วันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา อัลจาซีรา (Al Jazeera) รายงานสถานการณ์ของ อาหมัด เฮลมี (Ahmad Helmi) ผู้รอดชีวิตจากการพยายามบังคับให้สูญหาย ที่เรียกร้องความคืบหน้าของ ‘กลไกพิเศษ’ เสนอโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุมขังและสูญหายในซีเรีย

ในอดีต เขาเคยเป็นเหยื่อของรัฐบาลเผด็จการซีเรีย หลังถูกจับกุมในปี 2012 ในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างไม่มีเหตุผล แม่ของเขาพยายามตามหาจนพบว่า เฮลมีถูกคุมขังในเรือนจำแห่งหนึ่ง และเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างมาก ที่เธอกลับจำสภาพลูกชายอันเป็นที่รักของเธอไม่ได้เลย

“เพื่อนและครอบครัวไม่มีใครรู้ว่าผมอยู่ที่ไหน สำหรับโลกใบนี้ ผมคือคนที่หายสาบสูญ แต่จริงๆ แล้ว ผมถูกคุมขังและได้รับโทษทัณฑ์ทรมานจากเรือนจำในซีเรีย

“เพราะผมถูกทรมานอย่างโหดเหี้ยมทารุณ น้ำหนักผมหายไป 35 กิโลกรัม ตาของผมแดง ผิวกลายเป็นสีเหลือง แม่จึงต้องใช้เวลาครู่หนึ่ง ถึงจะทราบว่าผมเป็นใคร” 

เขาอธิบายสถานการณ์ในอดีต โดยเปิดเผยว่า ตนเองรอดชีวิตมาได้ เพราะแม่ของเขาใช้เงินประมาณ 3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1 ล้านบาท) ซึ่งเป็นเงินเก็บก้อนใหญ่ จ้างทนายความช่วยเหลือให้เขาได้รับการปล่อยตัวในปี 2015

ปัจจุบันเฮลมีอาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ หลังจากลี้ภัยทางการเมืองในตุรกีช่วงแรกๆ และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘Ta’afi’ กลุ่มที่ช่วยเหลือ สร้างความตระหนักรู้เรื่องการบังคับให้สูญหายในซีเรีย พร้อมกับช่วยเหลือผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ รวมถึงญาติของเหยื่ออีกด้วย 

ที่มา: Reuters

สูญหายและถูกคุมขังนับแสนชีวิต: เกิดอะไรขึ้นกับซีเรียในอดีต? 

ปี 2011 หรือเมื่อ 12 ปีก่อน ซีเรียเกิดการประท้วงรัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) ซึ่งนับเป็นหนึ่งในการประท้วงครั้งใหญ่ของหน้าประวัติศาสตร์โลก 

ผู้คนออกมาเรียกร้องให้อัสซาดลาออก เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ การทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดเสรีภาพทางการเมือง เมื่อรัฐบาลใช้ความรุนแรงต่อเด็กวัยรุ่นที่เรียกร้องประชาธิปไตยทางตอนใต้ของประเทศในเมืองเดรา (Deraa) ดามัสกัส (Damascus) และอเลปโป (Aleppo) เพราะพ่นกราฟฟิตีด่าทอผู้นำเผด็จการ

แรงกระเพื่อมดังกล่าวจึงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น สู่การขยายตัวเพื่อโค่นล้มระบอบเผด็จการ แต่แล้วรัฐบาลกลับตอบโต้โดยใช้ความรุนแรง อีกทั้งยังมีตัวละครอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศอาหรับในภูมิภาค มหาอำนาจสำคัญของโลกอย่างรัสเซียที่สนับสนุนซีเรีย และสหรัฐฯ ที่สนับสนุนฝ่ายต่อต้าน ฝ่ายกบฏหรือกองทัพปลดแอกซีเรีย​ (Free Syrian Army: FSA) รวมถึงกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามอิรักและลิแวนต์ (Islamic State of Iraq and the Levant: ISIL) 

การประท้วงครั้งนี้จึงกลายร่างเป็นสงครามกลางเมืองที่ลากยาวเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีท่าทีสงบลง แม้ว่ากลุ่มประเทศอาหรับหลายแห่งเริ่มเผยท่าทียอมรับสถานะของอัสซาดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการพูดคุยถึงการหวนกลับของซีเรียในสันนิบาตอาหรับ (Arab League)

ที่มา: Reuters

ก่อนหน้าสงครามกลางเมืองในซีเรีย รัฐบาลอัสซาดมีประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนตกต่ำเป็นทุนเดิม พวกเขากวาดล้างฝ่ายตรงข้าม บังคับให้สูญหาย กักขังหน่วงเหนี่ยว หรือทรมานร่างกาย เพียงเพราะวิพากษ์วิจารณ์ หรือเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิมนุษยชน 

แต่ในช่วงสงครามเป็นต้นไป ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะมีตัวการใหม่ๆ คือ กลุ่มกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ และกลุ่มก่อการร้าย ISIL ที่จับตัวผู้คนเป็นตัวประกัน และทำการสังหารในเวลาต่อมา 

ที่มา: Reuters

อ้างอิงรายงานของฮิวแมนไรตส์วอตช์ (Human Rights Watch) ในเดือนสิงหาคมปี 2022 ซึ่งเปิดเผยข้อมูลจากกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนในซีเรีย ประเมินว่า มีผู้คนมากกว่า 1.1 แสนคนหายสาบสูญ โดยเชื่อกันว่า พวกเขาอาจอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลซีเรีย โดยที่องค์การระหว่างประเทศ หรือกลุ่ม NGO ไม่สามารถตรวจสอบได้เลย

ความพยายามของ UN กับการจัดการปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนจากความขัดแย้งซีเรีย

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา UN มีท่าทีกระตือรือร้นต่อวิกฤตในซีเรียเป็นพิเศษ แม้จะมีการหารือเป็นเวลายาวนาน เมื่อ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการ UN เรียกร้องการสร้างกลไกอิสระเพื่อบรรเทาวิกฤตครั้งนี้ในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) เพราะประเด็นทางมนุษยธรรมของซีเรียตกต่ำลงมาก หลังไม่มีใครทราบชะตากรรมของผู้สูญหายนับแสนคนในซีเรีย

แม้ยังไม่มีรูปร่างของกลไกดังกล่าวชัดเจนนัก แต่ UN เปิดเผยว่า เป้าหมายของมาตรการดังกล่าว จะมุ่งเน้นการช่วยเหลือเหยื่อผู้รอดชีวิต โดยคำนึงประเด็นเพศสภาพ การไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งมีการทำงานประสานระหว่างกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross: ICRC) กับองค์กรในซีเรีย

จากรายงานของแอมเนสตี (Amnesty) การลงมติสนับสนุนกลไกพิเศษเพื่อช่วยเหลือชาวซีเรีย จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (29 มิถุนายน 2023) ณ การประชุมของ UNGA ซึ่งเฮลมีก็แสดงความคิดเห็นว่า นี่คือสิ่งจำเป็นอย่างมากที่รัฐต่างๆ ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น

“นี่คือความสำคัญที่จะสร้างกลไกพิเศษ เพื่อตามหาผู้ที่หายสาบสูญในซีเรีย หรือแม้แต่ในสมรภูมิรบ สิ่งที่เราพบเจอคือ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ (Crimes Against Humanity) และผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบ” เขาแสดงความคิดเห็น​เสริมว่า ผู้รอดชีวิตเริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย เมื่อข้อความขอความช่วยเหลือไม่ได้รับการการันตีถึงผลลัพธ์ระยะยาว

ที่มา: Reuters

นอกจากนั้น เฮลมียังเปิดเผยว่า แผนการศึกษาผู้สูญหายในซีเรียของตนในปี 2021 ได้รับการสนับสนุนจากกูเตอร์เรสเป็นอย่างดี หลังส่งมอบให้ UNGA รวมถึงเขามีโอกาสพูดคุยกับนักการทูตประจำยุโรปหลายคน ในการประชุมนอกรอบ ณ กรุงบรัสเซลส์ ในประเด็นผู้สูญหายในซีเรีย ซึ่งเชื่อมโยงกรณีที่คล้ายคลึงกันในยูเครน

“มีเจตจำนงทางการเมืองในยูเครนเพื่อตามหาผู้ที่หายสาบสูญ เพราะสงครามที่รัสเซียก่อในประเทศ 

“รัสเซียก็สนับสนุนสงครามในซีเรีย รวมถึงรัฐบาลของอัสซาด แต่ซีเรียไม่มีเจตจำนงทางการเมืองที่จะตามหาผู้ที่สูญหาย” เขาทิ้งท้าย โดยเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะชาวยูเครนจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กหนุ่มถูกลักพาตัวและหายสาบสูญโดยเงื้อมมือของรัสเซีย

อ้างอิง

https://www.bbc.com/thai/international-47405589

https://www.aljazeera.com/news/2023/3/15/twelve-years-on-from-the-beginning-of-syrias-war

https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/06/syria-un-member-states-must-support-institution-for-conflicts-disappeared/

https://www.hrw.org/news/2022/11/30/syria-families-disappeared-deserve-answers

https://www.aljazeera.com/news/2023/6/26/syrian-survivors-of-enforced-disappearance-call-on-un-for-justice

Tags: , , , , , , , , , , , ,