วันนี้ (23 สิงหาคม 2566) ที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายทบทวนบทบาทและงบประมาณของศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นการใช้อำนาจที่สนองต่อวาระความต้องการของผู้มีอำนาจที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับประชาชน นอกจากนี้ ใน 1 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนไปมากกว่า 3.4 ล้านบาท
รังสิมันต์เริ่มต้นอภิปรายโดยกล่าวถึงความคาดหวังของประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญ คือศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นองค์กรที่พิทักษ์รักษาหลักการประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ อันถูกรับรองและคุ้มครองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ทว่าผลงานของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาไม่ได้เป็นเช่นนั้น อีกทั้งยังใช้อำนาจที่เป็นการสนองต่อวาระความต้องการของผู้มีอำนาจที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับประชาชนและผู้แทนของประชาชนอีกด้วย
โฆษกพรรคก้าวไกลยกตัวอย่าง 2 คำวินิจฉัย ได้แก่ คำวินัจฉัยที่ 6/2565 ที่วินิจฉัยว่า การใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ที่กำหนดให้ห้ามชุมนุมหรือห้ามกระทำการใดๆ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญในส่วนของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการปราบปรามผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอย่างสันติ ซึ่งเป็นประกาศที่ไม่มีใครตรวจสอบหรือทัดทานได้ และศาลรัฐธรรมนูญก็สนับสนุนการกระทำนี้ของรัฐบาลชุดดังกล่าว
ต่อมาคำวินัจฉัยที่ 19/2564 เกี่ยวข้องกับการชุมนุมให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยกล่าวว่า เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งนี้มองได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญสถาปนาตัวเองเป็นผู้ผูกขาดทั้งประวัติศาสตร์และหลักการปกครองของประเทศไทย ทั้งที่จริงแล้วทั้งสองอย่างนี้ควรเป็นเรื่องที่กล่าวถึงและสามารถถกเถียงได้ ไม่ใช่การกดทับเสียงความเห็นของประชาชนให้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน และกีดกันประชาชนออกจากการเมืองเช่นนี้
รังสิมันต์กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว อีกปัญหาใหญ่ที่สำคัญมาก คือเรื่อง ‘งบประมาณ’
“งบประมาณศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับในปี 2565 คิดเป็นกว่า 361 ล้านบาท ตลอดปี 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา 24 เรื่อง เป็นคำสั่ง 80 เรื่อง หรือรวมทั้งหมดเป็น 104 เรื่อง หากคิดงบประมาณเฉลี่ยต้นทุนต่อ 1 คำวินิจฉัย หมายความว่าทุกครั้งที่เอาอะไรออกมาจากศาลสักเรื่องหนึ่ง เราต้องตระหนักว่าพี่น้องประชาชนเสีย 3.4 ล้านบาทต่อ 1 คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
“รวมถึงคำวินิจฉัย 2 เรื่องที่กล่าวไปข้างต้น ทั้งเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่นำไปสู่การใช้กำลังปราบปรามพี่น้องประชาชน ก็คิดเป็นคำตัดสินที่มีมูลค่ากว่า 3.4 ล้านบาท และเรื่องการกล่าวว่าประชาชนล้มล้างการปกครองอีกจำนวน 3.4 ล้านบาท
“สิ่งนี้คุ้มค่ากับภาษีของประชาชนหรือครับ?” โฆษกพรรคก้าวไกลถาม
รังสิมันต์ทิ้งท้ายว่า สังคมไทยไม่ได้คาดหวังอะไรไปมากกว่าการจะมีศาลรัฐธรรมนูญดีๆ สักศาลหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ปกป้องเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่ใช้อำนาจเพื่อทำลายตัวแทนพี่น้องประชน
Tags: ศาลรัฐธรรมนูญ, รังสิมันต์ โรม