เมื่อวานนี้ (20 พฤษภาคม 2568) เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ ‘ชะลอ’ โครงการแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทอลวอลเล็ต เพื่อนำงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาทไปใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ตามข้อเสนอแนะของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ภายหลังที่ประเทศไทยจะเผชิญกับสถานการณ์กำแพงภาษีของ โดนัล ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ในวันเดียวกัน ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นโดยมองว่า การที่รัฐบาลอ้างเหตุผลเรื่องกำแพงภาษีของทรัมป์ เพื่อเป็น ‘ทางลง’ ของโครงการแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้นเป็นทางออกที่ดีและเป็นที่น่าพอใจของหลายฝ่าย
ศิริกัญญามองว่า เหตุผลที่รัฐบาลไม่นำโครงการดังกล่าวมาเป็นตัวกระตุ้นทางเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลรู้ดีว่า โครงการดังกล่าวไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง จึงต้องปรับแนวทางการใช้เงิน จากเดิมที่เป็นการกระตุ้นการบริโภคเปลี่ยนมาเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ซึ่งจะเห็นผลเชิงบวกมากกว่าแทน
“คิดว่าโครงการนี้ (ดิจิทัลวอลเล็ต) น่าจะกลับมายากมาก หากจะกลับมาใหม่ ต้องรวมเม็ดเงินงบประมาณให้ได้อีกเป็นแสนล้านบาทอีกรอบ ซึ่งงบประมาณปี 2569 ก็ไม่ทันแล้ว หรืองบประมาณปี 2570 ก็น่าจะหมดวาระของรัฐบาลก่อนที่จะได้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ดังนั้นน่าจะเป็นการปิดประตูแล้ว ถือว่าเป็นทางลงที่ดี” ศิริกัญญากล่าว
ขณะที่แนวทางของรัฐบาลที่จะนำงบประมาณในส่วนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1.57 แสนล้านบาทไปลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รองหัวหน้าพรรคประชาชนระบุว่า เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณครั้งนี้ แม้จะยังไม่ทราบรายละเอียดของการลงทุน เพียงแต่เห็นแบบคร่าวๆ ว่า จะนำงบประมาณไปใช้กับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำ การคมนาคม การท่องเที่ยว และการเยียวยาผลกระทบจากภาคการส่งออก
อย่างไรก็ตามประเด็นที่ศิริกัญญามองว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญคือ การกระตุ้น ‘การลงทุนของภาคเอกชน’ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่เศรษฐกิจไทยย่ำแย่มานาน จากรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 1 ประจำปี 2568 ของสภาพัฒน์พบว่า การลงทุนของภาคเอกชนติดลบที่ 0.9
ทั้งนี้ศิริกัญญากล่าวต่อว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล เพราะในอนาคตอาจมีมาตรการดังกล่าวที่ออกมากระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนภายหลังก็ได้ เพราะรัฐบาลมักจะทยอยเปิดแผนทีละเล็กทีละน้อย
เมื่อถามว่า การนำงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาทไปใช้กับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจะสามารถรับมือกับกำแพงภาษีของทรัมป์ได้หรือไม่ ศิริกัญญาตอบกลับว่า ด้วยเม็ดเงินจำนวนเท่านั้น ‘ไม่สามารถ’ พยุง GDP ของประเทศให้โตที่ 3% ได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้า เพียงแต่เป็นการผ่อนหนักให้เป็นเบา จากเดิมที่ GDP ตลอดทั้งปีอาจจะโตที่ 1.8% เป็นโตที่ 1.92% ต่อปี
ซึ่งงบประมาณที่จะเข้ามาดำเนินการในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รองหัวหน้าพรรคประชาชนมองว่า ยังมีงบกลางซึ่งเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน ปี 2568 อีกกว่า 6.6 หมื่นล้านบาทสามารถมาใช้ได้
“เราบอกว่า จริงๆ ยังมีแหล่งเงินอื่นๆ อีกที่รัฐบาลสามารถเอามาใช้ได้ เราเสนอไปว่าให้เอางบกลางปี 2568 มาใช้ เพราะคุณยังใช้ไม่ถึงไหนเลย ทำไมมองแค่ 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งมันนิดเดียว ถ้ามีงบกลางมาเพิ่มก็จะเป็น 2.2 แสนล้านบาท”
นอกจากนั้นเงินสะสมของท้องถิ่นยังถือเป็นงบประมาณอีกก้อน ที่รัฐบาลสามารถจูงใจให้ท้องถิ่นนำออกมาใช้ได้ ผ่านการทำ ‘Matching Fund’ โดยรัฐบาลสามารถจูงใจได้ด้วยการเชิญชวนให้ท้องถิ่นลงทุนในโครงการที่รัฐบาลอยากให้เกิดขึ้น โดยที่รัฐช่วยจ่ายเงินครึ่งหนึ่งและท้องถิ่นจ่ายเงินอีกครึ่งหนึ่ง ด้วยโมเดลแบบนี้จะทำให้การลงทุนงบประมาณ 1 แสนล้านบาทของรัฐได้กลับมาถึง 2 แสนล้านบาท
“เราอยากเห็นรัฐบาลลุกขึ้นมาทำกระตุ้นเศรษฐกิจแบบจริงๆ จังๆ เอาเข้าจริงเรารอมา 2 ปีแล้วกับรัฐบาลชุดนี้ ยังไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจจริงๆ จังๆ ยกเว้นตอนที่แจกเงินหมื่นรอบแรก 1.20 แสนล้านบาท ซึ่งแจกไปแล้วเหมือนเทน้ำซึมลงบ่อทรายไม่ได้มีอะไรกลับมา”
ศิริกัญญาให้เหตุผลต่อว่า เพราะการแจกเป็น ‘เงินสด’ อาจทำให้คนไม่ใช้เงิน แต่นำไปเก็บออมแทน หรือแจกเงินไปแล้วซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ หรือแม้แต่นำเงินไปชำระหนี้สิน ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้เม็ดเงินไม่หมุนเวียนกลับมาในระบบเศรษฐกิจ
เมื่อถามต่อว่า ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้อย่างไร จากรายงานล่าสุดของสภาพัฒน์ได้ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ของปี 2568 ที่ประเทศไทยโต 3.1% และคาดว่าทั้งปีจะโตที่ 1.8% ศิริกัญญาตอบว่า ไม่ได้กังวลกับตัวเลข GDP เท่าไร แต่สิ่งที่เป็นกังวลคือ รายได้ของประชาชนที่จะซบเซาตาม เพราะราคาสินค้าเกษตรหลายตัวราคาตกลง แม้ยังไม่เจอภาษีทรัมป์ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย หรือข้าว ดังนั้นเงินของประชาชนเหลือน้อยลง จึงมักได้ยินคนพูดกันว่า ตลาดเงียบ เศรษฐกิจซึม
ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นที่รองหัวหน้าพรรคประชาชนแสดงความกังวลคือ ‘การจ้างงาน’ โดยหากประเทศไทยหมดระยะเวลา 90 วัน ที่สหรัฐฯ ยืดเวลาการเก็บภาษี ผลกระทบจริงที่เกิดขึ้นจะตามมา โดยแรงงานในโรงงานและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จะถูกลดระยะเวลาการทำงาน หรือเงิน OT ดังนั้นรัฐบาลจะต้องออกมาตรการเพื่อพยุงการจ้างงาน มิเช่นนั้นเศรษฐกิจจะยิ่งเลวร้ายกว่าเดิม
ทั้งนี้ศิริกัญญายังมองว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวเร่งให้ทุกฝ่าย เห็นพ้องต้องกันถึงการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเสียที จากเดิมที่อาจจะรู้สึกว่าไม่ต้องเร่งรีบ แต่พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการปรับปรุงโครงสร้าง
“การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจต่างๆ ถ้าเร่งทำก็จะยิ่งดี เพียงแต่ว่าก่อนหน้าที่อาจจะรู้สึกว่า ยังไม่ต้องรีบ แต่พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น มันก็น่าจะเป็นตัวเร่งให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจแล้ว และช่วยกันกดดันรัฐบาลให้ช่วยคลอดแผนการอะไรออกมาเพื่อให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวเสียที” รองหัวหน้าพรรคประชาชนทิ้งท้าย
Tags: ดิจิทัลวอลเล็ต, Digital Wallet, ศิริกัญญา, พรรคประชาชน