ประเทศอังกฤษถือเป็นประเทศที่เคยเข้าร่วมสงครามหลายครั้ง ทั้งสงครามภาคพื้นทวีป สงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกคนไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ในระหว่างการต่อสู้มีพลทหารมากมายที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ บางคนเป็นทหารแนวหลัง หลายคนเป็นทหารแนวหน้าที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ไม่แพ้ทหารคนอื่นๆ และมีทหาร LGBTQ+ จำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตขณะกำลังต่อสู้เพื่อประเทศชาติและประชาชน
แต่แทบทุกครั้งที่สงครามสิ้นสุดลง กองทัพอังกฤษไม่เคยออกมาพูดถึงการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้เลยแม้แต่น้อย ซ้ำร้าย มีรายงานว่า องค์กรทหารผ่านศึกอังกฤษ (The Royal British Legion: RBL) เคยออกมาปฏิเสธอย่างหนักแน่นถึงการเสียสละของทหารที่เป็น LGBTQ+ เหมือนกับกำลังบอกว่าในกองทัพไม่มีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับว่าพวกเขาก็มีบทบาทไม่น้อยในช่วงที่อังกฤษทำสงคราม
เหตุผลที่ทำให้กองทัพหรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทหารปฏิเสธการมีตัวตนของทหาร LGBTQ+ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริบททางสังคมในอดีตที่ยังไม่เปิดกว้างเท่าปัจจุบัน เพราะอังกฤษเข้าร่วมสงครามใหญ่ตั้งแต่ 100 ปีก่อน หรือ 80 ปีก่อน ในช่วงเวลานั้น หลายประเทศบังคับใช้กฎหมายลงโทษ LGBTQ+ ทำให้ผู้มีอำนาจหลายคนรู้สึกไม่สบายใจที่จะประกาศว่า ทหารผู้มีเกียรติมีรสนิยมทางเพศที่แตกต่างจากคนอื่นๆ
นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเท่าเทียมทางเพศในอังกฤษเคยออกมาเรียกร้องให้องค์กรทหารผ่านศึกยอมรับการมีตัวตนของทหาร LGBTQ+ ผู้พลีชีพ และขอให้ยุติการต่อต้านการรำลึกถึงเพศทางเลือก ซึ่งการเรียกร้องที่ว่านี้มีมานานกว่าสิบปี และข้อเรียกร้องของพวกเขามักถูกเมินเฉยเสมอมา
ในปี 2007 ชาร์ลส์ เบิร์น (Charles Byrne) ผู้อำนวยการองค์กรการกุศลแห่งหนึ่ง เคยเขียนจดหมายถึงองค์กรทหารผ่านศึกเพื่อขอความชัดเจนถึงเรื่องที่เรียกร้อง แต่องค์กรทหารผ่านศึกกลับกล่าวหาว่า สิ่งที่พวกเขากำลังเรียกร้องคือความพยายามดึงทหารเข้ามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง
หนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้องค์กรทหารผ่านศึกถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด เกิดขึ้นในงานรำลึกถึงทหารผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 ชุมชน LGBTQ+ ในอังกฤษส่งพวงหรีดทรงสามเหลี่ยมสีชมพูมายังงานเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิต แต่เจ้าหน้าที่ในองค์กรทหารผ่านศึกวิจารณ์พวงหรีดจากชุมชนเกย์ว่า ‘น่าขยะแขยง’ และแสดงความคิดเห็นว่าพวงหรีดนี้ดูถูกคนที่ตายในสงคราม
ชาร์ลส์แสดงความคิดเห็นต่อองค์กรทหารผ่านศึกว่า ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปกี่ปี องค์กรนี้ก็ไม่เคยยอมรับว่ามีเกย์ กะเทย เลสเบี้ยน หรือเพศอื่นๆ ในชุมชน LGBTQ+ ที่ร่วมต่อสู้ในสงคราม ก่อนจะกล่าวถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่ออกมาตอบรับกับเสียงเรียกร้องของประชาชน เช่น ในปี 2000 รัฐบาลประกาศยกเลิกกฎหมายห้ามเกย์รับราชการทหาร หรือเหตุการณ์ปี 2007 ที่กระทรวงกลาโหมอังกฤษออกแถลงการณ์ขอโทษเจ้าพนักงาน LGBTQ+ ที่เคยถูกกดขี่และเลือกปฏิบัติ
“องค์กรทหารผ่านศึกคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่มาจากไหน พวกเขาเย่อหยิ่ง ไม่ยอมให้เกียรติหรือรำลึกถึงคนในชุมชน LGBTQ+ ที่ร่วมต่อสู้เพื่ออิสรภาพ พวกเขาก็มีความสำคัญไม่แพ้คนอื่นๆ ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ เหมือนกับคนผิวดำและชาวยิว แต่กลายเป็นว่าองค์กรทหารผ่านศึกให้ความเคารพต่อคนหลายกลุ่ม ยกเว้นทหาร LGBTQ+ ที่เสียชีวิตในสงคราม”แม้ความขัดแย้งระหว่างนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางเพศกับองค์กรทหารผ่านศึกจะคุกรุ่นมานานกว่า 15 ปี แต่ตอนนี้ ชาร์ลส์กล่าวว่า เขาเริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลงทีละน้อย ปัจจุบันองค์กรทหารผ่านศึกมีคนรุ่นใหม่เข้าไปทำงานมากขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้ต่อต้านแนวคิดเหยียดเพศของคนรุ่นเก่าที่อยู่ในองค์กรมาก่อน จากเดิมที่แนวคิดเหยียดเพศเคยเป็นใหญ่ ตอนนี้พวกเขา (คนรุ่นเก่า) กลับกลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่ถูกยอมรับ
ปีเตอร์ ทาตเชลล์ (Peter Tatchell) นักข่าวและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวกับสำนักข่าวเดอะการ์เดียนว่า เขาก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เคยส่งจดหมายไปยังองค์กรทหารผ่านศึกเมื่อปี 2007 และไม่เคยได้รับการตอบกลับ แต่ตอนนี้ดูเหมือนทุกอย่างจะเปลี่ยนไปแล้ว เพราะองค์กรทหารผ่านศึกพยายามสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน LGBTQ+ มากขึ้น
ในปี 2019 องค์กรทหารผ่านศึกประกาศเปิดหน่วยงานย่อยที่จะดูแลเรื่องความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกหลังรัฐบาลอังกฤษประกาศยกเลิกคำสั่งห้าม LGBTQ+ รับราชการทหารในกองทัพ หน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวคือการเชิญให้ทหารผ่านศึกที่เป็น LGBTQ+ กลับมาร่วมงานกับกองทัพอีกครั้ง เพื่อช่วยจัดงานปฐมนิเทศทหารใหม่ จัดอบรมสร้างความเข้าใจเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศในกองทัพเรือ นาวิกโยธิน และกองเรือหลวง รวมถึงครอบครัวของทหารในกองทัพต่างๆ
“หากทหารหรือครอบครัวของทหารต้องการถามคำถามเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ พวกเขาก็มีคนในเครือข่ายที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ได้” – แถลงการณ์จากองค์กรทหารผ่านศึกถึงการเปิดหน่วยดูแลเรื่องความหลากหลายทางเพศ
แม้องค์กรทหารผ่านศึกจะเปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้น แต่นักเคลื่อนไหวบางส่วนก็ยังไม่พอใจเท่าไรนัก เนื่องจากประเด็นการพูดจาดูถูกพวงหรีดแสดงความเคารพทหาร LGBTQ+ ที่เสียชีวิตในสงคราม และการไม่ยอมรับเรื่องที่ว่าทหารที่ตายในสงครามก็มีผู้หลากหลายทางเพศรวมอยู่ด้วย ยังคงไม่มีคำอธิบาย ไม่มีการขอโทษ หรือแสดงความเสียใจกับการกระทำดังกล่าว
ในปีนี้ องค์กรทหารผ่านศึกได้ออกมาขอโทษต่อสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และยอมรับว่าเมื่อหลายสิบปีก่อนมีการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อทหารหลายนายจริง ตอนนี้จะมุ่งมั่นแก้ปัญหากับสิ่งที่เกิดขึ้น และจะส่งเสริมความร่วมมือกับชุมชน LGBTQ+ มากขึ้น โดยหวังว่าประเด็นความเท่าเทียมทางเพศจะกลายเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็สามารถเข้าใจได้ โดยไม่ทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกหรือเกิดอคติกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ที่มา:
https://www.theguardian.com/…/royal-british-legion…
https://www.pinknews.co.uk/…/royal-british-legion-lgbt…/
https://www.britishlegion.org.uk/…/why-lgbt-community…
Tags: สหราชอาณาจักร, ทหารผ่านศึก, ความเท่าเทียมทางเพศ, Report, LGBTQ, อังกฤษ, ความหลากหลายทางเพศ