ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 47 ออกเป็นที่เรียบร้อย ปรากฏว่า โดนัล ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิคัน (Republican Party) สามารถคว้าชัยเหนือคู่แข่งอย่าง กมลา แฮร์ลิส (Kamala Harris) จากพรรคเดโมแครต (Democrat Party) ด้วยคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College: EC) ด้วยเสียง 295 ต่อ 226 เสียง
โดยหนึ่งในแนวนโยบายสำคัญที่ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่จากพรรครีพับลิกันจะดำเนินการทันที เพื่อลดระดับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสุงขึ้นในช่วงภายใต้การบริหารงานของ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน นั่นคือ ‘ยุติภาวะเงินเฟ้อ’ และ ‘ลดการขาดดุลการค้า’ ผ่านมาตรการปรับเพิ่มภาษีศุลกากรขาเข้า (Across-The-Board Tariffs) จาก 10% เป็น 20% และสำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศจีนจะอยู่ที่ระดับ 60-100%
เมื่อวานนี้ (6 พฤศจิกายน 2567) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทความวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทย ที่จะได้รับผลกระทบจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยระบุว่า ชัยชนะของทรัมป์สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจของไทย
จากนโยบายกีดกันทางการค้าในภาพรวมและการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของโลกยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย
ในระยะสั้นไทยอาจจะได้รับประโยชน์จากการเร่งนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพื่อชดเชยสินค้าจากจีน เช่น เซมิคอนดัคเตอร์ (Semiconductor) ถุงมือยาง น้ำผลไม้ และอุปกรณ์โทรทัศน์ แต่ในอนาคตการส่งออกของไทยอาจเสี่ยงจะถูกมาตรการปรับเพิ่มภาษีศุลกากรขาเข้า เนื่องจากไทยมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 12 จากคู่ค้าทั้งหมด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองอีกว่า ไทยอาจได้รับอานิสงส์บางส่วนจากการย้ายฐานการผลิต แต่ผลยังไม่เกิดในระยะสั้น เนื่องจากผลของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังประเทศต่างๆ นั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ทันทีด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ประกอบการต้องพิจารณาเงื่อนไขในการลงทุนทั้งเรื่องต้นทุนและโอกาสการสร้างรายได้
นอกจากเหตุผลข้างต้น ผู้ประกอบการยังต้องพิจารณาว่า อาจถูกเรียกเก็บภาษีจากสหรัฐฯ เป็นเท่าใด มีเข้าข่ายเป็นบริษัทจีน หรือมีความเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของจีนมากน้องเพียงใดด้วย
สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในกลุ่มการผลิตรถยนต์และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไทย แต่ยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ที่เข้ามาลงทุนและเดินสายการผลิตในไทยก่อนหน้า เพราะส่วนใหญ่เป็นยานยนต์สัญชาติจีน ทำให้จะส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้ลำบากมากขึ้น
ขณะที่สินค้ากลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยก็อาจเสี่ยงถูกเรียกเก็บภาษีมากขึ้น เช่นแผงโซลาร์เซลล์ นอกจากนั้นไทยก็ยังมีความเสี่ยงเชิงโครงสร้างเดิม ทั้งทักษะแรงงาน สัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในการผลิต และความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ที่เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมนี้
ในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเคมีภัณฑ์ วัสดุการก่อสร้าง สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีแนวโน้มที่ต้องเผชิญการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนมากขึ้นต่อเนื่อง จากสภาวะสินค้าที่ผลิตในจีนเกินกว่าความต้องการในประเทศ (Oversupply) และการปรับเพิ่มภาษีศุลกากรขาเข้าที่สูงขึ้น ทำให้จีนต้องหาตลาดส่งออกเพื่อระบายสินค้ามากขึ้น ส่งผลให้เพิ่มการแข่งขันระหว่างสินค้าไทยกับสินค้าจีนสูงขึ้นตามไปด้วย
Tags: ส่งออก, เศรษฐกิจ, ภาษี, จีน, ทรัมป์, เลือกตั้งสหรัฐ