วันนี้ (10 ตุลาคม 2566) ที่รัฐสภา ถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หารือถึงวาระการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท โดยระบุตอนหนึ่งว่า นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่มีปัญหามาก ไม่ต้องด้วยกาลเทศะ เพราะเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้อยู่ในภาวะที่กระตุ้นอะไรมาก สิ่งที่จำเป็นในขณะนี้คือการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการเร่งเครื่อง
นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังมีปัญหา คือมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างหนี้จำนวนมากในอนาคต ในขณะที่วันนี้ เพดานก่อหนี้สูงและเสี่ยงต่อวินัยการเงินการคลังมากอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีแผนจะใช้งบประมาณในเรื่องทำนองนี้อีกมาก
ถวิลระบุอีกว่า นโยบายนี้ไม่มีความชัดเจนในการบริหาร หลายประเทศต่างก็ล้มเหลวมาแล้วด้วยนโยบายทำนองนี้ ขณะเดียวกัน บริษัทจัดอันดับในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น มูดีส์ เอ็นแอนด์พี หรือ ฟิทช์เรตติ้ง ต่างก็พูดตรงกันว่า รัฐบาลจะไม่สามารถรักษาเสถียรภาพหนี้สาธารณะได้ งบประมาณจะขาดดุลมากขึ้น กระทบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีและการจัดลำดับเครดิตประเทศ
“ที่สำคัญ นักวิชาการไทยด้านการเงินการคลัง 99 คน อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ต่างก็ออกมาคัดค้านด้วยเหตุผลอันน่ารับฟังว่า การดำเนินโครงการโดยอ้างว่าเป็นความต้องการประชาชนนั้นไม่ถูกต้อง ฉะนั้น อะไรที่เป็นพิษ รัฐบาลต้องไม่ตามใจประชาชน และนายกรัฐมนตรีเปรียบเหมือนหมอที่รักษาไข้ราษฎร หมอจะให้ยาพิษเคลือบยาพิษแก่คนไข้ไม่ได้ ประชาชนไม่อาจรับรู้พิษที่อาจเกิดจากนโยบายนี้ ถ้าเอาใจประชาชนแบบนี้ก็ไม่ต่างกับการยื่นยาพิษให้ประชาชนดับกระหาย”
ทั้งนี้ ถวิลยังได้แนะนำให้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล้าหาญ ยอมรับความจริง และสารภาพกับประชาชนว่า จะไม่ดำเนินการโครงการนี้อีกต่อไป
“การมุ่งมั่นทำโครงการนี้ต่อไปไม่ใช่ความกล้าหาญ หากแต่เป็นความดื้อรั้น ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นต่อคนเป็นนายกฯ การสารภาพต่อประชาชน การยอมถอยต่างหากถึงจะเป็นความกล้าหาญที่แท้จริง การยกเลิกไม่ได้ทำให้เสียหน้า ต่ำต้อยลง แต่จะได้รับการยกย่องและชมเชยอย่างแท้จริง”
Tags: ถวิล เปลี่ยนศรี