การซ้อมรบร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ถือเป็นสิ่งที่โลกเห็นจนชินตา ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา คู่ขนานไปกับการซ้อมรบของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเกาหลี หรือ ‘เกาหลีเหนือ’ ที่มักซ้อมยิงขีปนาวุธอยู่บ่อยครั้ง ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 เกาหลีเหนือซ้อมยิงขีปนาวุธมากกว่า 15 ครั้ง ส่วนฝั่งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ก็มักซ้อมรบทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เช่น การซ้อมรบใกล้เกาะฮาวายในปฏิบัติการชื่อ ‘แปซิฟิกดรากอน’ ที่ทุ่มกำลังและเทคโนโลยีไปยังการติดตามและตรวจจับขีปนาวุธ

วันที่ 29 มิถุนายน 2022 สำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือ (KCNA) สื่อภายใต้การควบคุมของรัฐบาล เผยแพร่รายงานสถานการณ์ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของเกาหลีเหนือ เนื้อหาระบุว่า การที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ซ้อมรบกันบ่อยขึ้น เป็นเพราะต้องการทำลายเกาหลีเหนือ ทั้งสามประเทศมีความตั้งใจที่จะจัดตั้ง ‘นาโตฉบับเอเชีย’ (Asian version of NATO) เพื่อขัดขวางความยิ่งใหญ่และความสำเร็จของประเทศอื่นในเอเชีย โดยเฉพาะความสำเร็จของเกาหลีเหนือ

รายงานดังกล่าวยังประณามสหรัฐฯ มากกว่าชาติอื่นๆ โดยอ้างว่าการกระทำของสหรัฐฯ นั้นกลับกลอก หลอกลวง พยายามมุ่งแสดงหาผลประโยชน์ในทวีปเอเชีย ต้องการขยายอำนาจโดยไม่สนใจถึงความกังวลของประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก เกาหลีเหนือยืนยันว่าการซ้อมรบส่วนใหญ่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ และการซ้อมรบที่บ่อยขึ้นแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ ไม่จริงใจที่จะสานสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือตามที่กล่าวไว้ นอกจากนี้ยังประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ว่า เป็น ‘ลูกไล่ของสหรัฐฯ’ หรือท่อนหนึ่งที่ระบุว่า ‘พวกเขาต้องคุกเข่าคำนับให้สหรัฐฯ’

ประเด็นเรื่องความกังวลของเกาหลีเหนือที่คิดว่าสามประเทศพันธมิตรจะจัดตั้งนาโตฉบับเอเชีย มีผลมาจากความคิดเห็นของนักวิชาการและนักการเมืองระดับสูงของเกาหลีเหนือ เช่น คิม ฮโยมยุง (Kim Hyo-Myung) นักวิชาการศูนย์สังคมระหว่างประเทศเพื่อวิจัยการเมืองเกาหลีเหนือ ระบุว่า “นาโตคือส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และนาโตจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” ก่อนอธิบายต่อว่า หากมีบางชาติพยายามจัดตั้งนาโตในเอเชีย หลายประเทศจะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะสุดท้ายแล้วนาโตก็คือเครื่องมือสร้างอำนาจของสหรัฐฯ และเป็นเครื่องมือของสหรัฐฯ ในการขยายฐานอำนาจอยู่ดี

บทความของสำนักข่าว KCNA เผยแพร่หนึ่งวันก่อนที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-yeol) เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมนาโตที่ประเทศสเปน แม้จะไม่ได้เป็นหนึ่งในสมาชิก แต่เกาหลีใต้ก็ได้รับเชิญในฐานะประเทศหุ้นส่วนพันธมิตรทางทหาร หรือผู้สังเกตการณ์ร่วมกับประเทศอื่นๆ อีก 30 ประเทศ และการเดินทางไปร่วมงานครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ ก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยุน ซอกยอล และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟุมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) จะร่วมหารือนอกรอบหลังการประชุมนาโตจบลง

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือการปรับนโยบายแข็งกร้าวของเกาหลีใต้ หลังจากผู้นำเกาหลีใต้คนปัจจุบันยืนยันทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ว่า ควรใช้มาตรการแข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือมากกว่าการเจรจาที่แทบจะไม่ได้ผลในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา รวมถึงข้อตกลงเรื่องการปรับใช้อาวุธที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้กำลังเจรจากับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งท่าทีของผู้นำเกาหลีใต้ถือว่าสร้างความไม่พอใจให้กับเกาหลีเหนือเป็นอย่างมาก

ทางด้านประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ทั้งสามชาติต้องประชุมกันว่า เพราะมีเป้าหมายร่วมกันในการทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงการวางแผนเปิดการค้าเสรีในแถบอินโดแปซิฟิก ส่วนนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและประธานาธิบดีเกาหลีใต้ระบุว่า ภัยคุกคามจากนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือมีส่วนสั่นคลอนเสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก และหวังว่าการหารือร่วมกันจะช่วยรับมือกับภัยคุกคามนี้ได้

ที่มา

https://www.aljazeera.com/news/2022/6/28/n-korea-accuses-us-regional-allies-of-moves-toward-asian-nato

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/north-korea-says-us-is-setting-up-asian-nato-vows-stronger-defence-2022-06-27/

https://www.reuters.com/world/joint-drills-by-us-allies-are-step-toward-asian-nato-nkorea-media-says-2022-06-28/

https://www.theguardian.com/world/2022/jun/29/north-korea-accuses-us-of-building-an-asian-nato-ahead-of-security-talks

Tags: , , , ,