วันนี้ (30 เมษายน 2568) ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ มีการจัดกิจกรรม Re-positioning Thailand: วางตำแหน่งใหม่เศรษฐกิจไทยในสงครามการค้า โดยตอนหนึ่งของงานเสวนา ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงนโยบายทางการค้าของสหรัฐอเมริกาที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อหลายอุตสาหกรรม
ศิริกัญญากล่าวว่า ผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจมหภาค มีหลายหน่วยงานออกมาวิเคราะห์ว่า จีดีพี (GDP) ของประเทศไทยในปี 2568 จะโตไม่ถึง 2% อย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้ไว้ที่ 1.8% ขณะที่ธนาคารโลกให้ไว้ที่ 1.6%
ศิริกัญญาเสนอแนวทางรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ ‘3R’ หรือ Relief, Recovery และ Reform ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่สหรัฐฯ ใช้รับมือกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ปี 1930
โดย Relief รองหัวหน้าพรรคประชาชนระบุว่า คือการเยียวยาเฉพาะหน้าให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ หรือแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น ประเทศเกาหลีใต้มีการจัดเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) กว่า 100 ล้านล้านวอน หรือประเทศญี่ปุ่นที่มีประกาศให้สินเชื่อกับ SMEs โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตามในประเด็นมอบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ศิริกัญญามองว่า จะไม่สามารถบรรเทาปัญหาได้หากไม่มีการประกันสินเชื่อ และต้องส่งเสริมให้เกิดการอุดหนุนสินค้าอุตสาหกรรมในประเทศ
ขณะที่ Recovery ศิริกัญญากล่าวว่า คือการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป ซึ่งตนมองว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน แต่ยังไม่อยากเห็นการกระตุ้นการบริโภคภายในด้วย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’
“ในยามนี้ที่ผลกระทบยังไม่รู้ว่าจะหนักขนาดไหน การเจรจาจะสำเร็จผลหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ ก็คงจะต้องตุนกระสุนเอาไว้ในเรื่องที่จำเป็นจริงๆ การที่จะกระตุ้นการบริโภคตอนนี้น่าจะยังไม่เหมาะ”
ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน พยุงการจ้างงาน และจัดบริการให้คำปรึกษาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ หรือที่ไต้หวันได้จัดเตรียมงบประมาณ 8.8 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน เพื่อจัดสรรให้กับ SMEs โดยมีเงื่อนไขห้ามเลือกจ้างงาน รวมทั้งอุดหนุนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D)
และ Reform ศิริกัญญาอธิบายว่า อยากเห็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับย่อยที่สามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนอุดหนุนงบประมาณ Upskill และ Reskill ให้กับแรงงานขนานใหญ่ และยังต้องปฏิรูปโครงสร้างรัฐเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
ศิริกัญญายังกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันเห็นความพยายามของรัฐบาลที่จะโยนหินถามทางเรื่องการ ‘กู้เงิน 5 แสนล้านบาท’ เพื่อกระตุ้นการบริโภค การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงการปฏิรูป ตนมองว่าจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่า 5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้จากสถานภาพการคลังของประเทศ ศิริกัญญามองว่า หากรัฐจำเป็นต้องกู้ 5 แสนล้านบาทจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากพื้นที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เพียงพอ เพราะรัฐก็ต้องกู้เพิ่มชดเชยขาดดุลงบประมาณประจำปี 2569 ด้วย
“ดิฉันไม่ได้เชียร์รัฐบาล แต่มันเป็นสภาพความเป็นจริงที่จะต้องเกิดขึ้นคือ เราจำเป็นที่จะต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ มิเช่นนั้นก็จะไม่มีงบประมาณมากเพียงพอที่จะไปใช้ในการอุดหนุนเงินให้กับแผนเยียวยา กระตุ้น และปฏิรูปประเทศได้ ไม่ช้าก็เร็วเราต้องทำอยู่ดี
“ดังนั้นเรามาเชียร์ให้ทางรัฐบาลเริ่มเสนอแผนว่าจะกระตุ้นแบบใด การลงทุนภาครัฐแบบใดที่อยากทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว การกระตุ้นแบบใดที่เรายังไม่อยากได้ตอนนี้ ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ที่จะพูดคุย รวมถึงเสนอแนวทางแก้ไขระยะยาวในการปฏิรูป”
Tags: ศิริกัญญา, พรรคประชาชน, ภาษีทรัมป์, การลงทุน, สหรัฐอเมริกา, เศรษฐกิจ, การค้า, หนี้สาธารณะ