วันนี้ (7 มิถุนายน 2567) ภายหลังการประชุมลับของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อเวลา 11.00 น. ณ สำนักงาน กกต.มีมติเอกฉันท์ 7 เสียง ให้เดินหน้าในจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว. ) ชุดใหม่ในระดับอำเภอต่อไป โดยไม่รอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาการได้มาซึ่ง ส.ว.ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ในมาตรา 36, 40, 41 และ 42 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่
กรณีดังกล่าวมีข่าวว่า กกต.อาจพิจารณาและมีคำสั่งให้เลื่อนการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ในระดับอำเภอซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่อาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน 2567 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพื่อรอผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การเลื่อนกำหนดการเลือก ส.ว.ของ กกต.อาจเป็นการเลื่อนที่ไม่มีกฎหมายรองรับ นำมาซึ่งความเสียหายแก่ผู้สมัคร ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เตรียมเข้าสู่กระบวนการเลือก ส.ว. อีกทั้งมีการจัดสรรงบประมาณแล้ว และการเลื่อนการเลือก ส.ว.ออกไปอาจทำให้กลุ่มผู้สมัคร ส.ว.ไม่สะดวกไปใช้สิทธิเลือกในวันเลือกที่จะกำหนดขึ้นใหม่
สำหรับฉากทัศน์ต่อไป มีการวิเคราะห์ว่า เมื่อ กกต.มีมติไม่รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณากฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.และจัดให้มีการเลือก ส.ว.ตามกำหนดการเดิมต่อไป หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายลูกไม่ขัดต่อรัฐธรรม มาตรา 107 กกต.จะยังเดินหน้าตามกำหนดการเดิม คือเปิดให้มีการเลือก ส.ว.ในระดับจังหวัดและในระดับประเทศต่อไป
แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2561 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ก็เท่ากับล้มกระดานการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ หมายถึงกฎหมายลูกขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงต้องยกร่างกฎหมายลูกใหม่ทั้งฉบับ ขั้นตอนและกระบวนการในการยกร่างกฎหมายจะใช้เวลานาน นั่นหมายถึงว่า ส.ว.แต่งตั้งชุดปัจจุบันจะต้องทำหน้าที่รักษาการต่อไปจนกว่าร่างกฎหมายจะแล้วเสร็จ มีผลบังคับใช้ และเริ่มต้นนับหนึ่งในการเลือก ส.ว.อีกครั้งหนึ่ง
“พูดเสมอว่า สิ่งที่เราทำกับผู้สมัครหรือประชาชน ผมคิดว่าเราทำร่วมกัน คือเราอยากได้ ส.ว. 200 คนตามเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่ที่ กกต.ทำคนเดียวก็คือการรักษากระบวนการการเลือกที่ให้เป้าหมายที่เราอยากจะได้ ระหว่างทางถ้ากระบวนการไม่เรียบร้อย เป้าหมายไม่ต้องพูด มันกระทบแน่” แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ระบุ
Tags: การเมือง, กกต., เลือกสว, สวชุดใหม่