รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) เป็นรอยเลื่อนที่ยังคงมีพลัง (Active Fault) ทอดแนวยาวตั้งแต่ตอนเหนือ-ตอนใต้ ตั้งแต่เมืองมิตจีนา มัณฑะเลย์ ตองยี เนปิดอว์ พะโค และย่างกุ้ง ของประเทศเมียนมา โดยมีความยาวราว 1,200 กิโลเมตร ประกอบด้วยแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น คือ แผ่นซุนดา (Sunda Plate) กับแผ่นเมียนมา (Burma Plate) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate) ในปัจจุบัน
บทความวิชาการเรื่อง รอยเลื่อนสะกาย: พฤติกรรมและภัยพิบัติต่อประเทศไทย โดยสันติ ภัยหลบลี้ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสัณฑวัฒน์ สุขรังษี ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนาแผ่นดินไหวและสึนามิ ระบุว่า ลักษณะทางธรณีสัณฐานมีการแสดงการปริแตกและเลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกอย่างเห็นได้ชัด และพบลักษณะเฉพาะของภูมิประเทศที่สัมพันธ์กับรอยเลื่อนในเมียนมา เช่น ผารอยเลื่อน เนินเขาแนวขวาง หนองน้ำยุบตัว ทางน้ำหัวขาด และทางน้ำหักงอ ซึ่งบ่งชี้การเลื่อนตัวของรอยเลื่อนสะกาย
สำหรับรอยเลื่อนนี้มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2507-2555 เกิดแผ่นดินไหวแมกนิจูด 2.9-7.3 ประมาณ 276 ครั้ง เคยแสดงพลังด้วยการทำให้เกิดแผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.0 มาแล้วราว 70 ครั้ง ในตั้งแต่ปี 1972-2534 โดยแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกายที่กระทบกับประเทศไทยรวมรวมโดย Pailoplee 2012 ได้แก่
– 23 พฤษภาคม 2455 แมกนิจูด 8.0 ที่มัณฑะเลย์
– 23 พฤษภาคม 2455 แมกนิจูด 8.0 ที่ตองยี
– 3 ธันวาคม 2473 แมกนิจูด 7.3 ที่พะโค
– 4 ธันวาคม 2473 แมกนิจูด 7.3 ที่ย่างกุ้ง
สันติชี้ว่า รอยเลื่อนสะกายสามารถสร้างแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ถึงแมกนิจูด 8.6 โดยเฉพาะในพื้นที่ทางตอนบนของรอยเลื่อน
สำหรับผลกระทบของรอยเลื่อนสะกายกับประเทศไทยเมื่อเกิดแผ่นดินไหว มีโอกาสได้รับแรงสั่นสะเทือนตามมาตราเมอร์คัลลิ (Mercalli Scale) ในระดับ IV (ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านรู้สึกว่าของในบ้านสั่นไหว) และระดับ V (รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนได้เกือบทุกคน ของในบ้านเริ่มแกว่งไกว) ซึ่งสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงภาคกลางของไทย โดยพฤติกรรมการตอบสนองต่อแรงสั่นสะเทือนของกรุงเทพฯ ในจุดที่เป็นชั้นดินอ่อนมีโอกาสขยายแรงสั่นสะเทือนสูงสุดถึง 3 เท่า ขณะเดียวกันสันติยังให้ความเห็นว่า กรณีที่คลื่นแผ่นดินไหวมาจากระยะไกลหรือคลื่นแผ่นดินไหวที่ผ่านการขยายสัญญาณ มักจะเป็นคลื่นที่มีคาบการสั่นที่ยาว
สำหรับเหตุแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกายครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในวันนี้ (28 มีนาคม 2568) เวลา 13.30 น. แมกนิจูด 8.2 ตามการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาประเทศไทย และแมกนิจูด 7.7 ตามการรายงานของสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐฯ (United State Geological Survey: USGS) โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา
ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่า เกิดอาฟเตอร์ช็อก 9 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 เวลา 13.32 น. แมกนิจูด 7.1
ครั้งที่ 2 เวลา 13.45 น. แมกนิจูด 5.5
ครั้งที่ 3 เวลา 14.24 น. แมกนิจูด 4.0
ครั้งที่ 4 เวลา 14.37 น. แมกนิจูด 5.2
ครั้งที่ 5 เวลา 14.42 น. แมกนิจูด 3.9
ครั้งที่ 6 เวลา 14.57 น. แมกนิจูด 4.7
ครั้งที่ 7 เวลา 15.21 น. แมกนิจูด 4.0
ครั้งที่ 8 เวลา 15.45 น. แมกนิจูด 3.7
ครั้งที่ 9 เวลา 15.52 น. แมกนิจูด 3.8
โดยแรงสั่นสะเทือนทำให้อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างพังถล่มลงมา ขณะเดียวกันมีรายงานว่า พบความเสียหายในอาคารหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ
อ้างอิง
– http://www.mitrearth.org/4-186-tectonic-stress-sagaing-fault/
– https://earthquake.tmd.go.th/mi.htm
– https://www.bbc.com/thai/articles/c2010wg75zdo
– https://www.facebook.com/share/p/15xnobS3qm/
– https://earthquake.tmd.go.th/documents/file/seismo-doc-1422078707.pdf