วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 รัฐสภา รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแบบไม่ลงมติ ถึงมาตรา 152 โดยเรียกการอภิปรายครั้งนี้ว่าเป็นตั๋วช้างภาค 2 ‘ตำรวจเลวได้ดี ตำรวจดีต้องลี้ภัย’ กับเรื่องราวของ พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าคดีค้ามนุษย์ ที่อยู่ดีๆ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ
เรื่องราวทั้งหมดสืบเนื่องจากเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี โดยลดระดับประเทศไทยจากกลุ่มเทียร์ 2 เป็น เทียร์ 2 วอชลิสต์ หรือเกือบแย่สุดจากทั้งหมด 4 ระดับ ในรายงานยังระบุว่า ประเทศไทยเป็นทั้งประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทางของการค้ามนุษย์
เรื่องราวทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นจากคดีค้ามนุษย์ปี 2558 หลังค้นพบค่ายกักกันโรฮีนจาบนเทือกเขาแก้ว อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา คาดว่าค่ายกักกันแห่งนี้สามารถจุคนได้ถึง 1,000 คน แต่ไม่ระบุจำนวนแน่ชัดได้ว่ามีชาวโรฮีนจาผ่านค่ายกักกันนี้กี่คน โดยประเมินเบื้องต้นคาดว่ามีมากกว่า 4 หมื่นคน โดยสภาพความเป็นอยู่น่าอดสูเวทนา ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์จะทำกับมนุษย์ได้
ขบวนการค้ามนุษย์ยังมีการเรียกเก็บเงิน 1-7 หมื่นบาท ข่มขืน ทำร้ายร่างกาย และปล่อยให้อดอยากป่วยตายมากกว่า 30 ราย และขบวนการค้ามนุษย์นี้ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง
“การค้ามนุษย์ไม่ได้มีแค่การบังคับไปขายบริการทางเพศ ไปเป็นแรงงานประมง เป็นขอทานอย่างที่เราคุ้นกันเท่านั้น ในกรณีของชาวโรฮีนจาที่ต้องการอพยพไปประเทศมาเลเซีย ต้องใช้เส้นทางไทย จึงเป็นที่มาของขบวนการหากินกับเลือดเนื้อคน การเรียกเก็บเงินชาวโรฮีนจาหัวละหลายหมื่น จับยัดใส่เรือประมงที่ดัดแปลงไว้ ขนคนแล่นเข้าน่านน้ำไทย พอขึ้นฝั่งมาก็นำมาขังไว้ที่ค่ายลับกลางป่าเขา
“บางคนเป็นผู้หญิงก็ถูกข่มขืน สามีต้องทนดูภรรยาถูกกระทำ พ่อต้องทนดูลูกถูกชำเรา แต่ละคนถูกซ้อมทรมาน เปิดโทรศัพท์แล้วเฆี่ยนตีให้ญาติที่อยู่ปลายทางฟัง จะได้หาเงินเอามาจ่ายค่าไถ่ ถ้าไม่มีจ่ายให้ก็ปล่อยทิ้งไว้ในคอกให้อดอยาก จะป่วยจะตายไม่เป็นไร ไม่ต้องสน”
รังสิมันต์ระบุว่า การสืบสวนครั้งดังกล่าวนำโดย พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ในช่วงปี 2558
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หลังสืบสวนไปเรื่อยๆ พบว่าขบวนการค้ามนุษย์นี้เกี่ยวข้องกับทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ และนักการเมืองในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ทำกันเป็นขบวนการใหญ่ โดยมี พลโท มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ศิษย์เก่าเตรียมทหารรุ่น 16 เกี่ยวข้องด้วย ทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์ถูกขัดขวางหลายครั้ง ถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงหลักฐานใบสลิปโอนเงิน และมีบุคคลโทรมากดดันเพื่อยอมให้พลโทมนัสได้ประกันตัว
“พลตำรวจตรีปวีณ ในฐานะที่เป็นนายตำรวจมือฉมัง ถูกมอบหมายให้มาทำคดีนี้ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากตำรวจที่รับผิดชอบคดีอยู่ คือ พลตำรวจ ด. พันตำรวจเอก อ. และ พันตำรวจเอก ฉ. เวลาขอข้อมูลก็ถูกปฏิเสธ จนต้องขยายผลเอง ต่อมามีการค้นบ้านพักกลุ่มผู้ต้องหาในจังหวัดระนอง ที่มีพันตำรวจเอก อ. เป็นหัวหน้าชุดตรวจค้น พบหลักฐานการโอนเงินของผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ โอนไปให้ พลโท มนัส คงแป้น โดยมีรายการธุรกรรมเป็นวงเงินถึง 14 ล้านบาท หลักฐานชิ้นนี้ พลตำรวจตรีปวีณก็เพิ่งมารู้ทีหลังจากนักข่าว เพราะพันตำรวจ อ. ที่เป็นหัวหน้าชุดตรวจค้นไม่ยอมส่งหลักฐานให้”
“เมื่อออกหมายจับแล้วมีผู้ต้องหาทยอยมอบตัว เช่น ปัจจุบัน อังโชติพันธ์ หรือ ‘โกโต้ง’ อดีตนายก อบจ. สตูล ที่เลือกไปมอบตัวกับ พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร. ในขณะนั้น ซึ่งเคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ดูพื้นที่สงขลาและสตูลมาก่อน ส่วนกรณี พลโทมนัส หลังออกหมายจับไม่กี่วัน พลตำรวจปวีณ ได้รับสายโทรศัพท์จากนายตำรวจคนสนิทของพลเอกประวิตร อ้างว่าพลเอกประวิตร ต้องการเห็น พลโทมนัสถูกปล่อยตัว”
หลังจากสายนั้น พลโทมนัสได้มามอบตัวกับ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นเดินทาง (ผบ.ตร.) ถึงกรุงเทพฯ เมื่อมาถึงทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงกับจัดเครื่องบินส่งตัวตรงจากกรุงเทพฯ มาควบคุมตัวไว้ที่หาดใหญ่ และเมื่อพลโทมนัสทราบว่าพนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัวก็ไม่พอใจ อ้างว่า ผบ.ตร. อนุญาตให้ประกันตัวแล้ว เรื่องนี้ พลตำรวจเอก เอก อังสนานนท์ รองผบ.ตร. ในขณะนั้น ได้เขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ บอกเล่าเช่นกันว่าได้ยิน พลตำรวจเอกสมยศพูดกับพลโทมนัสว่า ‘เราเป็นพี่เป็นน้องกัน จะให้ความเป็นธรรม สอบสวนปากคำเสร็จแล้วจะให้ประกันตัวไป’ แล้วพอไม่ได้ประกัน พลโทมนัสก็มาโวยวายว่า ‘กูโดนหลอก ผบ.ตร. จะให้ประกันตัว แต่ไอ้รองเอกคัดค้านไม่ให้การประกันตัว’
“การที่ ผบ.ตร. รวมถึงพลเอกประวิตรต้องการให้พลโทมนัสได้ประกันตัว เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่แสดงให้เห็นว่าพวกท่านไม่เคารพกฎหมาย ใช้เส้นสายช่วยเหลือพวกพ้อง เพราะอันที่จริงคดีลักษณะนี้เป็นการกระทำนอกราชอาณาจักรด้วย ซึ่งตามกฎหมาย คนที่จะสั่งให้หรือไม่ให้ประกันได้ก็คืออัยการสูงสุด ไม่ใช่ ผบ.ตร. และไม่ใช่รองนายกรัฐมนตรี”
ในตอนหนึ่งของการอภิปราย รังสิมันต์ยังระบุด้วยว่า คนที่เคยอยู่ร่วมห้องขังกับพลโทมนัสได้เล่าให้ฟังว่า พลโทมนัสมักพูดถึงสาเหตุที่ตัวเองถูกจับว่า ‘ตอนทำก็รับผลประโยชน์กันทุกคน ตอนโดนทำไมกูโดนคนเดียว ถ้าออกไปได้จะเอาคืนให้หมด’
“ก็ไม่รู้ว่านี่เป็นเหตุให้ พลโทมนัสที่แข็งแรงสุขภาพดีมาตลอด อยู่ๆ ก็หัวใจวายตายไปอย่างนั้นหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิตร พอทราบสาเหตุหรือไม่”
รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า ตลอดเวลาที่พลตำรวจตรีปวีณทำคดี เขาและทีมงานโดนข่มขู่อยู่ตลอดเวลา สุดท้ายพลตำรวจตรีปวีณ จึงถูกเด้งไปอยู่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนใต้ สถานที่ที่ตำรวจต่างรู้กันดีว่าเป็นเหมือน ‘ใบสั่งตาย’ จึงยื่นใบลาออกจากราชการตำรวจ
“สงสัยมาตลอดว่าทำไม พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์ ที่ดูท่าจะทำงานได้ดี ต้องลี้ภัยออกจากประเทศไปกะทันหัน ทุกอย่างถูกเขียนไล่เรียงเรื่องราวไว้อย่างละเอียดแล้วในเอกสารคำให้การเพื่อขอลี้ภัยต่อรัฐบาลออสเตรเลียแล้ว”
“ถ้าคุณประวิตรนั่งอยู่ตรงนี้แล้วไม่ได้หลับอยู่ ผมก็จะถามท่านว่าต้องการให้คุณปวีณจบชีวิตที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช่หรือไม่”
ไม่กี่วันหลังจากปวีณยื่นใบลาออก เขาได้รับโทรศัพท์จากพลตำรวจโท ฐ. ตำรวจใหญ่คนหนึ่งที่เป็นที่รู้จักในแวดวงชั้นสูง อ้างว่าเบื้องบนของเขาอีกทีหนึ่งได้ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ต่อมาพลตำรวตรีปวีณได้เรียนสายกับนายทหารใหญ่ พลเอก จ. ยืนยันอีกเสียงว่าการย้ายไปภาคใต้ไม่ต่างอะไรจากการส่งไปตาย
ผลการติดต่อพูดคุยกันครั้งนั้น พลตำรวจตรีปวีณได้พบกับ พลอากาศเอก ส. เสนอให้พลตำรวจตรีปวีณไปทำเรื่องถอนใบลาออกกับ ผบ.ตร. แล้วมาทำงานกับเขาแบบใบสมัครพิเศษ ที่จะส่งให้เฉพาะคนที่ถูกจับตามองและเลือกเข้าไปทำงานในหน่วยพิเศษที่สูงมากๆ ชื่อย่อหน่วยว่า สนง.นรป.904
เมื่อคุยกันแล้ว พลอากาศเอก ส. ให้ตัวเลือกปวีณว่าจะทำงานกับเขา หรือจะไปดูคดีค้ามนุษย์ในสังกัดกองบัญชาการสอบสวนกลาง นอกจากนี้ ยังมีนายตำรวจระดับสูงอีกคนหนึ่งที่อยู่ในที่นัดพบด้วย คือพลตำรวจเอก จ. ซึ่งเป็นคนละคนกับ จ. ที่พูดถึงทีแรก พลตำรวจเอก จ. คนนี้ให้ตัวเลือกที่ 3 มาด้วยคือการลาออกแล้วอยู่เงียบๆ
“ในเวลานั้นเขาเชื่อจริงๆ ว่าตัวเองได้รับสิทธิให้เลือกที่จะรับผิดชอบคดีค้ามนุษย์ในฐานะตำรวจต่อไป เขาเชื่อจริงๆ ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้เห็นความสำคัญของการปราบปรามการค้ามนุษย์ พร้อมที่จะปกป้องคุ้มครองตัวเขาในการปฏิบัติหน้าที่ คุณปวีณจึงแจ้งความประสงค์นี้กับ พลอากาศเอก ส. และไปทำหนังสือขอถอนใบลาออกกับ ผบ.ตร. ทุกอย่างเหมือนจะจบลงด้วยดี ทว่าในคืนเดียวกัน คุณปวีณถูกเรียกให้ไปพบ ผบ.ตร. ในวันถัดไป เมื่อได้ไปพบปรากฏว่า ผบ.ตร. ตำรวจเอกจักรทิพย์ กล่าวกับคุณปวีณว่า ‘พี่กับผมไม่มีอะไรกันนะครับ พี่ต้องลาออก แล้วอยู่เงียบๆ’ จากนั้นก็ต่อสายถึง พลตำรวจเอก จ. ซึ่งก็คือ พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย ที่ยืนยันเช่นเดียวกันว่าให้ลาออกแล้วอยู่เงียบๆ
“นี่คือบทสรุปที่ทำให้คุณปวีณไม่สามารถไว้วางใจผู้บังคับบัญชาและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนไหนได้อีกแล้ว และไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าการเลือกของตัวเองนั้นจะไม่กลายเป็นชนวนเหตุให้ถูกยัดคดีร้ายแรงอย่างมาตรา 112 ยิ่งในช่วงเวลานั้น เกิดกรณีหมอหยองและพวกเสียชีวิตปริศนาในเรือนจำ ก็ยิ่งไม่อาจรับรองได้เลยว่าชีวิตของเขานั้นจะไม่ประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน และนั่นทำให้คุณปวีณตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศไปเมื่อคืนวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 วันเดียวกับที่พลตำรวจเอกจักรทิพย์แถลงอนุมัติการลาออกของเขา”
รังสิมันต์ตั้งคำถามว่า นี่คือผลลัพธ์แบบเดียวกันกับตำรวจ 96 นาย ที่ปฏิเสธไม่ย้ายสังกัดไปเป็นตำรวจราบ จนถูกธำรงวินัยนานเกือบปีหรือไม่ หรือว่าเป็นด้านตรงข้ามของคนที่ได้ตั๋วช้าง คนใดใช้วิชามารก็จะได้ดี ส่วนใครแม้ซื่อตรงต่อหน้าที่แต่ไม่รู้จักเกาะขอบโต๊ะชนชั้นสูง ก็ต้องฉิบหายวายวอดกันไป และนี่คือผลลัพธ์ของการที่ใครสักคน ที่ปฏิเสธข้อเสนอของบรรดาคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ข้าราชบริพาร’ ที่ชักชวนให้เข้าไปทำงานในวังใช่หรือไม่
“คนแบบนี้แหละที่ต้องส่งเสริมให้ได้ดิบได้ดี ได้ทำงานที่เขาคู่ควร ได้เกษียณอย่างสงบสุข แต่ภายใต้รัฐบาลนี้ คนแบบนี้กลับต้องลี้ภัย ถ้าประเทศนี้มันประกันความปลอดภัยได้จริง เขาไม่ต้องออกไปลำบากตั้งแต่แรก สาเหตุที่แท้จริงที่รัฐบาลนี้ไม่ส่งเสริมให้คนอย่าพลตำรวจตรีปวีณได้ทำงาน แท้ที่จริงแล้วผู้ค้ามนุษย์ตัวใหญ่ตัวจริงมันก็ยังวนเวียนอยู่แถวนี้ อยู่ในทำเนียบ อยู่ในกระทรวง หรืออาจกำลังอยู่ในสภาขณะนี้ก็เป็นได้ ถ้าขืนยอมให้คนจริงเข้าพุ่งชนปัญหาอย่างจัง ก็คงกลัวว่าจะสืบสาวราวเรื่องไปได้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะสูงขึ้นไปยิ่งกว่าคนในกระทรวง และคนในทำเนียบด้วยซ้ำ
“นี่คือด้านตรงข้ามของคนที่ได้ตั๋วช้าง ถ้าไม่เข้าวังก็จะไม่ได้ดี ต้องมีอันฉิบหายวายวอดกันไป และนี่คืออีกหนึ่งผลงานของระบอบปรสิตกัดกินทุกโครงสร้างองค์กรสถาบันของประเทศ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของไม่กี่คนในประเทศนี้”
หลังอภิปรายจบ รังสิมันต์ได้ขอให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามเรื่องการค้ามนุษย์ แต่พลเอกประยุทธ์ไม่ตอบ รังสิมันต์จึงพูดว่า “ถ้าท่านจะใจดำอำมหิตอย่างนี้ก็ไม่สมควรเป็นนายกอีกแล้ว” จากนั้น สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้รังสิมันต์ถอนคำว่า ‘อำมหิต’ โดยเขายืนยันไม่ถอนคำพูดดังกล่าว และยอมเดินออกนอกห้องประชุมตามข้อบังคับ
พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะเดินหน้าเปิดโปงเรื่อง ‘ตั๋วช้าง’ ต่อไป วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 จะมีการแถลงข่าวที่พรรคก้าวไกล เวลา 10.00 น. โดยพรรคก้าวไกลระบุว่า พลตำรวจตรีปวีณ ซึ่งขณะนี้ลี้ภัยอยู่ในประเทศออสเตรเลียจะร่วมแถลงข่าวเปิดเอกสารที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย
อ้างอิง
Tags: Report, รังสิมันต์ โรม, ประชุมสภา, พรรคก้าวไกล, ก้าวไกล, ตรีนุช อิงคุทานนท์, ค้ามนุษย์, พลโท มนัส คงแป้น, จักรทิพย์ ชัยจินดา