“ทักษิณกลับไทย สะท้อน ‘ดีล’ อะไร”

“ท่าทีของพรรคเพื่อไทยควรจะเป็นอย่างไรในการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว?”

“ควรรอให้ ส.ว. หมดวาระหรือไม่? แล้วค่อยตั้งรัฐบาล แล้วรอไหวไหม”

ที่ยกมาข้างต้นนี้ อาจเป็นหนึ่งในหลายคำถามจากหลายวงสนทนาเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองอันร้อนระอุของประเทศไทยในปัจจุบันที่พลิกขั้วไป-มาตลอดเวลาทุกวัน

หลากหลายความเห็นนำไปสู่ข้อถกเถียงถึงการจัดตั้งรัฐบาลในหลายทิศทาง ซึ่งมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ มากไปถึงคาดเดาไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไรในสถานการณ์ที่สามารถพลิกออกได้ทุกหน้าเช่นนี้

The Momentum ชวนคุยกับ ธเนศวร์ เจริญเมือง ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องการรอการหมดวาระของเหล่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลทางการเมืองโดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล การกลับมาของ ทักษิณ ชินวัตร มากไปถึงความหวังที่ประชาธิปไตยของไทยจะเบ่งบานจากทิศทางต่อจากนี้

จากสถานการณ์ ‘การจัดตั้งรัฐบาล’ ในปัจจุบัน ที่ดูเหมือนจะติดล็อก บีบให้พรรคเพื่อไทยต้องเปลี่ยนขั้ว หรือรออีก 10 เดือนให้ ส.ว. หมดวาระ แล้วให้ระบบการเมืองเดินไปตามปกติ พรรคฝ่ายประชาธิปไตยควรเดินตามโจทย์ไหน

ในทางจิตวิทยา เรื่องเร็วเรื่องช้าอาจจะไม่สำคัญขนาดนั้น แต่ถ้าเราลองไปอีกสัก 2-3 ครั้งกระบวนการเรียนรู้อาจดีขึ้น ทั้งจากนักการเมืองที่มีคุณภาพและประชาชนที่เอาใจช่วยก็คงมาค่อนๆ ช่วยกันดูว่าที่เป็นอยู่ติดอะไรตรงไหน ผมคิดว่าเดี๋ยวก็หยุด คงไม่ซัดกันไปเป็นเดือนเป็นปีอย่างที่ว่าหรอก

ในด้านหนึ่ง คนจำนวนหนึ่งอาจจะไม่ทน อีกส่วนหนึ่งก็อาจจะไม่ใช่ไม่ทน แต่รู้สึกว่าก็คงไม่รอคนบางคนแล้ว แล้วก็ยกประเด็นเรื่องความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจมาพูด ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยได้ยินแต่ตอนนี้เอาใหญ่เลยนะครับแหม เป็นห่วงเป็นใยประชาชนกันจัง โดยไม่เคยดูปัญหาบ้านเมืองเลยว่า เอ้า แล้ว 9 ปีมาแล้วพวกคุณทำอะไรกัน ทำให้บ้านเมืองเป็นถึงขนาดนี้ไม่เห็นว่าอะไรเลย

ผมจึงคิดว่า 2-3 เดือน จึงเป็นช่วงเวลาที่แต่ละฝ่ายได้คิด ได้มองกันว่าใครจริงใจใครไม่จริงใจ แล้วก็ใครจะมีภูมิ มีความอดทนหรือวุฒิภาวะทางการเมืองมากกว่ากัน สิ่งสำคัญอีกอย่างคือจำแนกปัญหาดีๆ ว่าต้นตออยู่ที่ไหนกันแน่ แทนที่ฝ่ายประชาธิปไตยที่บอกว่ารักประชาธิปไตยจะมาทะเลาะกันเอง ซึ่งมันไม่ถูกต้อง

เรื่องที่สองก็คือ ผมไม่แน่ใจนะว่าการมาของคุณทักษิณจะทำให้อะไรๆ ดีขึ้นไหม แต่ผมก็เชื่อว่าถ้าเป็นบรรยากาศของความสมานฉันท์ มานั่งคุยกันดีๆ ทุกฝ่ายได้ แล้วก็ไม่ทำอะไรที่เกินไป ตัวอย่างเช่น ฝ่ายต่างๆ มารวมตัวกันแล้วบอกว่าเราไม่เอาพรรคก้าวไกล ทั้งที่เขาได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่แปลกมากในสังคมว่าทำไมคนกล้าหาญขนาดนี้ ผมเชื่อว่าจะมีการนั่งคุยกันโดยใช้สติปัญญา ใช้เหตุใช้ผลดีกว่าที่เป็นอยู่กว่าที่เราทะเลาะกันมาเป็นระยะเวลาหลายวันแล้ว 

การที่คนทะเลาะกันอยู่ในตอนนี้ ถึงจะบอกว่าตนเองเป็นฝ่ายเดียวกันแค่เชียร์คนละพรรค อาจารย์มองว่าสิ่งนี้เป็นไปในทิศทางไหน มีประโยชน์ไหมกับการทะเลาะกันแบบนี้

เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ฝ่ายที่คาดคะเนว่าตัวเองจะได้ที่หนึ่งกลับไม่ใช่พรรคที่ชนะที่หนึ่งในวันนี้ เพราะฉะนั้นความเสียใจก็ต้องทวีคูณเป็นธรรมดา อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าเขาจะสุขุมกว่านี้ในการนั่งคุยเสวนากัน แล้วก็คิดกันให้ดีว่าปัญหาที่จริงอยู่ที่ไหนและจะแก้อย่างไร

สำหรับการจัดตั้งรัฐบาล ผมก็คิดว่าพูดกันจริงๆ แล้วนี่เป็นโอกาสที่งดงามมากสำหรับการจับมือกันของฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ใช่มาทะเลาะกันแล้วไปฟังคนอื่นซึ่งเขาไม่เคยใยดีต่อประชาธิปไตยเลย เพราะฉะนั้น ถ้ามีหัวใจรักประชาธิปไตย รักประชาชน เราจะไม่ปล่อยให้บางพรรคส่งเสียงดังมากว่า ไม่เอาคนนี้ๆ ซึ่งผมคิดว่ามันตลกทั้งในสายตาคนไทยและต่างประเทศ ที่คนได้ที่หนึ่งเขาเผชิญชะตากรรมแบบนี้ การพูดแบบนี้คือดูถูกประชาชนเหมือนเขาไม่มีสมองคิดอะไรไม่เป็นเลย ทำไมจึงเลือกคนแบบนี้

มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการกลับมาของทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 10 สิงหาคมที่จะถึงนี้

คุณอิ๊งค์เคยพูดว่า ถ้าคุณพ่อจะกลับมาจะแจ้งหนูเป็นคนแรก แล้วคุณอุ๊งอิ๊งค์ก็ทำสิ่งนี้ตามที่ได้รับข่าวมา ก็แสดงว่าน่าจะจริง

ผมคิดว่าคุณทักษิณก็เป็นนักการเมืองฝีมือดีคนหนึ่งในการจัดการบริหารอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นคือถ้าบอกล่วงหน้าสามวันน่าจะเร็วไป เพราะคงต้องการการเตรียมการต่างๆ มากมาย 

ต่อมาก็คือว่า อาจจะมีการฟังข่าวทางโน้นทางนี้กันแล้วก็อาจจะบอกว่า เอ๊ย อุณหภูมิไม่เหมาะนะอย่าเพิ่งมา ก็เป็นไปได้หมดสำหรับคนเก่งแบบนี้คนที่มีลีลานำแบบนี้ ผมคิดว่าสิ่งนี้น่าจะทำให้อารมณ์ความรู้สึกของพี่น้องจำนวนมากในประเทศนี้สมหวังเพราะคิดถึงมานาน แล้วก็น่าจะมีเรื่องอื่นมาเกี่ยวพันด้วย ซึ่งผมเองคาดคะเนไว้อย่างหนึ่งว่า เอ๊ะ นี่เป็นบรรยากาศของนายกคนเก่าที่อยู่มาตั้ง 9 ปีอำลาการเมือง เอ้อ แล้วคนที่เขาจะมานี่มีความหมายไหม น่าสนใจเปิดประเด็นนี้กัน แล้วก็เรื่องอื่นๆ ผมเชื่อว่า ในยามที่พรรคเพื่อไทยเองก็กำลังเผชิญมรสุมหลายความคิดแตกกัน ผมคิดว่าเขาต้องมาคุยกันเรื่องพวกนี้แน่ๆ เลย

ต้องพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เคยชนะมา 20 ปีแล้วบัดนี้มาพ่ายแพ้ แล้วพรรคที่ได้ที่หนึ่งก็บอกว่าตั้งรัฐบาลไม่ได้ด้วยกฎเกณฑ์กติกาตลกๆ บางอย่าง โหวตห้ามเกินหนเดียวอะไรแบบนี้ มันก็ต้องคุยกันคิดกัน อย่างท่านประธานสภา ท่านวันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา) ก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ที่เก่งมาก มีประสบการณ์ที่เรียกได้ว่าเชี่ยว แล้วก็พูดจาดีมาตลอด แต่เป็นประธานครั้งแรกก็พลาดในเรื่องญัตติ เอ๊ะ ได้ยังไง แปลกเนอะ จริงๆ แล้วผมก็ได้แต่ตั้งความหวังมากว่าท่าจะออกมาขอโทษเร็วๆ นี้ จะลบผิดให้เป็นถูกซะ เป็นไปได้ไหม ในเมื่อมันขัดรัฐธรรมนูญ

เพราะฉะนั้นผมก็คิดว่าบรรยากาศแบบนี้เนี่ย นักประชาธิปไตยแบบคุณทักษิณ นักประชาธิปไตยแบบคุณวันนอร์ พรรคก้าวไกลที่ได้ที่หนึ่ง เห็นไหม นี่นักประชาธิปไตยโดดเด่นของประเทศไทยทั้งนั้นเลยนะครับที่เอ่ยๆ หรือรวมไปถึงอนาคตใหม่ที่ถูกระบอบเก่าทำร้ายเอาจนกระทั่งต้องกลายเป็นพลเมืองธรรมดาที่ไม่มีสิทธิลงการเมือง นักประชาธิปไตยดีๆ ทั้งนั้นเลย เอ๊ะ ทำไมไม่หันหน้ามามองกันแล้วก็คุยแลกเปลี่ยนกันช่วยกันทำให้บ้านเมืองมันดีขึ้น

สุดท้ายนะครับ ผมคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาประชาธิปไตยล้าหลังยิ่งกว่าประเทศใดๆ ในโลก เพราะว่าเรารวมศูนย์อำนาจมากโดยชนชั้นปกครองก็ผูกขาดอำนาจมาตลอด แล้วก็มีการปรับเปลี่ยนบ่อย เดี๋ยวรัฐประหาร เดี๋ยวเลือกตั้ง สลับไปสลับมาแบบนี้นานจนคนจะเบื่อกันหมดแล้ว

วันนี้คนไทยน่าจะมีวุฒิภาวะเพียงพอในการคิดตรงนี้ แล้วก็การที่มีพรรคที่ว่ากันว่า ไม่ได้จ่ายเงินซื้อเสียงเลยแต่ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่หนึ่งเป็นปีที่หนึ่งของการเลือกตั้ง ทั้งยังได้คะแนนดีด้วย ไปไหนก็มีแต่คนต้อนรับ ถ้าอย่างนั้น เราก็ต้องใช้โอกาสดีๆ เหล่านี้มานั่งคุยกันดีๆ ได้ไหม

มีบรรยากาศข่าวดีมาว่าคนๆ หนึ่งก็เหมือนจะรู้สึกตัวประกาศไม่เล่นการเมือง แล้วก็อีกคนหนึ่งซึ่งถูกการเมืองทำร้ายกำลังจะกลับมา ก็เป็นบรรยากาศดีๆ ทั้งนั้นเลยนะครับ ซึ่งสื่อมวลชนก็มีโอกาสดีๆ ในการจัดรายการดีๆ คนไทยก็ควรจะมีโอกาสดีๆ อย่างนี้ได้มาพบปะปรึกษากันพูดคุยกันต่างๆ แล้วก็สร้างบทเรียนใหม่ๆ ให้กับสังคมของเรา ให้การเคลื่อนผ่านอันนี้ให้เป็นไปอย่างเรียบๆ ง่ายๆ งดงาม แล้วก็มีความหมาย เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่ามันจะสองเดือน สามเดือน สี่เดือนก็ว่ากันไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่นั่งหน้าบึ้งอย่างเดียวแล้วไม่ทำอะไรไม่ใช่ แต่จะร่วมมือกันสร้างสรรค์ แล้วถึงตอนนั้นเวลาผ่านไปมันติดตรงไหนอยู่ก็ค่อยตัดสินว่า อืม มันนานเหลือเกินควรหยุดได้แล้ว แบบนี้ดีกว่าไหม

ในบรรยากาศตอนนี้ที่ฝ่ายประชาธิปไตยทะเลาะกัน คุณยังคงมองว่าประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานอยู่หรือ

ครับ ผมเห็นด้วยว่ากำลังเบ่งบาน แต่ปรากฏว่ามันเบ่งบานในเรื่องบางเรื่องที่บางทีมันก็เวอร์ไปนิดหนึ่ง ใช่ไหมครับ อย่างกรณี พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ที่ออกมาตำหนิพรรคก้าวไกล คือท่านมีเสรีภาพในการพูดเต็มที่ได้ แต่ผมก็คิดว่าบางทีการพูดของท่านบางอย่างมันก็ต้องมาดูกันว่า อย่างคนที่ได้ที่หนึ่งเขาสะท้อนอะไร หรือว่าด้อมส้มเขาคิดอะไร มันต้องแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผล ถ้าคุณวิจารณ์ด้อมส้มอย่างนี้เขาก็มีสิทธิวิจารณ์คุณกลับเหมือนกัน 

มันเป็นบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนกัน ผมดีใจที่คุณเสรีพิศุทธ์พูด แล้วผมก็ฟัง ผมก็คิดว่ามันคงได้เวลาที่เราจะจัดเวทีมาคุยกันให้มันชัดๆ เพราะว่าให้สัมภาษณ์สื่อสื่อก็ได้แต่ฟังเฉยๆ เพราะสื่อเถียงไม่ได้ งั้นเรามาจัดเวทีคุยกันดีไหมจะได้เรียนรู้อะไรจากกัน ผมคิดว่าเป็นบรรยากาศที่ดีมาก เพราะฉะนั้นก็กลับไปประเด็นแรกที่คุณถามผม สามสี่เดือนเนี่ย ผมคิดว่าเพียงพอในการเรียนรู้ประชาธิปไตยจากกันและกัน ส่วนเวลานานๆ ไปผมคิดว่าทุกฝ่ายก็อาจจะคิดว่า คงได้เวลาแล้ว พับแขนเสื้อลงมือทำงานดีกว่า ตั้งรัฐบาลกันก่อน 

ถ้าหากรอ 3-4 เดือน เราคิดว่าสถานการณ์มันก็อาจจะดีขึ้น หรือเราอาจจะฟังกันมากขึ้น แต่ว่า ส.ว. ยังคงไม่หมดวาระ นั่นก็เลยเป็นที่น่ากังขาว่ามันจะเป็นอย่างไร

ก็ไม่เป็นไร ก็ดีเหมือนกัน ผมคิดว่าปัญหาหนึ่งที่เราไม่ได้คุยกันมาตลอดก็คือ คนที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ฟังเสียงประชาชนใช่ไหม? แล้วถึงเวลานั้นควรรู้สึกกันหรือยัง คนที่มาจากการเลือกตั้งรู้ไหมว่าทุกวันนี้ที่เราหันหลังโกรธกันนั่นใช่ปัญหาจากพวกเรานะ มันเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างระบบที่ไม่ให้ฝ่ายที่มาจากเสียงข้างมากของประชาชนเป็นคนจัดการบ้านเมืองต่างหาก

ทั้งหมดนี้อยู่ในกรอบที่ผิดด้าน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมาคุยกันว่าอันไหนอยู่ตรงไหนแน่ แล้วถึงตอนนั้นผมเชื่อว่าคนจะกระจ่างมากขึ้นว่า อย่ามีอีกเลยการแต่งตั้ง อำลาเถอะ เรามาสร้างประชาธิปไตยที่ดีกว่านี้ดีกว่า นั่นก็คือเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเถอะ

พรรคเพื่อไทยควรมีท่าทีอย่างไรหากเลือกจับกับกลุ่มขั้วอำนาจเก่า

ถ้ากำลังเจรจากันอยู่ ผมไม่เห็นความจำเป็นใดๆ เลยที่จะพูดแล้วพูดอีกว่า ‘ไม่เอาก้าวไกลๆ’ ซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างนี้ ก็คุยกันไปจนครบแล้วแล้วค่อยว่าก็ได้ แต่เมื่อเนื้อหาครบกันแล้ว การบอกว่าไม่เอาก้าวไกลมันไม่ใช่ข้อเสนออะไรเลย ถ้าพูดแบบนี้ไม่ต้องเจอกันยังได้เลย แค่ยกหูบอกก็จบ แต่ว่าการเจรจาอย่างอื่น เช่น ประเด็นที่ต้องถอย สมมติอย่างบอกว่าไม่เอาก้าวไกล ก็บอกว่าเพราะ มาตรา 112 สุดท้ายมาเปลี่ยน อ้าว จะถอยได้อย่างไร เมื่อพรรคการเมืองมาพบกันแล้ว ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเหมือนกันทั้งนั้น แล้วมาบอกว่าเราไม่เอาคุณ เราไม่ชอบเรื่องของคุณ ผมว่าถ้าอย่างนั้นคุณก็ตั้งรัฐบาลของคุณเองเถอะ

ผมก็คิดว่าเพื่อไทยเองก็น่าจะกล้าหาญแบบนี้เหมือนกัน คือถ้าสมมติตั้งรัฐบาลของคุณเถอะอย่ามาคุยกับเราแบบนี้เลย คือไม่เอาเลย ไม่เอาอะไรสักอย่าง ไม่ได้เจรจาเลย หรือสมมติง่ายๆ ภูมิใจไทยกับก้าวไกลจะมานั่งคุยกัน จุดต่างของคุณอยู่ตรงไหน คุยกันได้หรือเปล่า ในเมื่อพรรคหนึ่งก็ได้คะแนนเป็นอันดับสาม อีกพรรคหนึ่งได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง แล้วถ้าพูดออกมารวมๆ เลยว่าไม่เอาเลย แบบนี้ผมก็คิดว่างั้นมันก็คุยกันยากแล้ว ใช่ไหมครับ และเพื่อไทยในฐานะพรรคที่อยู่ตรงกลางผมจึงคิดว่า ถ้าคุณเอาฝ่ายหนึ่งแล้วไม่เอาอีกฝ่ายหนึ่งด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ชอบกันอย่างนี้ ผมคิดว่ามันเด็กมาก ผมคิดว่าเพื่อไทยน่าจะมีน้ำอดน้ำทนมั่นคงและมองอะไรไกลกว่านี้

หากเพื่อไทยเลือกจับมือกับกลุ่มอนุรักษนิยมเก่า รัฐบาลชุดเก่า คิดว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะออกมาเป็นรูปแบบไหน

แน่นอนอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าพรรคจำนวนหนึ่งใน 8 พรรคร่วมตอนนี้คงถอนตัวเพราะเขารู้สึกว่ามันไม่ใช่สายธารประชาธิปไตย ยิ่งถ้ามีคนที่ไปเกี่ยวกับการทำรัฐประหารมาก่อน หลายคนเขาไม่ลืม เพราะฉะนั้นคงมีคนจำนวนหนึ่งถอนตัว แล้วก็อย่างที่เขียนๆ กันในสื่อว่าควรจะมีพรรคไหนบ้างมาร่วมตั้งรัฐบาลอย่างที่ว่า ก็เดินหน้าตามนั้นล่ะ

บางพรรคเขาก็พูดตลอดเวลาว่าเขายินดีไปเป็นฝ่ายค้าน แต่ว่า ก่อนจะไปเป็นขอให้คุยกันด้วยหลักการและเหตุผลดีกว่า หรือถ้าไม่เอา ก็คือว่าจะเขี่ยเขาออก เขาก็บอกว่าตามนั้นเลย ใช่ไหมครับ ในเมื่อไม่รักกันแล้วมันก็ต้องหย่ากันเท่านั้นแหละ

แต่ว่าก้าวไกลเขาบอกเขายังรักอยู่นั่นคือเขาไม่ออก ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งอยากจะออกก็ทำเลยซึ่งก็เป็นการจากกันด้วยดีนั่นล่ะใช่ไหมครับ ก็ไม่เป็นไร โลกความเป็นจริงก็เป็นแบบนี้แหละ

‘เพื่อไทย’ จะทิ้ง ‘ก้าวไกล’ ไหม

ผมคิดว่าเพื่อไทยเขาก็คงคิดเหมือนกันนะ เพราะฉะนั้นการที่ไม่มีการประชุมตอนนี้ก็สะท้อนเหมือนกันว่าขอเวลาให้คิด หรือเราจะไปรู้ได้ยังไงเขาอาจจะนั่งคุยกันแล้ว 

เอางี้ ผมยังมีความหวังนะ ผมเรียนตรงไปตรงมานะว่า ให้ผมพยากรณ์มันยากมากเลยว่าจะได้ไหม แต่ผมจะพูดอย่างนี้ว่า ผมคิดว่าคนรักประชาธิปไตยด้วยกัน ต่อสู้มายากลำบากแล้วต้องเผชิญเผด็จการหลายรูปแบบมากในรอบตั้งแต่ปี 2549 มา น่าจะคิดให้ดีๆ ว่าเราจะถนอมร่วมมือกันสร้างประชาธิปไตยมายังไงที่เสียไปจนถึงบัดนี้ แล้วถ้าจะทำก็ต้องคิดให้มากว่าคุณจะสูญเสียอะไรไปบ้าง

ถ้าหลังจาก ส.ว. หมดวาระอีก 10 เดือน คิดว่าทางกลุ่มอนุรักษนิยมขั้วอำนาจเก่าจะมีการรับมืออย่างไรไหม เขาคงไม่ปล่อยให้หมดวาระไปเฉยๆ

รัฐธรรมนูญเขียนว่าให้มี ส.ว. ต่อใช่ไหมครับ ถึงจะเลือกชุดใหม่แต่ผมคิดว่าเขาก็ยังพยายามหาคนอย่างที่เป็นพวกเขามาอีก การแต่งตั้งมันเป็นอย่างนี้แหละ มันถึงมีปัญหามาตลอด เพราะเหมือนไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ไม่ฟังเสียงประชาชน ผมเห็นด้วยที่คุณถามมาว่าเขาต้องเตรียมการไหม แน่นอนเขาต้องเตรียมการ ก็คงต้องคัดเลือกคนที่แน่ใจว่าจะมาอยู่ข้างเดียวมาช่วยกันผลักดันระบบการแต่งตั้งต่อไป 

ส.ว. ยังจำเป็นอยู่ในระบบรัฐสภาไหม 

แน่นอนว่าไม่สมควรอยู่แล้ว ตลอดว่าหลายปีที่ผ่านมาระบบนี้สร้างปัญหาขนาดไหน มันสร้างปัญหาถึงขั้นว่าแม้แต่ฝ่ายประชาธิปไตยยังหลงไปทะเลาะกันเองเลย ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องที่เราควรมาทะเลาะกันอย่างนี้ด้วยซ้ำ เหมือนเป็นกับดักหลุมพราง 

มันเกิดขึ้นด้วยรัฐธรรมนูญมันถึงทำอะไรไม่ได้เลย ในแง่หนึ่งมันก็ถูกต้องแล้วที่ฝ่ายประชาธิปไตยบอกว่า ‘ถ้างั้นเราต้องแก้รัฐธรรมนูญ’ ก็จบ

ถ้าจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ที่ ส.ว. ไม่ยกมือออกเสียงสนับสนุนให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลกับอุปสรรคทางการเมืองตอนนี้อย่างไรบ้าง

เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นข้าราชการ เป็นนักบริหารชั้นสูง อยู่ดีๆ เขาก็ได้รับตำแหน่งอันเป็นเกียรติยศของวงศ์ตระกูล ได้เงินเดือนมาตั้งสองสามแสน แล้วยังมีผู้ช่วยอีก 4-5 คน เมื่อเจอคำเรียกร้อง วิงวอน บังคับขู่เข็ญจากผู้ใหญ่ที่ตัวเองสนิทสนมมาว่า ‘อย่าเลือก’ พรรคการเมืองไหน บุคคลใดเป็นนายก มันก็ปฏิเสธยาก

บางคนก็มีวิธีแก้ปัญหาของเขา บางคนก็ยืนขึ้นสนับสนุนอย่างไม่สนอะไรทั้งสิ้น บางคนใช้วิธีลาออก แต่ก็มีอีกบางคนที่มาแล้วก็ไม่ขานชื่อ ไม่ลงชื่อ ก็เลยทำให้คนที่เป็นแบบนี้แล้วอีกส่วนหนึ่งก็คือ ไม่ลงเสียง งดออกเสียง หรือไม่มาดีกว่า แต่ก็อย่างที่เรียนเมื่อครู่ว่า ถ้าถูกบีบบังคับทางสังคมมากๆ ก็อยู่ไป แต่พี่น้องประชาชนไทยเสียภาษีทุกครั้ง ไม่ไปเลือกตั้งโดนตัดสิทธินั่นตัดสิทธินี่ แต่การเลือกนายกสำคัญขนาดนี้คุณกลับออกเสียงหรือคุณกลับไม่มาแล้วไม่มีโทษอะไรเลย ผมว่าไม่ถูก

Tags: , , , , , ,