เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา สภาพ ‘กรุงเทพมหานคร’ จากที่มีการจราจรติดขัดบนถนนแทบทุกสาย ผู้คนเดินเบียดเสียดเต็มสองข้างทาง ก็แทบจะมลายกลายเป็นเมืองร้าง

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะประชากรจากต่างจังหวัดที่เข้ามาตามหาความฝัน บ้างก็เข้ามาทำงาน บ้างก็เข้ามาเรียน ต่างถือโอกาสกลับภูมิลำเนาไปหาครอบครัว เพื่อเติมเต็มความสุขและแรงกายแรงใจ ก่อนจะกลับมาเผชิญกับภาระการงานอีกครั้ง โดยเฉพาะ 3 ปีหลัง ที่พวกเขาต้องอัดอั้น เหี่ยวเฉา ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ เนื่องจากนโยบายล็อกดาวน์ คุ้มเข้มการระบาดโรคโควิด-19 หลายระลอก

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเทศกาลแห่งความสุขที่หลายคนมีจุดหมายปลายทางคอยอยู่ ขณะเดียวกันมีคนกลุ่มหนึ่งที่ติดต้องแหง็กในเมืองหลวงแห่งนี้ ซึ่งพวกเขาถูกเรียกว่า ‘คนไร้บ้าน’

เดิมทีคนไร้บ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แต่เมื่อถูกเลิกจ้างในช่วงโควิดระบาดทำให้ตกงาน ขาดรายได้ ไร้ที่อยู่ จึงจำใจเลือกอยู่อาศัยตามพื้นที่สาธารณะ และมีทีท่าจะเพิ่มมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง สะท้อนผ่านสถิติการสำรวจของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในปี 2565 ที่พบว่า มีจำนวนคนไร้บ้านทั่วประเทศมากกว่า 4,500 ราย

ยกตัวอย่างถนนข้าวสาร ย่านสถานบันเทิงที่มีแสงไฟสว่างไสวส่องสว่าง เนืองแน่นไปด้วยคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ออกมาสังสรรค์ สาดน้ำ ประแป้งสนุกสนานตลอดทั้งคืน ผิดจากบริเวณถนนราชดำเนิน ยาวตลอดแนวทางเดินริมคลองหลอดที่มีบรรยากาศเงียบสงัด มืดสลัว และเต็มไปด้วยคนไร้บ้านปูเสื่อนอนเกร่อ ทนอากาศร้อนระอุในเดือนเมษายน สูดฝุ่นควันที่มองไม่เห็นด้วยตา เมื่อนึกเปรียบเทียบกันช่างต่างราวกับคนละโลก

คำถามสำคัญคือ ในเมื่อไปไหนไม่ได้ แล้วคนไร้บ้านเหล่านี้ทำอะไร และต้องเผชิญกับอะไรในช่วงสงกรานต์?

The Momentum สอบถามไปยังมูลนิธิกระจกเงา เพื่อคลายความกระจ่างจนได้ข้อมูลว่า ในช่วงสงกรานต์ ทางสำนักงานกรุงเทพฯ ไม่ได้มีนโยบายจัดระเบียบพื้นที่ของคนไร้บ้าน แต่มีนโยบายกำหนดจุดแจกอาหารให้เป็นระเบียบมากขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ทำมาก่อนสงกรานต์แล้ว 

ทั้งนี้ คนไร้บ้านส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่บริเวณถนนราชดำเนินและริมคลองหลอดเช่นเดิม ทว่ายามกลางวันอาจพบเห็นได้น้อยลง เพราะคนไร้บ้านบางส่วนเลือกเดินทางไปยังวัดระแวกใกล้เคียง เพื่อช่วยเหลืองานบุญรวมถึงกิจของพระสงฆ์แลกกับอาหาร หรือต่อแถวเช่าพระที่วัดนั้น ก่อนจะนำไปปล่อยขายในราคาที่ได้กำไร พอเก็บเงินได้ก็จะนำไปใช้จ่ายสนองความสุข แทนที่จะนำเงินไปใช้จ่ายสำหรับเดินทางกลับภูมิลำเนา ด้วยเหตุผลเพราะการจะกลับภูมิลำเนาจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ทั้งค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าที่พัก ไหนจะกลับไปก็ต้องเป็นภาระแก่ครอบครัวอีก แต่ที่น่าเห็นใจที่สุดคือ บางรายไม่มีบ้านให้กลับไปอีกแล้วตลอดกาล

คนไร้บ้านเป็นใคร มาจากไหน ทำไมจึงไร้บ้าน?

คนไร้บ้านนับเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเมืองใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมืองใหญ่ที่เจริญถึงขีดสุดหลายเมืองในโลกล้วนมีคนไร้บ้าน หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Pursuit of Happyness (2006) ที่นำแสดงโดย วิลล์ สมิธ (Will Smith) ที่ยกเค้าโครงมาจากชีวิตจริงของ คริส การ์ดเนอร์ (Christ Gardner) เศรษฐีชาวอเมริกันที่ถังแตกกลายเป็นคนไร้บ้าน ก็คงจะเข้าใจความเป็นมาของ

คนไร้บ้านในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ว่าการไร้บ้านไม่ได้เกิดขึ้นจากความตั้งใจ แต่มีสาเหตุมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่บุคคลนั้นๆ ไม่มีเงินมากพอจะเช่าที่อยู่อาศัย แม้จะอยู่ในเมืองที่ให้ค่าแรงสูงที่สุดในประเทศก็ตาม

มีงานวิจัยด้านมานุษยวิทยาหลายชิ้น ที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนไร้บ้านกับระบบเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยเก่าของอาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา (2546) ‘วิถีชีวิตคนไร้บ้าน: หลากหลาย ณ ชายขอบ’ ที่ระบุว่า “คนไร้บ้าน ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ไม่สามารถบุกเบิกปลูกบ้านราคาถูกในที่ดินที่ถูกปล่อยรกร้าง ไม่สามารถที่จะหาห้องเช่าราคาถูก” แม้จะเป็นงานวิจัยที่ผ่านมาแล้ว 20 ปี แต่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดคนไร้บ้านในสังคม พร้อมกันนี้ งานวิจัยดังกล่าวได้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าคนไร้บ้านไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นกลุ่มคนที่พยายามดิ้นรนหาช่องทางทำมาหากิน เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงปากท้องไปวันๆ 

“อีกปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากถิ่นฐานบ้านเกิดมาสู่ศูนย์กลางความเจริญ คือเรื่องระยะเวลาในการทำการเกษตร ซึ่งจะมีช่วงเวลานอกฤดูกาลเก็บเกี่ยวก่อนการทำนาอีกครั้งหนึ่งประมาณ 2 เดือน เป็นช่วงเวลาว่าง จึงมีบางคนเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อหางานรับจ้างชั่วคราว และไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นหลักเป็นแหล่งอย่างชัดเจน”

คำกล่าวข้างต้นมาจากงานวิจัยของ ธันย์ชนก สายรอด ในหัวข้อ ‘ความแปลกแยกของคนไร้บ้าน การศึกษาวิถีชีวิตคนไร้บ้านในพื้นที่สนามหลวง คลองหลอด ลานคนเมือง’ (2558) ที่อธิบายถึงปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและปัญหาที่ดินทำกิน เนื่องมาจากเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ โดนนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดิน เมื่อขายที่ออกไปแล้วก็ต้องเช่าต่อเพื่อทำไร่ทำนา และค่าเช่านั้นก็ตกสู่กระเป๋านายทุน แต่เมื่อราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ รายได้จากการทำเกษตรกรรมไม่เพียงพอจ่ายค่าเช่า อาชีพเกษตรกรก็หลุดลอยไปอย่างถาวร เพราะไม่เหลือทั้งเงินทั้งที่ดินให้ปลูก สุดท้ายจึงเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากเกษตรกรมาสู่การเป็นแรงงานรายวันในเมืองหลวง 

และสุดท้ายคืองานวิจัย ‘การพัฒนาตัวชี้วัดความเปราะบางในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน และตัวชี้วัดความพร้อม ในการตั้งหลักชีวิตเพื่อกลับคืนสู่สังคมของคนไร้บ้าน’ โดย ผศ.ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์ และคณะ (2561) ที่ระบุว่า คนไร้บ้านประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นทุนเดิม คนไร้บ้านจำนวนมากต่างเคยเป็นลูกจ้างรายวัน ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำ ฉะนั้นหากเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุที่กระทบต่อการทำงาน จึงถูกนายจ้างบังคับให้ลาออกโดยปริยาย ไร้ซึ่งเงินชดเชยใดๆ ซ้ำร้ายการจะกลับคืนสู่ตลาดแรงงานอีกครั้งก็ทำได้ยากลำบาก โดยเฉพาะแรงงานวัยใกล้เกษียณ ทั้งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ลามไปถึงสถาบันครอบครัว

หากสังเกตจุดร่วมของงานวิจัยที่ยกมาทั้ง 3 ฉบับ จะพบว่าคนไร้บ้านส่วนใหญ่ไม่ใช่คนจำพวกงอมืองอเท้า เป็นอาชญากร หรือขาดสติสัมปชัญญะ แต่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ถูกโครงสร้างสังคมบีบบังคับ และถูกสื่อ Romanticize ให้ดูน่าสงสารเกินจริง ทั้งที่พวกเขามีความตั้งใจอยากยืนหยัดชีวิตด้วยตนเอง และมีทางเลือกในการใช้ชีวิตอย่างอิสระมากกว่า

คนไร้บ้านไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่สร้างปัญหาให้เมือง แต่เพราะเมืองมีปัญหา จึงมีคนไร้บ้านเกิดขึ้น ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจคือ ทุกวันนี้ภาครัฐมอบสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่กลุ่มคนเปราะบางนี้ ได้มากไปกว่าการแจกข้าว แจกน้ำ หรือจับยัดใส่บ้านพักคนจรหรือไม่ เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการแท้จริงอาจเป็น ‘อาชีพ’ และการยอมรับในฐานะ ‘มนุษย์’

ได้แต่ภาวนาให้สงกรานต์ในปีต่อๆ ไป จะไม่มีถูกทิ้งให้ประสบกับความลำบาก และมีสถานที่ที่เรียกว่าบ้านให้กลับไป

 

อ้างอิง

บุญเลิศ วิเศษปรีชา. (2546). “วิถีชีวิตคนไร้บ้าน: ความหลากหลาย ณ ชายขอบของเมือง.” วารสารปาริชาต, มหาวิทยาลัยทักษิณ.

ธันย์ชนก สายรอด. (2558). “ความแปลกแยกของคนไร้บ้าน การศึกษาวิถีชีวิตคนไร้บ้านในพื้นที่สนามหลวง คลองหลอด ลานคนเมือง.” วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.

พีระ ตั้งธรรมรักษ์ และคณะ. (2561). “การพัฒนาตัวชี้วัดความเปราะบางในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน และตัวชี้วัดความพร้อม ในการตั้งหลักชีวิตเพื่อกลับคืนสู่สังคมของคนไร้บ้าน.” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.

Tags: , , , ,