ในช่วงที่ผ่านมา คอฟุตบอลคงได้พบเห็นข่าวการปลดผู้จัดการทีมใน 2-3 สัปดาห์นี้อย่างไม่หยุดไม่หย่อน นับตั้งแต่สโมสรเซบีย่า (Sevialla) ในลาลีก้า ประเทศสเปน ที่เพิ่งแต่งตั้ง ฮอร์เก ซัมโปลี (Jorge Sampoli) กุมบังเหียนในฐานะผู้จัดการทีมก่อนพบแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (Manchester United) ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายศึกยูฟ่ายูโรปาลีก (UEFA Europa League)
หรือข่าวดังช็อกโลกกีฬา หลัง ยูเลียน นาเกิลมันน์ (Julian Nagelmann) ถูกปลดชนิดสายฟ้าแลบจากบาเยิร์นมิวนิก (Bayern Munich) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้แต่งตั้ง โทมัส ทูเคิล (Thomas Tuchel) อดีตกุนซือสิงห์น้ำเงินที่ว่างงานมานานรับช่วงต่ออย่างรวดเร็ว
รวมไปถึงสถานการณ์ของพรีเมียร์ลีก (Premier League) ประเทศอังกฤษ ที่ร้อนแรงไม่แพ้สโมสรอื่นๆ เริ่มตั้งแต่การปลด อันโตนิโอ คอนเต้ (Antonio Conte) จากตำแหน่งผู้จัดการทีมสโมสรท็อตแน่มฮ็อทสเปอร์ส (Tottenham Hotspurs) ต่อด้วย เบรนแดน ร็อดเจอร์ส (Brendan Rodgers) จากเลสเตอร์ซิตี้ (Leicester City) และล่าสุด สโมสรเชลซี (Chelsea) ก็เพิ่งประกาศแยกทางกับ เกรแฮม พอตเตอร์ (Graham Potter) หลังพ่ายแพ้แอสตันวิลล่า (Aston Villa) ในศึกพรีเมียร์ลีก
ดูไปดูมา การปลดผู้จัดการทีมของสโมสรดังหลายแห่งในครั้งนี้เหมือนกับการละเล่นเก้าอี้ดนตรีเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญทำให้หลายคนสงสัย คือทำไมสโมสรฟุตบอลบิ๊กเนมในลีกยุโรป ถึงปลดผู้จัดการทีมเยอะเป็นพิเศษในช่วงเดือนเมษายน โค้งสุดท้ายก่อนฟุตบอลลีกจะปิดฤดูกาลกัน?
คำตอบที่ชัดเจนที่สุดสำหรับคำถามนี้ คือนอกจากผลงานที่ย่ำแย่ และความขัดแย้งระหว่างผู้จัดการทีมกับบอร์ดบริหาร ไม่มีมูลเหตุหรือความบังเอิญใดๆ ในปรากฏการณ์นี้มากไปกว่าวัฒนธรรมในวงการฟุตบอลยุคใหม่อย่าง ‘การเตรียมแผนงานสำหรับตลาดซื้อขายนักเตะในช่วงซัมเมอร์ที่กำลังจะถึง’ ของบอร์ดบริหารและกลุ่มสตาฟ
แนวคิดนี้กำลังแพร่หลายในหลายสโมสรใหญ่ของยุโรปว่า ถ้าวางแผนและเตรียมการต่อตลาดซื้อขายช้าเกินไป หรือร้ายแรงที่สุด คือไม่เสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน ไม่เพียงแต่แผนงานจะอยู่ตามหลังสโมสรอื่น แต่นั่นยังหมายถึงผลกระทบต่อการแข่งขันฟุตบอลทั้งฤดูกาลเลยทีเดียว
หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่สุด คือการวางแผนของสโมสรอาร์เซนอลที่ตัดสินใจรีบคว้าตัว เลอันโดร ทรอสซาร์ (Leandro Trossard) มาจากสโมสรไบรตันฯ (Brighton & Hove Albion) หลังจากเชลซีแย่งซื้อ มิไคโร มูดริก (Mykhaylo Mudryk) นักเตะจากสโมสรชัคตาร์โดเน็กส์ (Shakhtar Donetsk) ไปก่อนหน้า
โดยตอนนี้ ทรอสซาร์ก็ทำผลงานกับอาร์เซนอลอย่างยอดเยี่ยม ไม่ทำให้แฟนปืนใหญ่ผิดหวัง ด้วยการจ่ายบอลให้เพื่อนร่วมทีมทำประตูถึง 7 ลูกภายในเวลา 2 เดือน ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า การเตรียมแผนงานล่วงหน้ามีความหมายสำหรับฟุตบอลสมัยใหม่อย่างไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลายทีมล้วนมีเป้าหมายเสริมทัพให้ทีมแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อการันตีการติดท็อป 4 ของตาราง ซึ่งนำไปสู่สิทธิลงเล่นในยูฟ่าแชมป์เปี้ยนลีก (UEFA Champions League) และการลุ้นแชมป์ลีกของตนเอง
รวมไปถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ภายในทีม เช่น สโมสรลิเวอร์พูล (Liverpool) ที่กำลังอยู่ในช่วงวางแผนสร้างทีมใหม่ เพื่อกอบกู้ตำแหน่งท็อป 4 หลังจากมีผลงานอันย่ำแย่ในฤดูกาลนี้ และขั้นตอนการสรรหาเจ้าของทีมคนใหม่ ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเร็ววัน เพราะมีผลอย่างมากต่องบประมาณในตลาดซื้อขาย และการปรับปรุงโครงสร้างในรั้วโอลด์แทร็ฟฟอร์ด (Old Trafford) สนามเหย้าของทีม
อีกทั้งยังมีกระแสวิเคราะห์บางส่วนว่า ปัจจุบันตลาดซื้อขายนักเตะช่วงซัมเมอร์ของพรีเมียร์ลีกกำลังถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ หลังจากมีการใช้เงินอย่างมหาศาลช่วง 2 ตลาดซื้อขายที่ผ่านมา จนเกิดงบประมาณขาดดุล ส่งผลให้หลายทีมต้องคิดคำนวณและประเมินการใช้เงินเพื่อให้สอดคล้องกับกฎทางการเงินของยูฟ่า (Financial Fair Play: FFP)
ดังนั้น ตลาดซื้อขายนักเตะของพรีเมียร์ลีกครั้งนี้ คงเต็มไปด้วยความระแวดระวังกันและต้องวางแผนกันอย่างหนักหน่วงพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์ของเรือใบสีฟ้า หรือแมนเชสเตอร์ซิตี้ (Manchester City) ที่ถูกตั้งข้อหาโดยพรีเมียร์ลีกว่า ละเมิดกฎ FFP นับ 100 ครั้งในเวลา 9 ปี จนเป็นเรื่องราวใหญ่โตในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหมือนการเชือดไก่ให้ลิงดู และส่งสัญญาณให้สโมสรอื่นๆ ต้องรีบขยับตัวและปรับโครงสร้างของทีมให้ได้โดยเร็วที่สุด
อ้างอิง
https://theathletic.com/4120608/2023/01/26/manchester-united-ffp-finances/
Tags: Liverpool, ฟุตบอล, Manchester United, premier league, Chelsea, Leicester City, UEFA Champion League, Bayern Munich, Tottennam Hotspurs, พรีเมียร์ลีก