วันนี้ (24 มีนาคม 2568) ที่อาคารรัฐสภา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 โดยระบุว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลถูกขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ของพวกพ้อง ใช้งบประมาณอย่างสะเปะสะปะ ตลอดจนไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาของประชาชน
ณัฐพงษ์อภิปรายตอนหนึ่งว่า รัฐบาลชุดนี้เริ่มต้น ตั้งอยู่ และเดินหน้าต่อเพื่อให้เกิด ‘ดีลแลกประเทศ’ ซึ่งมีผลประโยชน์ของตระกูลชินวัตรเป็นแกนกลาง ขณะที่ผลประโยชน์ต่อกลุ่มทุนและเครือข่ายทางการเมืองเป็นแกนรอง วันนี้พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่า พรรคเพื่อไทยหลอมรวมกับกลุ่มอำนาจเดิมที่ใช้วิธีการจัดการผลประโยชน์ ตลอดจนใช้ช่องทางหากินผ่านระบบราชการเช่นเดียวกัน
ผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายต่อไปว่า ดีลแลกประเทศในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการแลกผลประโยชน์ของประเทศ โดยขยายความว่า การมีอยู่ของ ‘รัฐบาลแพทองธาร’ ทำให้ต้องจ่ายต้นทุนทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่แพงมากยิ่งขึ้น
ในด้านการเมือง ณัฐพงษ์ระบุว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำให้ความเป็นประชาธิปไตยถดถอยลง อีกทั้งยังโดนนานาชาติประณามจากกรณีส่งตัวชาวอุยกูร์ไปยังประเทศจีน
ขณะที่ด้านเศรษฐกิจที่ประชาชนคาดหวังว่า รัฐบาลจะเข้ามาแก้ไขปัญหา กลับไม่เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจตามที่เคยคาดหวังไว้ จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5% ต่อไปกลับเหลือเพียง 2.5% ทำให้ประเทศไทยเติบโตรั้งท้ายของอาเซียน
ผู้นำฝ่ายค้านยังอภิปรายถึงแพทองธารในฐานะผู้นำรัฐบาลเพิ่มเติมอีกว่า เป็นคนรุ่นใหม่แต่ขาดความรู้ความสามารถ ขาดวุฒิภาวะ ตลอดจนขาดเจตจำนงทางการเมือง เช่น การตอบคำถามสื่อมวลชนที่ระบุว่า ค่าเงินบาทแข็งตัวจะช่วยให้การส่งออกดีขึ้น หรือการเลี่ยงตอบคำถามค่าไฟแพง แต่นายกฯ กลับตอบเพียง Merry Christmas ต่อสื่อมวลชนเท่านั้น
“6 เดือนที่ผ่านมา เราเคยเห็นการผลักดันอะไรที่นายกฯ เป็นผู้นำตัวจริง หรือผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้บ้าง ตั้งแต่เรื่องฝุ่น PM2.5 ไปจนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหลือแต่การลอยตัวหนีปัญหา ไม่สน ไม่แคร์ ความเดือนร้อนของประชาชน
“เมื่อรวมกับทักษิณ ผู้นำนอกระบบ และแพทองธาร ผู้นำในระบบแล้ว ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ 2 ต่อ เพราะมีคนกำหนดวาระที่ทำงานลอยตัว ไม่ต้องรับผิดชอบ กับคนที่ถืออำนาจรัฐแต่ขาดคุณสมบัติ
“ผมอยากให้ตระหนักเสมอว่า การกระทำของทุกท่านส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ท่านจะทำตัวแบบนายกฯ ที่มาจากรัฐประหาร มองการเมืองในสภาฯ เป็นเรื่องน่ารำคาญ มองวาระในสภาฯ เป็นก้อนกรวดในรองเท้า มองนักการเมือง สส.เป็นเพียงจำนวนนับให้ท่านจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้” ณัฐพงษ์ตำหนิ
ณัฐพงษ์ยังกล่าวถึงการ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ของรัฐบาลว่า ประชาชนหมดหวังกับรัฐบาลชุดนี้ เพราะ 6 เดือนที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วผ่านพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่พรรคเพื่อไทยถอยไม่เป็นท่า ตลอดจนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่คว่ำโดย สส.เพื่อไทย
“ชัดเจนแล้วว่า พรรคเพื่อไทยหลอมรวมเป็นพวกเดียวกับพวกเขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมขัดขวางการปฏิรูปกองทัพทุกรูปแบบ ประชาชนหมดหวังกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” ณัฐพงษ์กล่าว
ขณะที่เรื่อง ‘กระบวนการยุติธรรม’ ณัฐพงษ์อภิปรายว่า ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ได้รับความยุติธรรมจากคดีตากใบ ที่นายกฯ ไม่เร่งรัดติดตามการจับกุมจำเลยที่หลบหนีออกนอกประเทศ แต่กลับกันนายกฯ ตัวจริงนอกระบบกลับได้รับสิทธิอยู่บนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ อยู่เหนือระบบยุติธรรม
สำหรับเรื่อง ‘รัฐธรรมนูญฉบับใหม่’ ผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายว่า เป็นฉันทมติของสังคม แต่นายกฯ กลับลอยตัว ควบคุมเสียงฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ ทำให้ประชาชนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ทันการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าอย่างแน่นอน ประเทศต้องสูญเสียอีกครั้งกับการอยู่กับกติกาที่ร่างโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และไม่ดำเนินการแก้ไข แต่ดำรงไว้โดยรัฐบาลแพทองธาร
“ดีลแลกประเทศในครั้งนี้มีคนเพียงไม่ถึง 1% ที่ได้รับผลประโยชน์ แม้จะต้องทำลายล้างระบบนิติรัฐ ระบบนิติธรรม หรือกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศ ไปถึงการยอมให้ประเทศไทยถูกแช่แข็ง เศรษฐกิจล้าหลัง ทิ้งซากปรักหักพังให้คน 99% ในประเทศนี้ ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทุกมิติ ปัญหาสำคัญๆ ของประเทศยังไม่ได้รับการแก้ไข
“เราจะต้องแลกหรือเสียอะไรไปอีกเท่าไรจากการที่มีแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ต่อไป สิ่งที่พวกเราได้รับ แต่กลับทำให้พวกเราอ่อนแอลง ไม่กล้าฝัน ไม่กล้าหวังกับอนาคตที่ดีกว่า ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ที่เกิดขึ้นจากการจัดตั้งภายใต้ดีลแลกประเทศ ไม่มีแล้ว 2 ก๊ก หรือ 3 ก๊ก เหลือก๊กเดียวเท่านั้น คือพรรคร่วมคณะรัฐประหารที่กลายเป็นพวกเดียวกัน หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” ณัฐพงษ์กล่าวทิ้งท้าย
Tags: ณัฐพงษ์, ดีลแลกประเทศ, รัฐธรรมนูญ, เศรษฐกิจ, กระบวนการยุติธรรม, นายกรัฐมนตรี, อภิปรายไม่ไว้วางใจ, ประชุมสภา, แพทองธาร, แพทองธาร ชินวัตร, พรรคประชาชน