ข้อถกเถียงว่าด้วย ‘ชุดนักเรียน’ กำลังเป็นประเด็นใหญ่ในสื่อไทย หลังจากหลายคนตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและความจำเป็นถึงการมีอยู่ของชุดนักเรียนอย่างดุเดือด รวมไปถึงกฎระเบียบอันพิลึกชวนปวดหัว ที่เกิดขึ้นในวัยเรียนอีกด้วย
สำหรับหน้าสื่อต่างประเทศ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อวานนี้ (15 มิถุนายน 2023) คอลัมนิสต์ประจำแชนเนลนิวส์เอเชีย (Channel News Asia) ตั้งคำถามถึง ‘การปฏิรูปเครื่องแบบชุดนักเรียน’ ในประเทศสิงคโปร์ สืบเนื่องจากสภาวะอากาศร้อนของประเทศ เมื่อทางการ ‘อนุโลม’ ให้นักเรียนแต่งกาย ‘ยืดหยุ่น’ เหมาะสมกับสภาพอากาศได้
เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (South China Morning Post) รายงานในเดือนพฤษภาคมว่า โรงเรียนหลายแห่งในสิงคโปร์ผ่อนคลายกฎระเบียบเรื่องเครื่องแบบนักเรียนเพื่อรับมืออากาศอันร้อนระอุ เพราะเดือนดังกล่าวอยู่ในวิกฤตอุณหภูมิสูงที่สุดของปี
แนวทางนี้เริ่มต้นจากกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ (Ministry of Education: MOE) มีจุดประสงค์ให้นักเรียน ครู หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้รับความปลอดภัยและมีสวัสดิการที่ดีต่อการใช้ชีวิตท่ามกลางอากาศร้อน โดย MOE เปิดเผยกับแชนเนลนิวส์เอเชียว่า
“โรงเรียนอาจต้องหาวิธีอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือนักเรียนให้รับมือกับคลื่นความร้อนได้ดียิ่งขึ้น เช่น อนุญาตให้นักเรียนสวมใส่ชุดพละหรือเสื้อยืด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของพวกเขาด้วย”
แนวทางตัวอย่างที่ถูกหยิบยกขึ้นมา เป็นข้อปฏิบัติของโรงเรียนประถมเฮนรีพาร์ก (Henry Park Primary School) ซึ่งตามกฎระเบียบที่อนุโลม นักเรียนไม่ต้องสวมเสื้อโปโลของโรงเรียน และนักเรียนหญิงยังเลือกสวมเสื้อที่มีกางเกงขาสั้นในวิชาพลศึกษา แทนกระโปรงนักเรียนได้อีกด้วย
“โรงเรียนสร้างข้อปฏิบัติดังกล่าวเพื่อปลอบประโลมนักเรียนของเรา ในขณะเดียวกัน เราก็พยายามช่วยการันตีต่อผู้ปกครองทุกท่านว่า ลูกของคุณจะแต่งกายเรียบร้อย
“โรงเรียนขอย้ำเตือนให้นักเรียนทุกท่านรักษาระดับความชื้นในร่างกายด้วยการดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอตลอดทั้งวัน” ประกาศของโรงเรียนที่พูดถึงการอนุโลมแต่งกายในฤดูร้อน ขณะเดียวกัน ก็ยังเน้นย้ำความเรียบร้อยของชุดเครื่องแบบที่อนุโลมอยู่
โรงเรียนอื่นๆ ก็มีวิธีปฏิบัติทำนองเดียวกัน เช่น นักเรียนในโรงเรียนประถมหญิงล้วนรัฟเฟิลส์ (Raffles Girls’ Primary School) ไม่ต้องใส่เครื่องแบบเอี๊ยมกระโปรงยาวหลังวิชาพลศึกษา หากพวกเธอเห็นว่าร้อนเกินไป ซึ่งตามรายงานของผู้ปกครองเปิดเผยว่า ส่วนมากเลือกแต่งกายแบบยืดหยุ่น แต่หลายคนก็ยังใส่ชุดเอี๊ยมตามปกติ รวมถึงโรงเรียนหญิงล้วนเมธอดิสต์ (Methodist Girls’ School) ก็อนุญาตให้นักเรียนสวมใส่ชุดพละแทนเครื่องแบบนักเรียนเต็มยศ
นอกจากนั้น กระทรวงศึกษาธิการยังขอความร่วมมือจากโรงเรียน ช่วยดูแลและตรวจสอบนักเรียน รวมถึงเจ้าหน้าที่ท่ามกลางสภาวะอากาศร้อนระอุตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับภัยจากความโหดร้ายของแสงแดด
ข้อคิดเห็นของนักข่าวชาวสิงคโปร์ต่อการผ่อนปรนเครื่องแบบนักเรียน
อันที่จริง การอนุโลมเครื่องแบบนักเรียนในอาเซียนไม่ได้เกิดขึ้นกับสิงคโปร์แห่งเดียว แต่ยังรวมถึงประเทศมาเลเซีย เพราะกระทรวงศึกษาธิการของมาเลเซีย อนุโลมให้นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา สวมใส่ชุดกีฬาแทนเครื่องแบบเต็มยศเช่นเดียวกัน
ฉี เซอเยิน (Sze-Yen Chee) คอลัมนิสต์แห่งแชนเนลนิวส์เอเชียแสดงความคิดเห็นว่า เพราะอากาศอบอ้าวของภูมิภาคที่ยาวจนถึงเดือนกันยายน หรือบางครั้งก็ทุบสถิติเป็นประวัติการณ์ จึงเป็นเวลาอันสมควรที่ทางการสิงคโปร์จะเปลี่ยนกฎระเบียบการสวมใส่เครื่องแบบนักเรียนเพื่อความสะดวกสบายยิ่งขึ้น
โดยปกติแล้ว เครื่องแบบนักเรียนของสิงคโปร์เน้นใช้เนื้อผ้าเบาและบาง เหมาะกับภูมิภาคเขตร้อน อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงสร้างความอึดอัด เพราะความจุกจิกของรายละเอียดบางอย่าง
เช่น ผู้ชายต้องสวมเสื้อเชิ้ตกับกางเกงขาสั้น หรือเปลี่ยนเป็นกางเกงขายาวสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ขึ้นไป ขณะที่ผู้หญิงสวมเสื้อเบลาส์และกระโปรง หรือเอี๊ยมกระโปรงยาว
รวมถึงกรณีพิเศษ นักเรียนต้องสวมเครื่องแบบกึ่งทางการ คือการใส่เสื้อยืดกับกางเกงในวันที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงการแต่งกายในพิธีทางการ นักเรียนต้องใส่เสื้อคลุมกับเน็กไทเพิ่มขึ้นจากเครื่องแบบเดิม
“แน่นอนว่า เครื่องแบบเหล่านี้ได้รับการผ่อนปรนในช่วงโรคระบาด ฉันคุยกับเด็กวัยรุ่นวัย 13-18 ปี ทุกคนมาจาก 5 โรงเรียนที่แตกต่างกัน พวกเขาบอกว่า ต้องแต่งกายกึ่งทางการเกือบทั้งสัปดาห์ และสวมใส่เสื้อเชิ้ตกับเน็กไทในวันชุมนุมเพียงอย่างเดียว” เธออธิบายสถานการณ์ของนักเรียนในสิงคโปร์
นั่นจึงนำมาสู่ข้อเสนอแนะสำคัญว่า โรงเรียนในสิงคโปร์ควรผ่อนปรน ลดรายละเอียดบางอย่างของเครื่องแบบลง และดัดแปลงเพื่อให้มีจุดระบายอากาศมากขึ้น เช่น การใช้ผ้าที่ไม่แสดงคราบเหงื่อ เคลื่อนไหวได้สะดวก หรือแม้แต่การให้ทางเลือกสวมชุดกีฬา
สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนสะดวกสบายขึ้นอย่างมาก อ้างอิงจากงานวิจัยสำนักงานเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปี 2018 ที่ค้นพบว่า ความรู้สึกไม่สบายตัวอาจส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของนักเรียน โดยทุกอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาฟาเรนไฮต์ จะทำให้การเรียนรู้ลดลง 1%
นอกจากนี้ คำถามสำคัญที่ ฉี เซอเยิน ทิ้งระเบิดไว้ปิดท้ายคือ ‘ความจำเป็นของการสวมใส่เครื่องแบบนักเรียน’ หลังจากเธอพบวัยรุ่นถกเถียงเรื่องนี้ เด็กจำนวนมากเริ่มสังเกตสิทธิส่วนตัวในการแต่งกาย และความลำบากในการรักษาเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งภาพเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมตะวันตก เมื่อเด็กมีเสรีภาพในการแต่งกายไปเรียน
แม้ว่าจุดยืนของเธอต่อชุดเครื่องแบบนักเรียน คือ การส่งเสริมให้คงอยู่ โดยอ้างว่า นักเรียนสิงคโปร์เข้าใจจุดประสงค์ของเครื่องแบบที่ ‘ส่งเสริมความเท่าเทียมและอัตลักษณ์ของโรงเรียน’ โดยที่เด็กไม่ต้อง ‘คิดมาก’ เรื่องการแต่งตัวไปโรงเรียน ซึ่งเป็นข้อถกเถียงที่ใครหลายคนน่าจะเห็นต่างอยู่มากทีเดียว โดยเฉพาะหากเทียบกับบริบทของประเทศไทย
แต่ ฉี เซอเยิน ก็อธิบายอย่างน่าสนใจว่า การสนทนาและรวบรวมความคิดเห็นของนักเรียนนั้นคุ้มค่าอย่างมาก เพราะในความรู้สึกของเธอ เด็กเจน Z เป็นกลุ่มที่มีความสดใสและมีความคิดเป็นของตนเอง ก่อนจะทิ้งท้ายว่า คนรุ่นก่อนจำเป็นต้องพึ่งพาเด็กๆ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และปรับปรุงความเป็นจริงในปัจจุบัน รวมถึงกฎเครื่องแบบนักเรียนด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเห็นจากโลกภายนอก ที่ชวนให้ย้อนกลับมาขบคิดถึงสถานการณ์ในประเทศไทย โดยเฉพาะการ ‘โอบรับ’ ฟังความเห็นจากคนรุ่นใหม่ทุกกลุ่ม และ ‘ไม่ด้อยค่า’ ต่อสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญปัญหาจากเครื่องแบบนักเรียน
ไม่ว่าจะเป็นความอึดอัดจากการแต่งกายท่ามกลางอากาศร้อน ความเหลื่อมล้ำในเครื่องแบบนักเรียน หลังมีข่าวผู้ปกครองจำนวนมากต้องจำนำของมีค่าเพื่อไปใช้จ่ายกับสิ่งเหล่านี้ รวมถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศจากเครื่องแบบนักเรียน เมื่อเด็กผู้หญิงจำนวนมากต้องกลายเป็นเหยื่อจากกลุ่มผู้ใคร่เด็ก เพียงเพราะสวมใส่ชุดนักเรียน หรือแม้แต่ประเด็นที่ใครหลายคนมองว่าไร้สาระและหยามเหยียดในสิ่งที่เด็กกำลังหยิบยก คือ ‘การมีเสรีภาพในการแต่งกาย’ เหมือนประเทศทั่วไปนั่นเอง
อ้างอิง
https://www.channelnewsasia.com/singapore/school-uniforms-primary-students-hot-weather-moe-3483731
Tags: สิงคโปร์, มาเลเซีย, ไทย, ชุดนักเรียน, เครื่องแบบนักเรียน, อากาศร้อน, เสรีภาพในการแต่งกาย