เมื่อวานนี้ (28 มีนาคม 2024) สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) รายงานว่า รัฐบาลตาลีบัน (Taliban) ในประเทศอัฟกานิสถาน ประกาศเตรียมใช้โทษประหารชีวิตด้วยการ ‘ปาหิน’ ใส่ผู้หญิงในที่สาธารณะ ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนวิจารณ์ประชาคมระหว่างประเทศถึงความนิ่งเงียบต่อกรณีดังกล่าว
ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มุลลาห์ ไฮบาตุลเลาะห์ อัคคุนด์ซาดาห์ (Mullah Hibatullah Akhundzada) ผู้นำสูงสุดของตาลีบัน ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อวิทยุว่า รัฐบาลอัฟกานิสถานจะลงโทษผู้หญิงที่ ‘คบชู้’ ด้วยการเฆี่ยนตีและปาหินจนเสียชีวิต ภายใต้กฎหมายชารีอะห์ (Shariah)
“พวกคุณบอกว่า การประหารชีวิตผู้หญิงด้วยการปาหินขัดต่อสิทธิมนุษยชนของสตรี แต่เราจะบังคับใช้กฎหมายนี้ หากผู้หญิงประพฤติผิดในกาม เราจะโบยพวกเธอในสาธารณะและขว้างหินจนถึงตาย”
อัคคุนด์ซาดาห์ให้สัมภาษณ์กับสื่อวิทยุที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลตาลีบัน พร้อมระบุว่า การกระทำเหล่านี้ขัดต่อความเป็นประชาธิปไตยของโลกตะวันตกเท่านั้น แต่ในมุมของรัฐบาลตาลีบัน พวกเขาทำเพื่อ ‘ปกป้องสิทธิมนุษยชน’ ในนามของพระเจ้า ส่วนชาติตะวันตกกล่าวอ้างในนามของปีศาจ
นอกจากนี้ ผู้นำตาลีบันยังทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดนี้คือการต่อสู้ของตาลีบันต่ออิทธิพลของตะวันตก โดยการยึดครองกรุงคาบูล (Kabul) ในปี 2021 เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้มีเพียงข้อความเสียงกับรูปภาพเก่า แต่ไร้เงาของอัคคุนด์ซาดาห์ ซึ่งเทเลกราฟ (Telegraph) สื่ออังกฤษคาดการณ์ว่า ตัวของเขาน่าจะอาศัยอยู่ในตอนใต้ของกานดาฮาร์ (Kandahar) ฐานที่มั่นของกองกำลังตาลีบัน
อย่างไรก็ตาม องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ประณามการกระทำของรัฐบาลตาลีบัน พร้อมขอให้ยุติการกระทำดังกล่าว ขณะที่ ซาเฟีย อารีฟี (Safia Arefi) นักกฎหมายและหัวหน้าองค์กรสิทธิมนุษยชน Women’s Window of Hope แสดงความคิดเห็นว่า นโยบายประหารชีวิตผู้หญิงเช่นนี้จะนำอัฟกานิสถานย้อนกลับไปในยุคมืดอีกครั้ง
อารีฟีเสริมต่อว่า ตอนนี้ผู้หญิงอัฟกันกำลังเผชิญกับความโดดเดี่ยว เพราะไม่มีกลุ่มใดอยู่ข้างพวกเธอเลย โดยเฉพาะประชาคมระหว่างประเทศที่นิ่งเงียบต่อการประหารชีวิตและการละเมิดสิทธิสตรีครั้งนี้
นอกจากนี้ ซาฮาร์ เฟรัต (Sahar Ferat) นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนชาวอัฟกัน ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลตาลีบันทวีความแข็งกร้าวขึ้นทุกวัน ทั้งที่ 2 ปีก่อน พวกเขาไม่แม้แต่กล้าจะพูดเรื่องปาหินใส่ผู้หญิงต่อชาวโลก ทว่าตอนนี้พวกเขากล้าที่จะลงมือ เพราะไม่มีใครต้อง ‘รับผิด’ หรือถูกลงโทษในการดำเนินนโยบายดังกล่าว
ย้อนกลับไปในปี 2021 รัฐบาลตาลีบันเคยสัญญาว่า จะประนีประนอมกับกลุ่มผู้หญิง และดำเนินนโยบายในแนวทาง ‘สายกลาง’ มากขึ้น แต่ปรากฏว่า พวกเขาฉีกรัฐธรรมนูญเดิมที่มีรากเหง้าความเป็นตะวันตกทิ้ง ก่อนบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์แทนกฎหมายอาญาทั่วไป
อีกทั้งสิทธิสตรียังถอยลงในทุกด้านตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การทำงาน หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน สะท้อนจากข่าวการปิดร้านเสริมสวยในเดือนกรกฎาคม 2023 โดยปราศจากคำอธิบาย
“พวกเรากำลังอยู่ในคุกแห่งนี้ และตาลีบันก็ทำให้คุกเล็กลงทุกที”
ทาลา (Tala) อดีตข้าราชการหญิงชาวอัฟกันที่อาศัยในกรุงคาบูล ระบายความอึดอัดใจจากนโยบายดังกล่าว โดยแสดงความคิดเห็นว่า ในฐานะสตรีเพศเธอไม่เคยรู้สึก ‘ปลอดภัย’ ในอัฟกานิสถาน เพราะเช้าวันใหม่ของเธอเริ่มต้นด้วยกฎเกณฑ์เข้มงวดอัน ‘พิลึก’ ของผู้ชายกลุ่มหนึ่ง ที่ห้ามไม่ให้พวกเธอทำทุกอย่าง ก่อนจะย้ำว่า เงินบริจาคจากนานาชาติเพื่อมนุษยธรรม กลายเป็นทรัพยากรให้กลุ่มหัวรุนแรงรังแกผู้หญิง
ทั้งนี้ แอมเนสตี (Amnesty) ระบุว่า การลงโทษผู้หญิงด้วยการปาหินและเฆี่ยนตี ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women: CEDAW)
ทว่าในช่วงที่ผ่านมา กลับมีรายงานจากชาวอัฟกันจำนวนหนึ่งว่า ผู้พิพากษาที่แต่งตั้งโดยกลุ่มตาลีบันใช้วิธีลงโทษดังกล่าวกับประชาชน โดยหนึ่งในนั้นมีผู้หญิงถึง 57 คน ตามมาด้วย ‘การประหารชีวิต’ ในที่สาธารณะท่ามกลางฝูงชนนับพันในเดือนกุมภาพันธ์ 2024
อ้างอิง
https://www.hrw.org/news/2024/02/06/taliban-and-global-backlash-against-womens-rights
https://www.bbc.com/news/world-asia-66094490
https://apnews.com/article/taliban-public-execution-convicted-man-fb6d07c01f304b97d16b1b505b98d422
Tags: ผู้หญิง, อัฟกานิสถาน, สิทธิสตรี, ตะวันออกกลาง, ปาหิน, Cedew, รัฐบาลตาลีบัน, UN, ตาลีบัน, human rights