วันนี้ (20 เมษายน 2565) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) หน่วยงานวิชาการด้านการพัฒนาประเทศและการพัฒนาเมือง ได้เผยแพร่รายงาน ‘การประเมินผลงานผู้ว่าฯ อัศวิน และข้อเสนอแนะสําหรับผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่’ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อประเมินผลงานของ พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) คนที่ผ่านมา และจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไปใน 9 ด้าน ซึ่งหน่วยงานทั้งสองมีความเชี่ยวชาญ คือ การวางผังเมือง การจราจรและความปลอดภัย การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดการขยะมูลฝอย การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย การส่งเสริมทักษะเพื่อการประกอบอาชีพ การศึกษา และการรักษาพยาบาล

สำหรับด้าน ‘การเพิ่มที่สีเขียว’ นั้น เป็นด้านที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นหนึ่งในผลงานที่พลตำรวจเอกอัศวินประชาสัมพันธ์ว่า ‘กรุงเทพฯ เปลี่ยนไปแล้ว’ โดยตลอดการทำงาน 5 ปี 5 เดือน พลตำรวจเอกอัศวินระบุว่า ได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชาวกรุงเทพฯ จาก 6 ตารางเมตรต่อคน เป็น 7.3 ตารางเมตรต่อคน โดยมีการสร้างสวนสาธารณะเพิ่มเติมอีก 8 สวน หนึ่งในนั้นคือสวนขนาดใหญ่พื้นที่ 100 ไร่ อยู่ในพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือ ‘สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ’ ที่เขตบางบอน

อย่างไรก็ตาม รายงานของ TDRI และ UddC พบว่า นโยบายการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของ กทม. ในยุคผู้ว่าฯ อัศวิน นั้น ยังคงเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด และขยายความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ให้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โครงการ ‘ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต’ สะท้อนให้เห็นว่า ตามนโยบายดังกล่าว กทม. มักเน้นทุ่มงบประมาณไปกับโครงการขนาดใหญ่ และเมกะโปรเจกต์ 5 โครงการ ใน 4 เขตของย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง ซึ่งประกอบด้วยโครงการพัฒนาสวนสาธารณะ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงสวนลุมพินี เขตปทุมวัน ซึ่งมีงบประมาณสูงถึง 3,800 ล้านบาท และโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เขตสาทร ซึ่งมีงบประมาณสูงถึง 1,556 ล้านบาท โดยงบประมาณของโครงการทั้งสองสูงเกินกว่าโครงการสวนสาธารณะที่ผ่านมาของ กทม. อย่างมาก ทั้งที่เขตปทุมวันและเขตสาทร ซึ่งเป็นเขตใจกลางเมืองนั้น มีพื้นที่สีเขียวสูงกว่าทั้งค่าเฉลี่ยของกรุงเทพฯ และองค์การอนามัยโลก

นอกจากนี้ ข้อมูลของสํานักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม. ได้ชี้ให้เห็นว่า การที่ กทม. กำหนดงบประมาณเพื่อการปรับปรุงสวนลุมพินีและคลองช่องนนทรีไว้ถึง 5,356 ล้านบาท ทำให้ กทม. มีงบประมาณเหลือเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับเขตอื่นๆ เพียง 20 ล้านบาท เท่านั้น โครงการทั้งสองจึงไม่ช่วยลด แต่กลับจะขยายความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตต่างๆ และทำให้ประชาชนในเขตอื่น ต้องเดินทางเข้ามาใจกลางเมืองเพื่อใช้บริการสวนสาธารณะเช่นเดิม

สำหรับรายงานฉบับนี้ เสนอให้ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ชะลอการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวสูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำอยู่แล้ว และเร่งกระจายงบประมาณไปยัง 23 เขตที่ไม่มีพื้นที่สีเขียวที่ได้มาตรฐานที่สามารถใช้งานจริงได้เลย เช่น เขตบางนา เขตวังทองหลาง เขตวัฒนา และอีก 13 เขตที่มีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่า 3 ตารางเมตรต่อคน เช่น เขตพระโขนง เขตบางกะปิ เขตบางเขน เขตลาดพร้าว โดยหากนำงบประมาณ 5,356 ล้านบาท ที่ใช้ในการปรับปรุงสวนลุมพินีและคลองช่องนนทรีไปจัดสรรใหม่ในเขตที่ยังขาดแคลน แต่ละเขตจะได้งบประมาณกว่า 150 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังเสนอให้มียุทธศาสตร์ระดับเมือง ในการนำที่ดินรกร้าง หรือใช้ประโยชน์ที่ดินต่ำกว่าศักยภาพจริงมาปรับเปลี่ยน และยังระบุว่า การเปลี่ยนเมืองที่ใช้รถยนต์ให้เป็นเมืองที่ใช้ระบบรางเป็นหลัก จะทำให้ที่ดินสามารถปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ได้ โดยจากการศึกษาเชิงพื้นที่พบว่า กทม. มีโอกาสในการเพิ่มค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวต่อประชากรให้สูงขึ้นใน 3 แนวทาง ดังนี้

1. เพื่อบรรลุมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก 9 ตารางเมตรต่อคน ได้แก่ สามารถนำที่ดินต่างๆ อาทิ ที่ดินใต้ทางด่วน ที่โล่งตามผังเมืองรวมมาพัฒนาฟื้นฟูได้

2. เพื่อบรรลุขั้นต่ำตามมาตรฐานกรุงปารีส โดยมีพื้นที่สีเขียว 13 ตารางเมตรต่อคน สามารถนำพื้นที่ตามข้อ 1 เสริมด้วยพื้นที่ศาสนสถาน สถานที่ราชการ และสนามกอล์ฟ มาพัฒนาได้

3. เพื่อบรรลุขั้นต่ำ ตามมาตรฐานของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีพื้นที่สวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียว 19 ตารางเมตรต่อคน โดยที่ดินที่สามารถนํามาพัฒนาฟื้นฟูเพิ่มเติมจากพื้นที่สวนสาธารณะเดิมของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ พื้นที่ตามแนวทางที่ 2 เสริมด้วยพื้นที่ริมถนนสายประธานและสายรอง และพื้นที่สวนหลังคาอาคารขนาดใหญ่

“กทม. ควรพัฒนาพื้นที่สีเขียวตามแนวทางดังกล่าวในรูปแบบภาคีพัฒนา (Partnership) กับเจ้าของที่ดิน เช่น หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และศาสนสถานต่างๆ โดยไม่จําเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่ผ่านมามีการดําเนินการที่ประสบความสําเร็จหลายตัวอย่าง เช่น โครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ลานกีฬาพัฒน์ และวัดบันดาลใจ นอกจากนี้ กทม. สามารถส่งเสริมให้เอกชนรายใหญ่ที่เป็นเจ้าของอาคารมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สีเขียว เช่น พื้นที่สีเขียวบนหลังคาอาคาร โดยการออกข้อบัญญัติตามตัวอย่างของหลายมหานคร เช่น สิงคโปร์ ปารีส หรือหลายเมืองในสวิตเซอร์แลนด์” รายงานฉบับดังกล่าวระบุ

สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่: https://tdri.or.th/…/bangkok-governor-monitoring…/

Tags: