วันนี้ (14 เมษายน 2568) จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลสรุปของคณะกรรมการติดตามมาตรการทางภาษีสหรัฐอเมริกา โดยการประชุมดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงต่างๆ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต่างๆ ตลอดจนผู้ส่งออกและนำเข้าด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ภายใต้ยุทธศาตร์ ‘สร้างความสมดุลทางการค้าและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน’
จิรายุกล่าวว่า รัฐบาลไทยมีความพร้อมในการพูดคุย โดยข้อมูลทั้งหมดถูกรวบรวมมาตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน ผ่านการหารือระหว่างรัฐบาลและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าจะเป็นการปูทางสู่การเจรจาเชิงลึกระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในระดับต่างๆ ต่อไปในอนาคต
สำหรับแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลไทยต่อนโยบายการค้าและมาตรการด้านภาษีของสหรัฐฯ ประกอบด้วย 5 หลักการ ดังนี้
1. การเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมที่ไทยและสหรัฐฯ เกื้อหนุนกัน รัฐบาลไทยเห็นว่า ความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพร่วมกัน เช่น เกษตรกรรม อาหารและเทคโนโลยีเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเลี้ยงสัตว์ ซึ่งไทยมีความสามารถในการผลิตและสามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกได้มากขึ้น หากมีการเสริมวัตถุดิบจากสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพดที่มีต้นทุนต่ำและมีคุณภาพสูง
2. เปิดตลาดและลดภาษี ลดอุปสรรคทางการค้าตามรายงานอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (National Trade Estimate 2025) ของสหรัฐฯ รัฐบาลไทยพร้อมพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีนำเข้า และบริหารโควตาสินค้าเกษตรที่สหรัฐฯ มีความสามารถในการแข่งขัน เช่น ข้าวโพด เพื่อเปิดตลาดในลักษณะที่ไม่กระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศ โดยจะจัดสรรนำเข้าในช่วงที่สินค้าขาดแคลน
3. เพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ ในสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ รัฐบาลไทยเตรียมพิจารณาการนำเข้าพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติ วัตถุดิบด้านปิโตรเคมี และเครื่องบินพาณิชย์ เพื่มเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานของประเทศ รวมทั้งสินค้า เช่น ชีส วอลนัต เชอรี่ และแอปเปิล เพื่อสร้างสมดุลด้านการค้า ลดการได้เปรียบดุลการค้าของทั้ง 2 ประเทศ
4. เพิ่มความเข้มงวดสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ ป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม รัฐบาลไทยตระหนักถึงความกังวลของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าราคาต่ำจากประเทศที่สามผ่านไทย เพื่อเลี่ยงภาษี รัฐบาลจึงจะมีมาตรการคัดกรองสินค้าต้นทาง ตรวจสอบแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวด และยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยให้โปร่งใสและเป็นไปตามหลักสากล
5. ส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ รัฐบาลไทยมีแผนผลักดันให้ภาคเอกชนไทยลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปในสหรัฐฯ โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ผลิตสินค้าส่งออกจากการผลิตในสหรัฐฯ ไปยังตลาดโลก ช่วยกระจายความเสี่ยงและลดแรงต้านด้านการค้าและสร้าง Value Chain ใหม่ที่เข้มแข็ง
ทั้งนี้ข้อสรุปดังกล่าวจิรายุระบุว่า ได้รายงานต่อแพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยนายกฯ ย้ำว่า ให้คณะเจรจาดำเนินการให้เต็มที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมของระหว่างไทยและสหรัฐฯ
โดยกำหนดการการเข้าเจรจากับทางการของสหรัฐฯ จิรายุเปิดเผยว่า ในวันที่ 17 เมษายน 2568 พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยคณะเจรจาจะเดินทางไปยังเมืองซีแอตเทิล (Seattle) ประเทศสหรัฐฯ เพื่อเข้ากับนักธุรกิจกลุ่มต่างๆ จากนั้นในวันที่ 20 เมษายน พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเดินทางเข้าไปสมทบในฐานะ ‘ทีมไทยแลนด์’ เพื่อเตรียมเข้าพบกับผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (Washington, D.C.) ในวันที่ 21 เมษายน 2568
Tags: ส่งออก, ขึ้นภาษี, Donald Trump, รัฐบาล, ภาษี, การค้า, สงครามการค้า, ภาษีนำเข้า, โดนัล ทรัมป์, แพทองธาร