https://www.history.com/topics/crime/unabomber-ted-kaczynski
https://theanarchistlibrary.org/library/ole-martin-moen-the-unabomber-s-ethics
https://www.theguardian.com/us-news/2023/jun/11/unabomber-ted-kaczynski-died-by-suicide-report
https://www.youtube.com/watch?v=ATkjT79gNzM&list=WL&index=31
Tags: The Industrial Society, Unabomber, Ted Kaczynski