ในช่วงเช้าตรู่ของทุกวันราว 05.00 น. เหล่าคนงานของวิสาหกิจชุมชนสุรากลั่นพื้นบ้าน ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ต่างขะมักเขม้นในการหุงข้าวเหนียวเพื่อนำไป ‘หมัก’ เป็นสุรา ซึ่งถือเป็นภาพที่เห็นเป็นปกติของชุมชนผลิตสุราพื้นบ้านชื่อดังของประเทศแห่งนี้

ในขั้นตอนการหมัก แม่สาย-กัญญาภัค ออมแก้ว เจ้าของสุรากลั่นพื้นบ้าน สักทองแพร่ และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสุรากลั่นพื้นบ้าน เล่าให้เราฟังว่า จะนำข้าวเหนียวไปหมักกับ ‘ลูกแป้ง’ ซึ่งเป็นก้อนสมุนไพรที่ปั้นขึ้นมาจากสมุนไพรหลายชนิด เช่น พริก ดีปลี ปิดปิวแดง หรือหอม โดยการหมักจะใช้เวลาประมาณ 12-15 วันก่อนจะกลั่นออกมาเป็นสุรา

ในส่วนของเคล็ดลับความอร่อย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ บอกกับเราว่าขึ้นอยู่ที่ ‘คุณภาพน้ำ’ ที่นำมาใช้หมัก น้ำในตำบลสะเอียบมีแร่ธาตุมากกว่าที่อื่น จึงทำให้ได้มาซึ่งสุราที่มีคุณภาพตามไปด้วย

“น้ำที่นี่มีแร่ธาตุมากกว่าที่อื่น รสชาติมันก็ได้ มันคือวัตถุดิบหลักเลยที่ทำให้เหล้าของเราโดดเด่น เดี๋ยวนี้เราพัฒนาขึ้น ข้าวเราก็ปลูกเองจึงไม่ได้ใส่สารเคมี และในพื้นที่ของเรา บางทีข้าวที่เขาเหลือกิน วิสาหกิจเราก็รับต่อมาทำเหล้า” เขาเล่า

สำหรับตำบลสะเอียบแล้ว การผลิตสุราพื้นบ้านนั้นถือเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใน ด้วยการจ่ายภาษีสรรพสามิตให้รัฐสูงถึง 500 ล้านบาทต่อปี ถือว่ามีสัดส่วนคิดเป็นกว่า 30% ของการจัดเก็บภาษีสุราชุมชนทั่วประเทศ สะเอียบจึงถูกขนามนามว่าเป็น ‘มหานครแห่งสุราพื้นบ้าน’ อีกทั้งแนวโน้มของการจ่ายภาษีสรรพสามิตจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตตามการคาดการณ์ของเจ้าของสุรากลั่นพื้นบ้าน สักทองแพร่

คำถามก็คือหากเขื่อนแก่งเสือเต้นเกิดขึ้นจริง น้ำที่มาจากแม่น้ำยม ซึ่งใช้สำหรับ ‘ปรุงเหล้า’ จะกระทบหรือไม่ หากโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ถูกสร้างขึ้น คำถามก็คือชาวบ้าน หนึ่งในชุมชนที่ผลิตเหล้าที่ดีที่สุดในประเทศจะถูก ‘บังคับ’ ให้ย้ายถิ่นฐานหรือไม่ เหล้าสะเอียบจะเหลือเพียง ‘ตำนาน’ หรือไม่ หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง 

แน่นอนว่าเขื่อนดังกล่าว อาจกระทบต่อชีวิตและภูมิปัญญาของพวกเขาให้สูญหายไปย่อมได้…

Tags: , , , ,