วันนี้ (9 พฤษภาคม 2568) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI นำส่งผลสรุปการดำเนินงานของบริษัทฯ ประจำไตรมาส 1 ปี 2568 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,839 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 306.1%

ในเอกสารนำส่งงบการเงินระบุว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 บริษัทมีเครื่องบินที่ใช้ดำเนินการทั้งหมด 78 ลำ ครอบคลุมเส้นทางการบินกว่า 62 จุดใน 27 ประเทศทั่วโลก และมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 4.33 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 11.6%

ขณะที่อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ของบริษัทในไตรมาส 1 ปี 2568 อยู่ที่ 83.3% ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ทำให้บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวมกว่า 51,625 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 5,670 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.3%

จากผลกำไรของบริษัทส่วนใหญ่ที่ 9,839 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 0.35 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่บริษัทมีกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 1.10 บาท เนื่องจากจำนวนหุ้นสามัญของบริษัทเพิ่มขึ้นจากการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ โดยปัจจุบันสถานะของบริษัทมีทรัพย์สินรวมทั้งหมด 297,753 ล้านบาท มีหนี้สินรวมอยู่ที่ 242,314 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2567 จำนวน 4,605 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังมีรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของการบินไทย ลงนามในหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ เรื่องการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อแจ้งผลการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู และขอให้ศาลสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ภายหลังบริษัทดำเนินการครบถ้วนในประเด็นที่กำหนดไว้ เช่น การเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัท, การดำเนินการไม่ผิดนัดชำระ, บริษัทมี EBITDA ในช่วง 12 เดือนก่อนยื่นคำร้องออกจากแผนฟื้นฟูไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท และการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ ซึ่งการบินไทยได้มีการแต่งตั้งแล้วเสร็จ ณ วันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามปัจจุบันหลายฝ่ายยังมีความกังวลถึงจำนวนของกรรมการบริษัทที่มีตัวแทนจากภาครัฐมากถึง 7 คน จากรายชื่อกรรมการทั้งหมด 11 คน ซึ่งทำให้เกิดข้อกังวลว่าบริษัทจะมีการบริหารจัดการแบบรัฐวิสาหกิจ และเสี่ยงที่จะถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองหรือไม่

โดยประเด็นดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุความกังวลกับสำนักข่าวฐานเศรษฐกิจว่า ในทางทฤษฎีหากอุตสาหกรรมใดไม่มีการผูกขาด ภาครัฐ ‘ไม่สมควร’ เข้ามาแทรกแซง ดังนั้นกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ควรขายหุ้นออกไปเป็นของเอกชนทั้งหมด เพื่อให้บริษัทดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกับสายการบินทั่วโลก

อ้างอิง

https://www.set.or.th/th/market/news-and-alert/newsdetails?id=96334201&symbol=THAI

https://www.thansettakij.com/business/tourism/626671 

Tags: , , , ,