แม้ประชาชนชาวศรีลังกาอยากตัดตอนนักการเมืองหน้าเก่าที่มีข่าวเสียเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน แต่สุดท้ายมติของรัฐสภาก็ยังคงเลือกให้นักการเมืองหน้าเก่าอย่าง รานิล วิกรมสิงเห (Ranil Wickremesinghe) นายกรัฐมนตรี 6 สมัย วัย 73 ปี ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกาคนใหม่แบบขาดลอย
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รานิลที่ขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี ตัดสินใจประกาศให้ประเทศเข้าสู่สถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้ง หลังเกิดเหตุประชาชนบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดี ขับไล่อดีตประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา (Gotabaya Rajapaksa) จนต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงการที่มวลชนบางส่วนบุกทำเนียบนายกรัฐมนตรีเข้าไปถึงห้องทำงานของนายกรัฐมนตรี เผารถยนต์ และทำลายข้าวของในบ้านของรานิล จนทำให้เขาต้องกล่าวต่อสื่อมวลชนว่า เขาจะลงจากตำแหน่งทันทีที่ทุกพรรคการเมืองสามารถจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลได้สำเร็จ และขอให้กองทัพเข้ามาจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อทำให้สังคมเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
ตอนนี้ แม้ศรีลังกาจะมีประธานาธิบดีคนใหม่ แต่มวลชนจำนวนมากยังคงปักหลักอยู่ตามพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ เพื่อรอให้แน่ใจว่าผู้นำคนใหม่ของพวกเขาจะแสดงออกถึงความต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเร็ว และบางส่วนยังคงไม่พอใจประธานาธิบดีคนใหม่ เนื่องจากรานิล วิกรมสิงเห มีข่าวและภาพลักษณ์เป็นนักการเมืองหน้าเก่าที่อยู่ในอำนาจโดยมิชอบ ไม่ต่างกับอดีตประธานาธิบดีโกตาบายา รวมถึงเชื่อว่าประธานาธิบดีรานิลเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายตระกูลราชปักษาที่กัดกินประเทศมาอย่างยาวนาน
ล่าสุด ช่วงดึกของวันที่ 21 กรกฎาคมจนถึงช่วงเช้าวันนี้ (22 กรกฎาคม 2022) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า พบเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารอาวุธครบมือ บุกเข้ารื้อถอนค่ายที่พักของประชาชนที่รวมตัวกันชุมนุมต่อต้านรัฐบาล บริเวณด้านหน้าของอาคารสำนักงานบริหารประธานาธิบดี กรุงโคลัมโบ เกิดเหตุการณ์ยื้อยุดอยู่นานหลายชั่วโมง จนท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่สามารถเข้ายึดพื้นที่ได้สำเร็จ คาดว่ามีผู้ชุมนุมถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บราว 50 คน ก่อนเจ้าหน้าที่จะกลับออกจากค่ายพร้อมกับควบคุมแกนนำการประท้วงจำนวน 9 คน โดยตำรวจระบุว่า กลุ่มแกนนำและประชาชนที่ตั้งค่ายปักหลักชุมนุมไม่มีสิทธิครอบครองพื้นที่บริเวณดังกล่าว
การรื้อค่ายผู้ประท้วงเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน เกิดขึ้นตามคำเรียกร้องของรานิล วิกรมสิงเห ที่ตอนนั้นยังคงดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี และเคยออกมาเรียกร้องให้ทหารยื่นมือเข้าช่วยเหลือเพื่อนำความสงบเรียบร้อยกลับคืนสู่สังคม
หลังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่กี่วัน รานิลให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมายจัดการกับผู้ประท้วง ซึ่งเป็นเพียงแค่ ‘กลุ่มคนส่วนน้อย’ หรือเป็นกลุ่มคนที่มีแนวคิดแบบฟาสซิสต์ เพราะความพยายามโค่นล้มรัฐบาล ประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรี ถือว่าไม่เคารพกฎหมาย ไม่เคารพระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงกลางดึกของวันที่ 21 กรกฎาคม สร้างความกังวลต่อหลายฝ่ายเป็นอย่างมาก บางกลุ่มกังวลว่าการกระทำของประธานาธิบดีรานิลรุนแรงและเดินเกมเร็วเกินไป ประชาชนยังคงอยู่ในห้วงอารมณ์แห่งความโกรธแค้นจากการที่ประเทศเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักจนไม่มีเชื้อเพลิงเหลือใช้ บางส่วนมองว่ายิ่งรุนแรงจะยิ่งทำให้ประชาชนรวมตัวกันออกมาอีกครั้งแล้วจะจบแบบเดิมด้วยการที่ผู้คนพากันบุกทำเนียบประธานาธิบดี นอกจากนี้ นักวิชาการยังมองว่าการกระทำรุนแรงจะทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าประธานาธิบดีรานิลอาจไม่ต่างอะไรกับอดีตประธานาธิบดีโกตาบายา
อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางกลุ่มยังคงเชื่อใจในตัวผู้นำคนใหม่ เนื่องจากมองว่าในช่วงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงแบบนี้ คงไม่มีใครพร้อมทำงานเท่าประธานาธิบดีรานิลผู้อยู่ในแวดวงการเมืองนานกว่า 4 ทศวรรษ ซ้ำยังเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทูต เพื่อขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รวมถึงประเทศอินเดียและจีน
ที่มา:
https://www.aljazeera.com/news/2022/7/21/profile-ranil-wickremesinghe-sri-lankas-new-president
Tags: Report, ศรีลังกา