หนึ่งในเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของสังคมเมื่อวานนี้ (8 พฤศจิกายน 2566) คงหนีไม่พ้น รถบรรทุกสิบล้อที่กระบะหลังเต็มไปด้วยดินเหนียวสำหรับสิ่งปลูกสร้างตกลงไปในหลุม เนื่องจากถนนทรุดตัวบริเวณหน้าซอยสุขุมวิท 64/1 ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย
สิ่งที่สังคมสนใจและตั้งคำถามในอุบัติเหตุครั้งนี้ คือ ‘สติกเกอร์สีเขียว ตัว B’ ที่ติดอยู่บริเวณหน้ารถบรรทุกสิบล้อ สิ่งนี้คือเครื่องหมายของ ‘ส่วยสติกเกอร์’ หรือการติดสินบนเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถขนส่งของที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือไม่? หรือแท้จริงแล้วเหตุการณ์ถนนทรุดตัวมาจากวัสดุการสร้างที่ไร้มาตรฐานกันแน่
พร้อมกันนั้น กลางดึกเมื่อวานนี้ยังเกิดเหตุการณ์วุ่นวาย เนื่องจากรถบรรทุกสิบล้อคันดันกล่าวไม่ยอมให้ชั่งน้ำหนักรถ พร้อมกับถ่ายเทดินเหนียวไปสู่รถบรรทุกสิบล้ออีกคันหนึ่งที่มีสติกเกอร์สีเขียวตัว ‘B’ เช่นกัน ก่อนรถคันดังกล่าวจะขับหลบหนีและพยายามนำดินไปเททิ้งในไซต์ก่อสร้าง เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ผู้คนตั้งคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ‘ตำรวจ’ ที่ดูคล้ายเอื้ออำนวยความสะดวกให้มีการขนย้ายวัตถุพยานเป็นอย่างมาก พร้อมกับตั้งคำถามว่า สิ่งนี้คือการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้องตนเองหรือเปล่า?
The Momentum พูดคุยกับ โตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ ส.ส.พรรคก้าวไกล เกี่ยวกับเหตุการณ์ ‘ถนนยุบ’ โดยปิยรัฐมองว่า หากให้ตำรวจสอบสวนกันเอง ก็ไม่รู้ว่าผลจะออกมาทิศทางใด
เหตุการณ์ ‘ถนนทรุด’ มีสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง
มองได้ 2 แบบ คืออาจเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจาก ‘ฝาท่อ’ อุโมงค์สายไฟและสายสัญญาณของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก ด้านล่างวางด้วยแผ่นคานเหล็ก ซึ่งตัวที่เกิดปัญหา คือคานเหล็กภายใต้แผ่นฝาท่อเกิดหักหรือพังลงไปด้วยการรับน้ำหนักไม่ไหว หรืออีกแง่หนึ่ง คือวัสดุที่นำมาทำฝาบ่อไม่ได้มาตรฐานและคุณภาพ ซึ่งพิจารณาได้จากแรงกระแทกของน้ำหนักบรรทุกจร (Impact Load) ว่า ขณะที่รถวิ่งผ่านมีการเพิ่มน้ำหนักขึ้นเท่าไร โดยตามหลักวิศวกรรมอาจเพิ่มราว 20-30% และเมื่อรถวิ่งยิ่งทำให้แรงกระแทกในส่วนนี้เพิ่มขึ้นไปอีกจนทำให้แผ่นคานเหล็กตัวนี้พังลง ก็ต้องใช้หลักทางวิศวกรรมในการตรวจสอบเพิ่มเติมพอสมควร
จากการกระทำของ ‘ตำรวจ’ เมื่อวานนี้ ที่เปิดกรวยให้รถบรรทุกสามารถขนดินออกนอกพื้นที่เกิดเหตุ สามารถเรียกได้ว่า เป็นการพยายามเข้าไปยุ่งกับ ‘วัตถุพยาน’ ไหม
หากมองในแง่ของคดีความคือ กฟน.ถือเป็นผู้เสียหายรายหนึ่ง ฉะนั้น กฟน.จึงต้องฟ้องรถสิบล้อที่ทำให้เกิดความเสียหาย และเมื่อเป็นคดีความทุกอย่างถือเป็นพยานหลักฐานทั้งหมด ทั้งรถบรรทุก คนขับ และดินที่อยู่ในรถบรรทุก ซึ่งเป็นสิ่งที่ตำรวจต้องรักษาให้คงสภาพเดิมที่สุด เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การพิจารณาว่า มีความผิดที่น้ำหนักรถเกินมาตรฐานหรือไม่
ฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าจะด้วยการเจรจาอย่างไรก็ไม่ทราบ ในตอนนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตักดินออกจากท้ายกระบะขึ้นรถสิบล้ออีกคันที่ขนาดใกล้เคียงกัน ซึ่งตอนแรกเข้าใจว่า มาจอดรอเพื่อนำดินเหล่านั้นไปชั่งน้ำหนัก เพราะกรมการขนส่งทางบกนำเครื่องชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่มารอแล้วเช่นกัน แต่ปรากฏว่า ‘ไม่ยอม’ ให้ชั่ง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังเปิดกรวยให้รถบรรทุกอีกคันที่มาขนดินทิ้งขับเข้าไปในไซต์งานหนึ่งเพื่อนำดินไปทิ้งอีกด้วย
การอำนวยความสะดวกในลักษณะนี้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาผมและสื่อมวลชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ก็เป็นประจักษ์พยานได้ แต่โชคดีที่วิศวกรที่อยู่ใซต์งานดังกล่าว ไม่ได้เป็นบริษัทเดียวกันกับผู้รับเหมา เขาเลยไม่อนุญาตให้ไปทิ้งในส่วนของเขา ดังนั้น รถบรรทุกสิบล้อที่ขับนำดินไปทิ้ง จึงต้องทิ้งในจุดที่พอจะแยกออกว่าอันไหนเป็นดินที่เพิ่งเทใหม่
สิ่งหนึ่งที่มีการตั้งข้อสังเกต คือ ‘สติกเกอร์ตัว B’ ที่อยู่หน้ารถ ในส่วนนี้คุณมองว่าอย่างไร
เขาก็ให้เหตุผลที่แล้วแต่สังคมจะใช้ดุลพินิจว่า อาจเป็นการใช้สติกเกอร์ตัว B เป็นตัวแทนชื่อของเขาที่ชื่อ ‘บิ๊ก’ นี่ก็เป็นเหตุผลว่า ในเครือข่ายของเขามีรถหลายคัน เขาเลยมีสัญลักษณ์นี้ใช้เพื่อบอกว่าเป็นรถของเขา ส่วนจะเป็นเรื่อง ‘ส่วยสติกเกอร์’ อย่างที่คุณวิโรจน์ (วิโรจน์ ลักขณาอดิศร) หรืออภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวหรือไม่ ในส่วนนี้ผมยังไม่สามารถฟันธงได้ เนื่องจากเรายังไม่มีข้อมูลครอบคลุมมากพอ
‘ส่วยสติกเกอร์’ คืออะไร
ในความหมายของคนที่นำเรื่องนี้มาเปิดเผย ก็ชัดเจนว่าเป็นการ ‘ติดสินบน’ เจ้าพนักงาน ในกรณีที่ต้องการกระทำผิดต่อระเบียบหรือข้อกฎหมาย ทั้งในแง่ของกฎหมายท้องถิ่นและกฎหมายระดับประเทศ เช่น พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (พ.ร.บ.ขนส่งทางบก) หรือกระทั่งความผิดอาญาในด้านยาเสพติด และกรณีการค้ามนุษย์ก็มีการติดสติกเกอร์เหล่านี้เหมือนกัน ไม่ใช่แค่เรื่องของรถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างเดียว
แต่ถ้าหมายถึงส่วยสติกเกอร์ในเรื่องรถบรรทุกทำผิดกฎหมายเรื่องน้ำหนัก ก็มักจะพบได้ทั่วไปในถนนหลวงเป็นหลัก ซึ่งไม่ค่อยพบในเขต กทม.เท่าไรนัก เนื่องจากรถบรรทุกที่วิ่งในกทม.มีกฎหมายมากมายควบคุมอยู่
แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อเกิดปรากฏการณ์แบบนี้จึงเป็นคำถามตัวโตๆ ให้กับสังคมว่า การควบคุมขนาดนี้ยังมีกรณีนี้เกิดขึ้นได้ จึงเป็นการทำให้คนตื่นรู้ว่าต่างจังหวัดจะขนาดไหน นี่แหละจึงเป็นการถามว่า แล้วสติกเกอร์สีเขียวๆ ตัว B ถือเป็นส่วยสติกเกอร์หรือไม่ จึงต้องให้สังคมช่วยกันจี้ไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่า ‘จำเลยสอบจำเลยเอง’ จะให้คำตอบอย่างไร ผมคิดว่า คงต้องเป็นหน่วยงานอื่นที่มีความเชื่อมั่นของประชาชนมากกว่านี้ มาดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้
‘ส่วยสติกเกอร์’ มีอิทธิพลอย่างไร
คงเป็นอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน สังคมจะรู้สึกว่า เรื่องอะไรก็ตามที่เจ้าหน้าที่รัฐรับส่วนต่างสินบนมา สุดท้ายแล้วชีวิตประชาชนต้องแขวนอยู่บนเส้นด้าย
ประชาชนรู้สึกว่า ฝากความหวังไว้กับหน่วยงานภาครัฐฯ ไม่ได้ หากเกิดอิทธิพลในการซื้อความสะดวกในการกระทำผิดแบบนี้ เท่ากับว่าประเทศของเราเหมือนไม่มีกฎหมาย ไม่มีผู้รักษากฎหมาย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สังคมรู้สึกไม่พอใจและรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อชีวิตของพวกเขา
เกิดกรณีแบบนี้ สามารถทำอะไรต่อได้บ้าง
ในส่วนของผม ผมจะใช้หน้าที่ของความเป็นผู้แทนราษฎรพูดปัญหานี้ในทุกเวทีที่ผมสามารถพูดได้ ไม่ว่าจะผ่านสื่อมวลชน หรือกรรมาธิการต่างๆ ที่พรรคก้าวไกลมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งวันนี้มีการประชุม ดังนั้น ผมก็สามารถใช้เวทีนั้นในการส่งต่อเรื่องนี้ได้เช่นกันเพื่อให้ไปถึงฝ่ายบริหาร
หากกรณีนี้เกิดจากการทุจริตจริง ภาคส่วนใดต้องรับผิดชอบบ้าง
มีหลายส่วน ตั้งแต่การดัดแปลงรถบรรทุก การไม่นำรถเดิมมาขับแต่มีการดัดแปลงช่วงล่างของรถให้พร้อมบรรทุกน้ำหนักเกินได้ จึงทำให้กรมการขนส่งทางบกก็มีส่วนที่ผิดที่ปล่อยผ่านและต้องรับผิดชอบ รวมถึง กทม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องไปดูว่าใคร อาจจะต้องรอการตรวจสอบเพิ่มเติม
แต่เห็นว่าทาง ผบ.ตร.ได้ฝากให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (พลตำรวจโท ธิติ แสงสว่าง) แจ้งคำสั่งให้มีการสอบสวนเรื่องนี้แล้ว แต่ก็อย่างที่บอกครับ ตำรวจสอบตำรวจเองก็ไม่รู้ว่าจะได้คำตอบอย่างไร
ใครต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นบ้าง
เริ่มต้นคือ กฟน.ต้องรับผิดชอบก่อนในฐานะเจ้าของโครงการ ส่วนทาง กฟน.จะไปไล่เอาจากทางผู้ขนส่งหรือผู้รับเหมาต่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ผมอยากฝากให้สื่อมวลชนช่วยกันติดตามเรื่องนี้ ผมไม่อยากให้กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างแล้วจบแบบเงียบๆ ไป โชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิต เลยอยากขอว่าให้เป็นครั้งสุดท้าย โดยเฉพาะใน กทม.เรามีพื้นที่การก่อสร้างเยอะมาก ไม่ใช่แค่ในพื้นที่เขตบางนา
Tags: ส่วยสติกเกอร์, ปิยรัฐจงเทพ, พรรคก้าวไกล, ถนนยุบ