ลองสมมติสถานการณ์ต่อไปนี้

คุณเป็นพลเมืองตื่นตัวที่ชอบตั้งคำถามและติดตามการดำเนินนโยบายสาธารณะ วันหนึ่งคุณโพสต์วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐมนตรีคนหนึ่งลงเฟซบุ๊ก เมื่อเขามาเห็นเข้าก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ส่งทนายมาฟ้องคุณในข้อหาหมิ่นประมาท

คุณปรึกษาทนายแล้วคิดว่าจะสู้คดี เพราะไม่เห็นว่าตัวเองทำผิดกฎหมายหมิ่นประมาทตรงไหน คิดว่าสิ่งที่คุณโพสต์เป็นการแสดงความคิดเห็นปกติของคนทั่วไป และคุณก็รู้สึกเหลือเชื่อมากที่ผู้มีอำนาจรัฐจะหันมาเล่นงานประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย

เรื่องดำเนินไปถึงชั้นศาล ทนายยื่นขอประกันตัว ศาลไม่ให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า

“กลัวจำเลยกระทำความผิดซ้ำข้อหาเดิม”

ในฐานะจำเลย คุณจะคิดอย่างไรกับการให้เหตุผลแบบนี้ของศาล

คุณจะคิดว่า ศาลให้เหตุผลถูกต้องแล้ว หรือจะคิดว่าศาลตัดสินไปล่วงหน้าแล้วว่า คุณ ‘กระทำผิด’ ทั้งที่คุณยืนกรานว่าคุณบริสุทธิ์ ยังรอโอกาสสู้คดีในชั้นศาล

ถ้าคุณคิดว่า เหตุผลแบบนี้ของศาลใช้ไม่ได้ เพราะเท่ากับศาล ‘ฟันธง’ ล่วงหน้าไปแล้วก่อนการพิจารณาคดีว่าคุณ ‘กระทำผิด’ คุณจะยังมีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับความยุติธรรมจากตุลาการคนนี้อยู่หรือไม่

ลองสมมติต่อไปอีกว่า วิบากกรรมของคุณยังไม่จบเพียงเท่านี้

ทนายของคุณยื่นขอประกันตัวอีก 5 ครั้ง ศาลก็ไม่อนุญาตทุกครั้ง โดยให้เหตุผลสั้นๆ ว่า ‘ยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง’

พอยื่นประกันครั้งที่ 7 หลังจากที่คุณอยู่ในคุกมาเดือนเศษ ศาลเรียกทนายไปบอกว่าจะให้ประกันตัวคุณนะ แต่กำหนดเงื่อนไขว่า ‘ห้ามกระทำการตามที่ถูกฟ้อง หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง’ และ ‘ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อโจทก์’

ถ้าศาลยื่นเงื่อนไขเหล่านี้มา คุณจะคิดว่าศาลยุติธรรมดีแล้วหรือไม่ หรือคุณจะคิดว่าเงื่อนไขเหล่านี้คือ ‘คำสั่งปิดปาก’ ชัดๆ เพราะไม่เพียงแต่สั่งห้าม ‘กระทำการตามที่ถูกฟ้อง’ ซึ่งแปลว่าศาลฟันธงไปแล้วว่าการกระทำของคุณนั้นผิดกฎหมาย แต่ยังเหวี่ยงแหไปห้าม ‘เข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อโจทก์’ ทั้งที่กิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียนั้นกว้างเป็นทะเลและเป็นอัตวิสัยอย่างยิ่ง ไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับไหนทั้งสิ้น

คุณจะรู้ได้อย่างไรว่า การกระทำอะไรของคุณที่จะถูกตีความว่าเข้าข่ายสร้างความเสื่อมเสียต่อโจทก์บ้าง

ทนายยอมรับว่าเขาตอบไม่ได้ และในเมื่อคุณก็ไม่แน่ใจ ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือการหุบปากเงียบ ไม่พูดหรือโพสต์พาดพิงรัฐมนตรีคนนั้นอีก ถ้าไม่อยากถูกตำรวจหรือทนายโจทก์ร้องเรียนว่าคุณทำผิดเงื่อนไขประกัน ขอให้ศาลถอนประกัน

การหาเหตุมาอ้างไม่ให้ประกันตัว โดยบอกว่ากลัวจำเลยกระทำผิดซ้ำข้อหาเดิม จึงเท่ากับฟันธงล่วงหน้าไปแล้วว่าคุณ ‘กระทำผิด’ ส่วนการสร้างเงื่อนไข ‘ห้ามกระทำการตามที่ถูกฟ้อง’ ก็เท่ากับการ ‘ปิดปาก’ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ

ราวกับว่าคุณถูกศาลตัดสินและลงโทษ (ปิดปาก) ไปแล้ว ทั้งที่กระบวนการพิจารณาคดียังไม่สิ้นสุด คุณยังเป็น ‘ผู้บริสุทธิ์’ ตามกฎหมาย!

ความเสี่ยงที่เราจะถูกกลั่นแกล้งระหว่างการพิจารณาคดี ถูกศาลที่มีอคติลิดรอนเสรีภาพเราก่อนที่จะมีคำตัดสินว่าเราผิดหรือไม่ผิด แถมการคุมขังก็ยังทำให้เราขาดโอกาสในการสู้คดีอย่างเป็นธรรม เพราะไม่อาจติดต่อหารือกับทนายหรือหาพยานหลักฐานได้โดยง่าย ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่ ‘สิทธิในการประกันตัว’ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในสังคมสมัยใหม่

เป็นหัวใจสำคัญของหลักการพื้นฐานที่ว่า ศาลต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ใช่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำผิด

สิทธิในการประกันตัวถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญไทยด้วย โดยในฉบับล่าสุด พ.ศ. 2560 เขียนในมาตรา 29 วรรคสาม ว่า “การคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนี”

เขียนชัดเจนว่าการคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลย (ก็คือศาลยังไม่ตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด) ให้ทำได้ ‘เท่าที่จำเป็น’ เพื่อ ‘ป้องกันการหลบหนี’ เท่านั้น

ไปขยายความต่อในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญาฯ) มาตรา 108/1 ว่า “การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้

1. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

2. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

3. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

4. ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

5. การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

หลายคนคงสงสัยว่า การอ้าง ‘เหตุอันควรเชื่อ’ ว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ซึ่งอยู่ใน ป.วิอาญาฯ มาตรา 108/1 แต่ไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญ แปลว่าอะไรกันแน่ มาตรฐานในต่างประเทศมองเรื่องนี้อย่างไร

โพสต์เฟซบุ๊กของ นันทน อินทนนท์ อดีตผู้พิพากษา (ต้นฉบับ https://www.facebook.com/papa.indananda/posts/10157656739191261) อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน ดังที่ผู้เขียนจะยกมาบางตอนดังนี้

“…แนวคิดในการป้องกันเหตุอันตรายที่จะเกิดขึ้นนั้น ประเทศไทยนำมาจากกฎหมาย Bail Reform Act of 1984 ของประเทศสหรัฐ ซึ่งกำหนดให้มีการคุมขังระหว่างพิจารณาเพื่อป้องกันอันตรายต่อชุมชน (danger to the community) อย่างไรก็ตาม กฎหมายไทยกลับมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแตกต่างจากกฎหมายในประเทศแม่แบบมาก ซึ่งนำไปสู่การตีความที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนและเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลอย่างร้ายแรง

“..กฎหมาย Bail Reform Act ไม่ได้ให้ความหมายของคำว่า ‘Danger to the Community’ แต่ได้กำหนดปัจจัย (Factors) หลายประการที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าจะให้ประกันหรือไม่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีหลายประการ แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ การกระทำความผิดที่ถูกกล่าวหา (Offence) นั้นเป็นอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง (crime of violence) อาชญากรรมการก่อการร้าย (crime of terrorism) การกระทำความผิดที่เด็กเป็นผู้เสียหาย (crime involving minor victim) การกระทำความผิดเกี่ยวกับสารเคมีควบคุม  (controlled substance) การใช้อาวุธ ระเบิดหรือการทำลายล้าง (firearm, explosive, or destructive device ) หรือไม่ ฐานความผิดเหล่านี้ทั้งหมดล้วนแต่เป็นการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทางกายภาพต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นทั้งสิ้น (physical force against the person or property of another)

“เห็นได้ว่า เหตุที่กฎหมายจะยกเว้นไม่ให้มีการประกันตัวนั้นต้องเป็นไปเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อบุคคลหรือทรัพย์เท่านั้น ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง หรือความมั่นคงของรัฐที่รัฐเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น ความหมายของ ‘อันตรายประการอื่น’ จึงไม่ได้หมายความถึงความผิดใดๆ ก็ได้ หรือความผิดที่ได้เคยถูกฟ้องมาแล้ว อย่างที่มีบางท่านออกมาอธิบาย

“การตีความกฎหมายไทยว่า ‘เหตุอันตราย’ นั้นหมายความถึงการกระทำความผิด (Offence) ใดๆ ก็ได้ระหว่างการปล่อยชั่วคราว จึงทำให้กฎหมายของไทยนั้นไม่สอดคล้องกับกฎหมายระดับสากล

“ในสหรัฐฯ นั้น ศาลจะไม่เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ต้องหาหรือจำเลย การจะคัดค้านการประกัน รัฐต้องมีหน้าที่ในการนำสืบข้อเท็จจริงว่าหากศาลให้ประกัน ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นจะไปก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่นหรือสังคม รัฐต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งและน่าเชื่อถือมาแสดง ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะไปคาดหมายเช่นนั้นเอง และไม่ใช่หน้าที่ของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะต้องมานำสืบให้ศาลเห็นว่าหากตนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ตนจะไม่หลบหนีหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ย่อมขัดกับหลักสันนิษฐานความบริสุทธิ์อย่างชัดแจ้ง

“เมื่อเปรียบเทียบมาตรฐานตามกฎหมายสหรัฐฯ ที่ประเทศไทยใช้เป็นแม่แบบของกฎหมายกับกฎหมายไทยตามมาตรา 108/1 แล้ว ย่อมเห็นได้ว่าประเทศไทยใช้มาตรฐานในการพิสูจน์ความเป็นไปได้ในการก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือสังคมในระดับที่ต่ำกว่ากฎหมายของสหรัฐฯ มาก ทั้งในทางปฏิบัติกลับกำหนดให้ภาระการพิสูจน์ตกแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยด้วย ซึ่งส่งผลโอกาสที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในประเทศไทยจะไม่ได้รับการประกันตัวมีมากกว่าในระบบของกฎหมายสหรัฐฯ มาก

“ตามกฎหมายสหรัฐฯ ในการพิจารณาว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่นั้น ศาลมีหน้าที่ต้องพิจารณาเงื่อนไข (Condition) ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขเดียวหรือเงื่อนไขหลายอย่างรวมกันเพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นต้องมาปรากฏตัวที่ศาลหรือเพื่อเป็นหลักประกันในความปลอดภัยของบุคคลและสังคม และหากศาลเห็นว่าไม่มีทางอื่นใดเลยที่จะป้องกันผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ให้หลบหนีหรือคุ้มครองความปลอดภัยของสาธารณะ ศาลจึงจะมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว

“ดังนั้น คำกล่าวที่ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีหน้าที่ต้องเสนอเงื่อนไข และศาลจะไปบังคับผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ให้กระทำการตามเงื่อนไขที่ศาลไม่ได้นั้น จึงไม่ถูกต้อง ไม่ว่าตามกฎหมายของไทยเองหรือมาตรฐานกฎหมายสากล”

พูดง่ายๆ ก็คือถ้าศาลจะไม่ให้ประกันโดยอ้างว่า กลัวผู้ต้องหา ‘จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น’ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะนำพยานหลักฐานมาแสดงว่า ‘มีเหตุอันควรเชื่อ’ ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ต้องหา เพราะผู้ต้องหาต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์

ส่วน ‘เหตุอันตรายประการอื่น’ นั้น ก็ต้องหมายถึงอันตรายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น กลัวว่าผู้ต้องหาจะไปทำร้ายพยาน ปาระเบิดใส่บ้านคน ฯลฯ ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็น หรือการแสดงออกอะไรที่ศาลเห็นว่า ‘อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย’ ซึ่งเป็นเรื่องอัตวิสัย ไม่ใช่ฐานความผิดตามกฎหมายใดๆ ด้วย

ด้วยเหตุนี้ การที่ศาลอ้างว่า ‘หากปล่อยตัวผู้ต้องหาอาจไปกระทำการใดๆ หรือก่อเหตุประการอื่น’ ในการไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญามาตรา 112 หลายคน ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงเป็นข้ออ้างที่เหมาโหลเหวี่ยงแหอย่างยิ่ง และส่อว่าศาลอาจมีอคติต่อผู้ต้องหา ซึ่งก็ขัดต่อหลักการ ‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์’

ที่แย่กว่านั้นคือบางคดีอ้างว่า ไม่ให้ประกันเพราะกลัวผู้ต้องหาจะ ‘ก่อเหตุอันตรายประเภทอื่น หรือกระทำความผิดซ้ำ’ – คำว่า ‘กระทำความผิดซ้ำ’ ส่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่าตุลาการตีความเอาเองไปแล้วว่าผู้ต้องหากระทำความผิด ทั้งที่ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการพิจารณาคดี

ส่วนการระบุเงื่อนไขที่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดี 112 หลายคนไว้ว่า ‘ห้ามกระทำการตามที่ถูกฟ้อง หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง’ และ ‘ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์’ นั้น นอกจากจะผิดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์อย่างชัดเจนแล้ว ยังเป็นการเหวี่ยงแหตีขลุมไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงออกด้วย เพราะ ‘การสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ’ ไม่ใช่การกระทำผิตตามกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น (และจะบัญญัติเป็นข้อกฎหมายก็ไม่ได้อยู่ดี เพราะเป็นอัตวิสัยและกว้างเกินกว่าจะกำหนดเป็นความผิดทางอาญาได้)

การให้เหตุผลในการไม่ให้ประกันตัว และการตั้งเงื่อนไขในการให้ประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดี 112 เช่นนี้ จึงผิดทั้งข้อกฎหมาย เจตนารมณ์ของกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชน

แถมยังเป็น ‘ตรรกะวิบัติ’ ชนิดให้เหตุผลเป็นวงกลม (Begging the Question) นั่นคือไม่ให้ประกันเพราะอ้างว่ากลัวไปกระทำความผิดซ้ำ นับเป็นการฟันธงล่วงหน้าไปเองในใจว่าผู้ต้องหา ‘กระทำผิด’ ไปแล้วจริงๆ ทั้งที่กระบวนการพิจารณาคดียังไม่สิ้นสุด

เท่ากับเอาสมมติฐานของตัวเอง เอาความเชื่อของตัวเองมาอ้างเป็นเหตุผลในการไม่ให้ประกัน แทนที่ใช้พยานหลักฐานจริงๆ มาประเมินว่า ผู้ต้องหามีแนวโน้มที่จะก่ออันตรายอย่างเป็นรูปธรรมต่อคนอื่นหรือไม่ ดังที่ใช้กันในมาตรฐานสากล

 

Tags: , , , ,