24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เพื่อรอศาลพิจารณาและวินิจฉัยเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ว่าขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ ทำให้ในระหว่างนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 ขึ้นเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
วันเดียวกัน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้ว่า การรักษาการนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเหมือนนายกรัฐมนตรีทุกอย่าง พร้อมตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามถึงการ ‘ยุบสภา’ ว่าสามารถทำได้หรือไม่ คำตอบคือ ‘ทำได้’
คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญและคำตอบของวิษณุ ทำเอาสังคมขยับอุณหภูมิของเกมการเมืองขึ้นอีก เพราะเท่ากับว่าเวลานี้ดุลอำนาจเปลี่ยน พลเอกประวิตรก้าวขึ้นมาเป็น ‘เบอร์ 1’ ชั่วคราว และเท่ากับว่ามีโอกาสเป็นเบอร์ 1 ต่อไปในเวลาอันใกล้ หากศาลรัฐธรรมนูญให้พลเอกประยุทธ์พ้นจากตำแหน่ง ใน 1 เดือนนี้ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา จึงเป็น 1 เดือนสำคัญที่เกมการเมืองอาจเปลี่ยนได้ทุกขณะ…
The Momentum ต่อสายคุยกับ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี รองศาสตราจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ประเมินเกมการเมือง และทำความเข้าใจ ‘อำนาจ’ และ ‘ผู้เล่น’ ในทำเนียบรัฐบาลขณะนี้
ก่อนอื่น สิริพรรณแย้งคำกล่าวของรองนายกฯ วิษณุ ในกรณีที่กล่าวว่ารักษาการนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเหมือนนายกรัฐมนตรีทุกอย่าง เนื่องจากเป็นการพูดในมุมที่กว้างจนเกินไป และในทางปฏิบัติก็ถือเป็นการผิดมารยาททางเมือง ถึงแม้รัฐธรรมนูญอาจไม่ได้ระบุไว้ แต่หากใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินถือว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้
“รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยรักษาการคือทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น อำนาจจึงมีอยู่อย่างจำกัด ถ้านำมาใช้เพื่อปรับคณะรัฐมนตรีหรือยุบสภาก็ไม่ควรทำ”
ส่วนเรื่องการวางเกมทางการเมือง สิริพรรณกล่าวว่ามีหลักฐานหรือเบาะแสที่พอเชื่อได้ว่าพลเอกประยุทธ์รู้อยู่ก่อนหน้า และพลเอกประวิตรก็มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวพอสมควรว่าจะได้ขึ้นมาเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี แต่สิ่งที่น่าสนใจคืออาจจะมีโอกาสเป็นไปได้เช่นกันที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจยืดการวินิจฉัยดังกล่าวนี้ออกไปมากกว่า 3 สัปดาห์ และไม่ตรงกับที่หลายฝ่ายคาดการณ์
“เชื่อว่าท่าทีของพลเอกประวิตรคงรอวันนี้มานาน เพียงแต่ว่าไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร ไม่ต่างจากเวลาพลเอกประยุทธ์ไปต่างประเทศ แล้วพลเอกประวิตรนั่งรักษาการแทน ซึ่งไม่ได้ต่างกันในแง่นี้ เพียงแต่ครั้งนี้ไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลานานแค่ไหนในการพิจารณา ทุกครั้งการรักษาการทุกคนทราบว่าพลเอกประยุทธ์จะกลับมา แต่ครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญอาจลากไปได้นานกว่า 3 สัปดาห์”
ส่วนคนในพรรคพลังประชารัฐส่วนหนึ่งน่าจะยิ้มน้อยยิ้มใหญ่พอสมควรเนื่องจากพลเอกประวิตรซึ่งเป็นเจ้าของพรรคตัวจริงย่อมสามารถคุมพรรคได้ดีกว่าพลเอกประยุทธ์ ส่วนพรรคเล็กคงเศร้าไปในช่วงนี้
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ในทางการเมืองการปกครองของประเทศไทยอีกครั้ง เนื่องจากไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีที่ถูกสั่งให้หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างรอการวินิจฉัย ในกรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือ สมัคร สุนทรเวช นั้น ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติการทำหน้าที่ทันที ฉะนั้น ทำให้พลเอกประยุทธ์คือคนแรกในหน้าประวัติศาสตร์ และกลายเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับนักรัฐศาสตร์
“หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา ไม่ว่าจะอยู่ถึงปี 2568 หรือ 2570 ก็ตาม พลเอกประวิตรย่อมกลับไปนั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม พอได้มาดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี ก็ได้ประโยชน์ทั้งคู่ ภาพออกมาเป็นแบบนั้นก็ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจหรือในรัฐบาลเปลี่ยนไปเท่าไร แต่หากมองในอีกแง่หนึ่ง พบว่าต่อให้พลเอกประยุทธ์กลับมา ก็เป็นการเสียหน้าไปเล็กน้อยเหมือนกัน เนื่องจากเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว”
สิริพรรณกล่าวเสริมว่า ไม่ว่าจะวิเคราะห์อย่างไร มูลค่าทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ก็อยู่ในช่วงขาลงเป็นอย่างมาก หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อได้ถึงปี 2568 เชื่อว่ายิ่งทำให้มูลค่าลดลงมากกว่าเดิม เพราะต่อให้พลเอกประยุทธ์สามารถจัดประชุมเอเปคปี 2565 (APEC 2022) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพได้ตามที่หวัง แต่ชื่อของพลเอกประยุทธ์จะไม่ถูกนำเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในช่วงเลือกตั้งครั้งถัดไป ไม่ว่าจะจากพรรคไหนแน่นอน เนื่องจากสามารถดำรงตำแหน่งได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น
ในทางกลับกัน หากคำวินิจฉัยออกมาว่าเป็นได้อีกสมัยเพราะไปจบที่ปี 2570 พลเอกประยุทธ์ก็ต้องมานั่งคิดว่าจะเดินเกมการเมืองอย่างไรต่อไป พรรคพลังประชารัฐจะยังคงสนับสนุนให้เป็นนายกฯ อยู่หรือไม่ หรือคงต้องพึ่งพรรคนั่งร้านที่เตรียมการไว้แล้ว
“พรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมายังมองไม่ค่อยเห็นออร่าสง่าราศีว่าจะมีคนมาร่วมมากขนาดไหน ที่สำคัญเรายังมองไม่เห็นว่าพรรคใหม่ที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์จะได้คะแนนถึง 25 ที่นั่ง หรือ 5 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ หากไม่ถึงย่อมไม่สามารถเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี และไม่ถูกนำมาพิจารณา”
ไพ่อีกใบที่พลเอกประยุทธ์ยังมี คือการนั่งเกาอี้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้คณะรัฐมนตรี ถ้าหากพลเอกประยุทธ์คิดจะสู้วันนี้ คงได้เห็นสัญญาณของการปรับคณะรัฐมนตรีและนำขุนพลข้างกายของตัวเองมานั่งในตำแหน่งสำคัญ แต่หากเป็นไปในทางนี้ รอยร้าวที่มีอยู่แล้วของ 3 ป. คงมีแต่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ส่วนคำถามว่ายุบสภาในช่วงระหว่างรักษาการนั้น สิริพรรณมองว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ ด้วย 2 ประการ ดังนี้
ประการแรกคือเงื่อนไขของเวลาที่ไม่เอื้อ หากมีการเลือกตั้งต้องภายใน 45-60 วัน ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเกิดขึ้นก่อนการประชุมเอเปค แน่นอนว่าคงนำมาสู่ความสับอลหม่านและแทบเป็นไปไม่ได้
ประการถัดมา คือพรรคพลังประชารัฐยังไม่พร้อม และคงไม่ได้เปรียบหากจำเป็นต้องเลือกตั้งในช่วงนี้ ถึงแม้จะมีภาพนายกฯ สัญจรอยู่บ้าง แต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความเป็นรัฐบาลในการหาเสียงให้คุ้มค่า ถ้าจะยุบสภาเวลานี้ คนยุบต้องได้ประโยชน์
สุดท้าย สิริพรรณมองว่า เรื่องการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของพลเอกประยุทธ์ จะจบลงก็ต่อเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อาจภายในเดือนกันยายนอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ หรือยืดเยื้อออกไปตามที่ได้กล่าวมาก็เป็นได้เช่นกัน แต่ตามเหตุผลกรอบเวลาก็ไม่ควรเกินเดือนกันยายน
“แทบไม่ต้องหาหลักฐานหรืออะไรเพิ่มเติม แตกต่างจากกรณีคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ใช้เวลากว่า 90 วัน แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะยื้อเพื่อให้พลเอกประวิตรรักษาการแทนนานๆ ก็ยังทำได้ เพราะว่ารัฐธรรมนูญไม่มีกำหนดว่าต้องใช้เวลาเท่าไร
“ถ้าให้คาดคะเนก็อาจจะผิด แต่เป็นไปได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาว่าเริ่มนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 60 ก็จะอยู่ต่อได้ถึงปี 68 แต่ไม่ว่าอย่างไร การดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีหมดลงแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ด้วยเหตุผลว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ มาตรา 158 วรรค 4 ที่บอกว่า นายกรัฐมนตรีเป็นได้ 8 ปี ไม่ว่าจะต่อเนื่องหรือไม่ก็ตาม คือมีผลบังคับใช้ทันที ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะมาจากรัฐธรรมนูญฉบับไหนจากทิศทางใด ถ้า 8 ปีก็ครบแล้ว และเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ไม่ว่าคุณจะดำรงมากี่ปีย่อมนับต่อจากนั้นทันทีและนำมาใช้กับทุกคน”
Tags: Report, การเมือง, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ประวิตร วงษ์สุวรรณ, สิริพรรณ นกสวน สวัสดี