วันนี้ สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ หมอเลี้ยบ-นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือผู้มีบทบาทอย่างสูงในการ ‘แบก’ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย เคียงข้าง อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่
เพราะ นายแพทย์สุรพงษ์ เคียงข้างกับอุ๊งอิ๊งค์ ในคณะกรรมการสองชุด คือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ โดยรับบทเป็น ‘เลขานุการ’ คณะกรรมการทั้งสองชุด แถมท้ายด้วยอาจเป็น ‘โฆษก’ กลายๆ รับหน้าที่สื่อสารถึงงานของทั้งสองชุด
วันนี้ งานทั้งสองส่วนเดินเร็วจี๋ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มีการประชุมซูเปอร์บอร์ดไปแล้วหนึ่งนัด เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติประชุมไปแล้วเมื่อ 25 ตุลาคม
น่าสนก็ตรงที่ ‘คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ’ เดินหน้าไปก่อนอย่างรวดเร็ว โดยวันนี้ 4 จังหวัดนำร่องคือ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดแพร่ และจังหวัดร้อยเอ็ด ต่างก็เดินหน้าในโครงการ ’30 บาทพลัส’ สามารถเข้ารักษาได้ทุกที่โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว
ฟังดูอาจไม่มีอะไรใหม่ เพราะ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนก่อน ก็ประกาศเช่นเดียวกันว่าจะมีโครงการในลักษณะนี้ เริ่มต้นจากโรคมะเร็งหรือโรครักษายาก แต่ ‘หมอเลี้ยบ’ ผู้เริ่มต้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคมากับมือ เมื่อ 22 ปีก่อน ฝันใหญ่กว่านั้นมาก
หมอเลี้ยบให้สัมภาษณ์พิเศษกับ The Momentum ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ หากเดินต่อไปก็อาจถึงทางตัน ทำอะไรไม่ได้มากด้วยระบบ ด้วยกลไกการเงินการคลังในขณะนี้ หากแต่ต้องเปลี่ยนเป็น 30 บาทพลัส ‘รักษาทุกที่’ อย่างแท้จริง กล่าวคือ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ผู้มีสิทธิ ‘บัตรทอง’ 47 ล้านคน จะเดินเข้าไปรักษาได้ทุกที่ ทุกโรงพยาบาล หากเจ็บป่วยเล็กน้อยก็ไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลอำเภอ หรือเลือกไป ‘รับยา’ ที่ร้านขายยา ไม่จำเป็นต้องไปแออัดที่โรงพยาบาล ขณะเดียวกัน หากร้านขายยามีเภสัชกรประจำ ก็สามารถจ่ายยาได้ทันที
ด้วยระบบเช่นนี้ ทำให้โรงพยาบาลใหญ่ๆ จะไม่แออัดอีกต่อไป ทว่าหลักการสำคัญคือต้องเชื่อมข้อมูลด้านสุขภาพทั้งหมดขึ้นระบบ Cloud ให้ได้
นายแพทย์สุรพงษ์บอกว่า ประเด็นสำคัญคือตอนนี้ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเชื่อมข้อมูลกันไว้ที่ระบบหนึ่ง ขณะที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลนอกกระทรวงสาธารณสุข ไปเชื่อมกันอีกระบบหนึ่ง ซึ่งต้องการ ‘คนเคาะ’ ในเชิงนโยบายให้ทุกระบบเชื่อมกันได้และมีแกนกลาง
และจุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือระบบ ‘การจ่ายเงิน’
อธิบายง่ายๆ ก่อนหน้านี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่จ่ายเงิน ‘เหมาจ่ายรายหัว’ ตามหัวประชากรตามโรงพยาบาล โดยค่าเหมาจ่ายรายหัวในปี 2567 จะอยู่ที่ 3,988 บาทต่อหัวประชากร ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ที่ร่วมโครงการทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลรัฐ สำทับด้วยค่าใช้จ่ายในโรคร้ายแรง และโรคเฉพาะที่อาจมีความซับซ้อนมากกว่า เช่น เอชไอวี เอดส์ และมะเร็ง
แต่หากเป็น ‘รักษาทุกที่’ สปสช.จะเปลี่ยนวิธีจ่ายเงินแบบใหม่ เป็นจ่าย ‘ตามครั้ง’ ของการรักษาพยาบาล ไม่ใช่เหมาจ่ายรายหัว แต่เป็นการจ่าย Per Visits
ถึงตรงนี้ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า จะ ‘จูงใจ’ ให้หลายหน่วยบริการ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วม เพราะก่อนหน้านี้ หน่วยบริการหลายแห่งที่ไม่อยากมีความเสี่ยงจากการรับประกันรายหัว จึงเปลี่ยนการจ่ายเป็นรายครั้ง แล้วต้องกำหนดมาตรฐานการจ่าย Fee Schedule ให้ต้องไม่ต่ำเกินไป และต้องไม่สูงเกินไป เพื่อจูงใจให้มีโรงพยาบาลเข้ามาร่วมมากขึ้น
“หากระบบเรียบร้อย อีกหนึ่งปีข้างหน้า ก็จะเปลี่ยนวิธีการใช้งานของคนไปโดยสิ้นเชิง ไปที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องไปแต่เช้ามืด ระบบนัดคิวก็จะเกิดขึ้น คนที่ไม่จำเป็นต้องไป รพ.ก็ไม่ต้องไป”
ขณะเดียวกัน ระบบดังกล่าวก็จะแก้ปัญหาโรงพยาบาลคนเยอะ เข้าคิวนาน เพราะสุดท้าย คนไข้ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลกันทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องไปแออัดกันโรงพยาบาลใหญ่ เพราะมีสิทธิ ‘รักษาฟรี’ แต่ไปที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมีโรงพยาบาลเฉพาะตัวอีกแล้ว
ส่วนฝั่งโรงพยาบาล ถ้าสามารถปรับเทคโนโลยี กำหนดระบบ Cloud ให้เชื่อมโยงกัน คำนวณค่าใช้จ่ายกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Group) ใหม่ เปลี่ยนได้รวดเร็ว โดยให้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ช่วยคำนวณ ก็สามารถเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว ประมวลผลค่ารักษาพยาบาล ค่ายาต่างๆ ได้ทั้งหมด
ปัจจุบัน ‘30 บาทรักษาทุกที่’ เริ่มต้นที่ 4 จังหวัด ด้วยเหตุที่นายแพทย์สุรพงษ์บอกว่า เป็นจังหวัดที่มีโครงข่ายไม่ซับซ้อน แต่หลังจากนี้ หากประสบการณ์จากประชาชนเป็นไปด้วยดีเหมือนเมื่อ 22 ปีก่อน ครั้งเริ่มต้น 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ ส.ส.ทุกจังหวัดต่างอยากเข้าร่วม จากเดิมนำร่อง 6 จังหวัด กลายเป็นทั่วประเทศภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ก็จะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน โดยอาจมี ‘กรุงเทพฯ’ เมืองหลวงที่ระบบสุขภาพซับซ้อนที่สุด อยู่ในเฟสท้ายๆ
กระนั้นเอง ตัวเลขที่หมอเลี้ยบประเมินไว้ก็คือเรื่องนี้จะเสร็จทั้งหมดภายใน 1 ปี
End Game สุดท้ายของเรื่องนี้คืออะไร?… หมอเลี้ยบ ตอบว่า สุดทางคือทุกคนสุขภาพดี ไม่มีใครเจ็บป่วย ไม่มีใครเป็นมะเร็งปากมดลูกอีกแล้วในประเทศไทย เพราะฉีดวัคซีน HPV หมดแล้ว หากเจ็บป่วยหนัก ติดเตียง มี Hospice (สถานชีวาภิบาล) คอยดูแลแบบประคับประคอง ติดเตียงสั้นๆ แล้วก็เสียชีวิต แต่ถ้าโชคร้าย เจ็บป่วยขึ้นมา ก็สามารถไปรักษาที่ไหนก็ได้ ไม่สบายเล็กน้อยก็ไปร้านขายยาใกล้บ้าน ไม่สบายกลางๆ ก็โรงพยาบาลใกล้บ้าน ถ้าไม่สบายหนัก ก็ไปไอซียูในโรงพยาบาลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญได้ อุบัติเหตุเข้าที่ไหนก็ได้หมด และโรงพยาบาลที่รักษา ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไปเอาเงินจากไหน
แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังมีอุปสรรครออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็น ‘ระบบราชการ’ ว่าด้วยการเชื่อมโยงระบบข้อมูล แต่หมอเลี้ยบบอกว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่ทำ ประเทศอย่างเอสโตเนียเริ่มไปแล้ว และกลายเป็นภาพที่ทุกคนคุ้นเคย
“ทุกคนที่อยู่ในระบบต้องคิดเสียว่า วันนี้คุณเป็นปลัด เป็นอธิบดี วันหนึ่งคุณก็หมด วันหนึ่งคุณก็เป็นประชาชนธรรมดา คุณอยากได้แบบไหน หลังจากเกษียณล่ะ คุณล้วนอยากได้ระบบที่ไม่แออัด ไปที่ไหนก็ได้ใช่ไหม?”
ปัญหาอีกอย่างที่อาจต้องเจอคือเรื่องบุคลากร แต่อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเชื่อว่า หากคนไข้แออัดน้อยลง ก็สามารถกระจายบุคลากรได้ดีขึ้น กระจายภาระงานออกไปได้มากขึ้น เมื่อกระจายคนที่ไม่ต้องไปโรงพยาบาลออกไป ก็จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น และหากข้อมูลพื้นฐาน เช่น ข้อมูลเวร ข้อมูลภาระงาน ทุกอย่างอยู่บนระบบดิจิทัล สามารถตรวจสอบได้ ระบบก็จะเข้าที่เข้าทางขึ้นเอง
3 กองทุนต้องมาตรฐานเดียว คน ‘ประกันสังคม’ ย่อมไม่ยอมให้ 30 บาทฯ มีสิทธิเหนือกว่า
ว่ากันที่จริงแล้ว ‘ซูเปอร์บอร์ด’ ที่มี เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธาน มี แพทองธาร ชินวัตร นั่งเป็นรองประธาน นอกเหนือจากเรื่องการ ‘รักษาทุกที่’ แล้ว หากดูจากสัดส่วนของคณะกรรมการที่มีความหลากหลาย หลายหน่วยงาน หลายกระทรวง และมีหมอเลี้ยบนั่งเป็นเลขานุการ ดูจะหวังไกลกว่าแค่เรื่องนี้
แน่นอนว่าการลดความเหลื่อมล้ำ 2 กองทุนสุขภาพ เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายคาดหวัง
สามกองทุนสุขภาพที่ปัจจุบัน มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ภายใต้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ถูกวิจารณ์ก่อนหน้านี้ว่า มี ‘ความเหลื่อมล้ำ’ อยู่สูง และกลายเป็นปัญหาเรื้อรังในระบบสาธารณสุขไทย
คำถามก็คือแล้วจะหวังเห็นรัฐบาลชุดนี้ ‘จบ’ ปัญหาเรื้อรังเรื่องความเหลื่อมล้ำสามกองทุนสุขภาพได้หรือไม่
“จะสังเกตได้ว่านอกจากในกรรมการจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแล้ว ยังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกด้วย ซึ่งท่านนายกฯ เองควบกระทรวงการคลัง ได้มอบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คือคุณกฤษฎา (กฤษฎา จีนะวิจารณะ) ซึ่งคุมกรมบัญชีกลางมานั่งอยู่ด้วย
“เรื่องนี้ 47 ล้านคน เราเริ่มจากสิทธิ 30 บาท ไปได้ทุกที่ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น เชื่อว่าคนที่อยู่ในสิทธิประกันสังคมต้องร้องแน่ ถ้าคนประกันสังคมยังไปได้แค่โรงพยาบาลต้นสังกัด เขาก็จะบอกว่าจ่ายเงินทุกเดือน ทำไมไปได้แค่โรงพยาบาลนี้เท่านั้น ประกันสังคมก็จะตามมา ข้าราชการถ้าไปเอกชนก็จะยุ่งยาก แต่ถ้า 30 บาท ไปได้ทุกที่ ก็จะตั้งคำถามเหมือนกัน
ในแง่นี้ นายแพทย์สุรพงษ์ ผู้มีส่วนร่วม ‘ทำคลอด’ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ให้นิยามว่า ความเท่าเทียมของ ‘3 กองทุนสุขภาพ’ คือให้สิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ยุบสามกองทุนเหลือหนึ่งกองทุน แต่ทุกกองทุนต้องมีมาตรฐานเหมือนกัน ให้ระบบทุกอย่างเหมือนกัน และสิทธิเท่ากัน ไม่ควรจะมีข้อแตกต่างเรื่อง ‘ยา’ เรื่อง ‘ช่องทางการรักษา’ และการจัดการควรต้องเป็นระบบเดียว โดยหากสำนักงานประกันสังคมไม่สามารถบริหารสู้ สปสช.ซึ่งบริหาร 30 บาทรักษาทุกโรคได้ ก็ควรให้ สปสช. บริหารเป็นเคลียริงเฮาส์หนึ่งเดียว ให้กลายเป็นบริษัทประกันสุขภาพขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ จ่ายเงินให้กับหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนในรูปแบบ Per Visits ไปเสีย
เพราะวันนี้ ถึงแม้จะแยกออกเป็น 3 กองทุนสุขภาพ แต่ทุกกองทุน ยังต้องรับเงินอุดหนุนจากรัฐ รัฐต้องเป็นผู้เติมเงินให้ทั้ง 3 กองทุน หากจะบอกว่า ประกันสังคมคนจ่ายอย่างเดียวก็คงไม่ใช่ เพราะรัฐก็สมทบจ่ายด้วย แล้วเงินที่สมทบจ่ายของรัฐก็ไม่ได้น้อยกว่าที่จ่ายให้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่าไร
“ความหมายของสามกองทุนมันมีแค่นี้เอง มาตรฐานเหมือนกัน ระบบเหมือนกัน แต่ถ้ารัฐบาลบอกว่าข้าราชการ ให้พรีเมียมหน่อย ให้อยู่ห้องพิเศษ ก็เป็นเรื่องของข้าราชการ เราจะพูดถึงมาตรฐานในการรักษา แต่ถ้ามีอะไรที่ต้องพรีเมียม อะไรที่สัญญากับข้าราชการไว้ก็ตามนั้น แต่สุดท้ายคุณควรได้ยาเหมือนกัน
“ที่ผ่านมา สปสช.อาจจะอยากทำแบบนี้ แต่ทำไม่ได้ เพราะไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง ไม่ได้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย”
แต่ในวันนี้เมื่อ ‘ฝ่ายการเมือง’ มีอำนาจเต็มที่ เรื่องนี้ก็ถึงเวลาเดินหน้าต่อเต็มสูบ
ทั้งหมดนี้ ขาด ‘แพทองธาร’ ไม่ได้
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกตั้งคำถามก็คือ ณ วันนี้ หากมีชื่อแพทองธารนั่งเป็นประธานบอร์ดใดก็แล้วแต่ ต้องมีชื่อของ นายแพทย์สุรพงษ์ นั่งประกบเป็น ‘กรรมการและเลขานุการ’ ทุกชุด
“จุดเด่นของคุณแพทองธารอยู่ในห้องประชุม เวลานั่งทำงานด้วยกัน เขาไม่ใช่ไม่รู้เรื่องอะไร เขาไล่ฟังความเห็นแต่ละคนเป็นอย่างไร สรุปอย่างนี้ไหม แล้วเขาฟังคนเยอะ เขาฟังคน เป็นจุดที่ดี แล้วทุกอย่าง เขาเรียนรู้เร็วมาก” กรรมการและเลขานุการบอร์ดสุขภาพแห่งชาติเผยให้ฟัง
เสียงลือเสียงเล่าอ้างก็คือ นายแพทย์สุรพงษ์มีสถานะเป็นเสมือนผู้ช่วยแพทองธาร ‘ปั้น’ ผลงานในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้พร้อมหากวันหนึ่งแพทองธารจะได้นั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสักวันหนึ่ง
อาจเป็นหนึ่งปีข้างหน้า หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า หากเศรษฐายอมลาออก เปิดทางให้อุ๊งอิ๊งค์นั่งเป็นนายกฯ คนต่อไป
นายแพทย์สุรพงษ์ตอบว่า ที่เห็นแพทองธารและสุรพงษ์นั่งคู่กัน มีเหตุผลง่ายๆ ก็คือทั้งในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ และในเรื่อง ‘สาธารณสุข’ ต้องการ ‘พลังทางการเมือง’
หากตัวเขาเองนั่งเป็นกรรมการและเลขานุการก็อาจไม่ได้มี ‘อำนาจ’ มากนัก รัฐมนตรีแต่ละกระทรวง กรรมการแต่ละคนก็อาจบอกว่าเป็น ‘นักการเมือง’ เหมือนกัน
ต่างกับอำนาจและบารมี
“อำนาจทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าอยู่ๆ ผมไม่มีตำแหน่ง ไปบอกให้ใครทำอะไรคงไม่มีใครเชื่อผม ผมเป็นกรรมการและเลขานุการ แต่รัฐมนตรีอื่นๆ อาจจะบอกว่า ก็เป็นนักการเมืองเหมือนกัน ค่อยๆ ทำไป ทุกอย่างก็สบาย
ทั้งสองบอร์ดเป็นการ ‘ปูทาง’ ให้แพทองธารขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปหรือไม่? – เราถาม ‘หมอเลี้ยบ’ ตรงๆ
“ผมมองว่าคุณแพทองธารเองมีแพสชันทั้งสองเรื่อง ผมถูกขอให้ไปให้ความเห็นเรื่อง 30 บาทฯ พอคุณแพทองธาร พูดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ผมก็บอกว่าซอฟต์พาวเวอร์ผมก็สนใจ ไม่ได้หมายความว่า สองเรื่องนี้ต้องใช้ปูทางให้คุณแพทองธารเป็นนายกฯ
“ผมต้องการให้คุณแพทองธารมาขับเคลื่อน เพราะคุณแพทองธารเป็นแคนดิเดตนายกฯ ถามว่าวันนี้คุณแพทองธารเป็นนายกฯ ได้ไหม เป็นได้ ถ้ามีเหตุใดต้องเป็นนายกฯ จริงๆ คุณแพทองธารก็มีสถานภาพเป็นแคนดิเดตอยู่แล้ว พอเป็นหัวหน้าพรรค บทบาทในการประสานงานข้ามกระทรวงก็จะสูงขึ้น ลำพังผมทำเองคงไม่มีทางสำเร็จ ผมจะไปสั่งใครได้ถามว่าปูทางให้คุณแพทองธารรึเปล่า จริงๆ คุณแพทองธารต่างหากที่เป็น Key Success สำหรับทำให้สองเรื่องนี้เดินได้”
Tags: สปสช., 30 บาท รักษาทุกโรค, เพื่อไทย, สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, แพทองธาร