หลังจากถึงกำหนดเส้นตาย 15 กันยายน 2565 ที่กองทัพเรือจะต้องออกมาระบุว่าจะรับเครื่องยนต์ CHD 620 รุ่นปรับปรุงเพิ่มเติมของจีน แทนเครื่องยนต์ที่กองทัพต้องการ คือรุ่น MTU 396 ของเยอรมนีหรือไม่ ล่าสุดวานนี้ (15 กันยายน 2565) พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ออกมาระบุว่า ฝ่ายเทคนิคของกรมอู่ต่อเรือได้ส่ง ‘ผลสรุปการศึกษาข้อดีข้อเสีย’ ของเครื่องยนต์ CHD 620 รุ่นปรับปรุงเพิ่มเติมของจีนไปให้เสนาธิการทหารเรือเรียบร้อยแล้ว และจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโครงการจัดหาเรือดำน้ำเพื่อหาข้อสรุปต่อไป ซึ่งหลายสำนักข่าวระบุว่า กองทัพเรืออาจยืดเวลาการพิจารณาออกไปจนกว่าผู้บัญชาการทหารเรือคนใหม่จะเข้ามาปฏิบัติงาน

เป็นการ ‘ยืดเวลา’ คล้ายกับยอมรับในที่สุดว่า ไม่มีโอกาสที่จีนจะจัดหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำของเยอรมนีมาใส่เรือดำน้ำอีกแล้ว และจำต้องยอมรับเรือดำน้ำจีน เครื่องยนต์ของจีนเป็นครั้งแรกในโลก ทั้งที่สั่งซื้อเรือดำน้ำจีน เครื่องยนต์ของเยอรมนี แต่ผลลัพธ์กลับออกมาเป็นอีกอย่าง

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้ที่ติดตามและอภิปรายในประเด็นเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือมาโดยตลอด ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum วันนี้ (16 กันยายน 2565) ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการจัดซื้อเรือดำน้ำ แต่ไม่ใช่เพราะเขาไม่อยากให้กองทัพเรือมีเรือดำน้ำใช้ ทว่าเขาอยากให้กองทัพคำนึงถึงประสิทธิภาพของเครื่องยนต์และสวัสดิภาพของทหารระดับปฏิบัติการอย่างถึงที่สุด

“ทั้งหมดที่เราพูดกัน ไม่ใช่เรื่องที่ว่าเราจะมีหรือไม่มีเรือดำน้ำ หากแต่เป็นประเด็นว่า เราจะยอมมีเรือดำน้ำด้วยเครื่องยนต์ของจีน ด้วยการผิดเงื่อนไขสัญญาที่ประเทศจีนไม่สามารถจัดส่งเครื่องยนต์ของเยอรมนีให้เราได้ เช่นนี้หรือ

“หากกองทัพเรือทำเช่นนั้นก็สะท้อนชัดเจนว่า พวกเขารับเครื่องยนต์ของจีนเพียงเพราะอยากได้ แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว ทั้งเรื่องสวัสดิภาพและประสิทธิภาพอย่างที่กล่าวไป”

พิจารณ์ย้ำจุดยืนว่า กระทรวงกลาโหมไม่ควรซื้อเรือดำน้ำในรัฐบาลนี้แล้ว และควรไปหารือกับรัฐบาลจีนว่ามีทางออกใดต่อไป เนื่องจากประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตไม่สามารถทำตามสัญญาที่ตกลงไว้ตั้งแต่แรกได้

“ถึงแม้การซื้อเรือดำน้ำจะไม่ได้ริเริ่มในช่วงที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ก็ริเริ่มในขณะที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ดังนั้นผมจึงคิดว่าภาระการตัดสินใจต้องตกไปอยู่ที่พลเอกประยุทธ์ หรือแม้กระทั่ง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ และในฐานะรักษาการนายกฯ ในปัจจุบันด้วย”

อย่างไรก็ตาม พิจารณ์มองท่าทีของพลเอกประยุทธ์ว่า พลเอกประยุทธ์พยายามผลักภาระการตัดสินใจเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำให้เป็นหน้าที่ของผู้บัญชาการทหารเรือคนใหม่ หรือคณะกรรมการต่างๆ ที่แต่งตั้งขึ้นมา ทั้งหมดมีจุดประสงค์เพื่อหลบเลี่ยงแรงเสียดทานทางการเมืองที่ในปัจจุบันก็มีมากอยู่แล้ว

“สังคมน่าจะไม่เห็นด้วยเป็นอย่างมาก ถ้าสุดท้ายกองทัพเรือจะยอมใช้เครื่องยนต์ที่ผลิตในประเทศจีน ซึ่งยังไม่เคยมีประเทศไหนใช้ประกอบเข้ากับเรือดำน้ำรุ่นนี้มาก่อน ผมมองว่าเป็นเดิมพันทางการเมืองที่สูงมากสำหรับพลเอกประยุทธ์ หรือแม้แต่พลเอกประวิตรที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการเองก็ตาม”

เมื่อถามว่า ในปัจจุบันกองทัพเรือไม่มีเรือดำน้ำใช้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว นับตั้งแต่กองทัพเรือรับมอบเรือดำน้ำ 4 ลำแรก ได้แก่ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ในช่วงปี 2480 อีกทั้งในปัจจุบันทั้ง 4 ลำล้วนถูกปลดประจำการแล้ว ประชาชนจำนวนหนึ่งจึงมองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กองทัพเรือควรจะต้องได้รับเรือดำน้ำที่ซื้อจากจีนในครั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ในด้านการปกป้องน่านน้ำทางทะเล ทว่าพิจารณ์มองว่ายังไม่จำเป็น

“กองทัพเรือมักอ้างผลประโยชน์ทางทะเลมาเป็นเหตุผลในการต้องรีบมีเรือดำน้ำ และมักยกตัวเลขงบประมาณหลายหมื่นล้านที่ประเทศอาจสูญเสียไปมาประกอบ ในประเด็นนี้ผมมองว่าเรายังมีวิธีอื่นๆ ในการปกป้องผลประโยชน์ทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทางการทูตหรือการป้องกันจากทางอากาศ มากไปกว่านั้น ประเทศไทยควรมีการพูดคุยเรื่องภัยคุกคามทางทะเลอย่างจริงจังและมากขึ้น เราไม่เคยเห็นข้อมูลเหล่านี้จากกองทัพเรือเลย”

ประกอบกับสถานการณ์ของประเทศที่ต้องเผชิญทั้งวิกฤตด้านพลังงานและวิกฤตโรคระบาด พิจารณ์มองว่าหากเครื่องยนต์ของจีนยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ กองทัพเรือก็ควรชะลอโครงการและเตรียมของบฯ จัดซื้อใหม่ในรัฐบาลหน้า เพื่อให้ได้เรือดำน้ำที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง เพราะหากตัดสินใจรับเรือดำน้ำของจีนครั้งนี้แล้ว กองทัพเรือยังต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมาอีกมายมาย ดังนั้นกองทัพเรือควรมั่นใจจริงๆ ว่าสิ่งที่ซื้อมามีประสิทธิภาพสมราคา

“นอกจากการจ่ายเงินซื้อเรือดำน้ำแล้ว ยังจะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมาอีก ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายของการก่อสร้างท่าจอดเรือ โรงเก็บขีปนาวุธ โรงทดสอบ โรงซ่อม ระบบสื่อสาร และเรือสนับสนุน รวมแล้วเป็นงบประมาณอีกราวหมื่นล้านบาทที่จะต้องเพิ่มมา บวกกับราคาเรือดำน้ำ 3 ลำอีก 3,600 ล้าน ทั้งหมดเรากำลังพูดถึงงบประมาณของประเทศเกือบๆ 5 หมื่นล้าน”

ท้ายที่สุด พิจารณ์เปรียบเทียบให้เห็นวิธีการจัดซื้อเรือดำน้ำของประเทศเพื่อนบ้านว่า “บางประเทศมีการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์แบบ Offset Policy หรือนโยบายการจัดซื้อแบบชดเชย คือการจัดซื้อโดยประเทศผู้ซื้อจะได้อะไรมากกว่าแค่ยุทโธปกรณ์ที่สั่งไป ยกตัวอย่างเช่น ในอินโดนีเซียมีการจัดซื้อเรือดำน้ำจากเกาหลีใต้ผ่านนโยบายดังกล่าว ซึ่งมีผลให้เกิดการลงทุนด้านการต่อเรือดำน้ำขึ้นในอินโดนีเซีย มีการสร้างงาน สร้างอุตสาหกรรม และที่สำคัญมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี

“ท้ายที่สุด การซื้อเรือดำน้ำหนึ่งครั้งอาจจะทำให้อินโดนีเซียมีขีดความสามารถที่จะผลิตเรือดำน้ำ และส่งมอบให้ประเทศอื่นได้อีกในอนาคต

“อินโดนีเซียก็ใช้เงิน 3,600 ล้าน ซื้อเรือดำน้ำจากเกาหลีใต้เท่าไทย แต่เขาเกิดอุตสาหกรรมการต่อเรือขึ้นเองในประเทศ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ขณะที่ประเทศไทยใช้เงินจำนวนเดียวกัน แต่ตอนนี้เรายังมีปัญหาอยู่เลยว่าจะได้เรือดำน้ำแบบไหน” พิจารณ์ทิ้งท้าย

Tags: , , , ,