ในยุคที่การสั่งของออนไลน์ทำได้ง่ายแค่เพียงคลิกปลายนิ้ว นอกจากพ่อค้าแม่ขายออนไลน์และอินฟลูเอ็นเซอร์ที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกในการสร้างสรรค์อาชีพนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘บริษัทขนส่งออนไลน์’ ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

‘Flash Express’ คือหนึ่งในบริษัทขนส่งยอดนิยมสำหรับพ่อค้าแม่ขายออนไลน์ เพราะมีสาขามากมายทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นขนส่งที่ราคาย่อมเยา จึงเป็นเหตุผลที่หลายคนเลือกใช้บริการทั้งรับและส่งสินค้า ทว่าปฏิเสธไม่ได้ว่า พักหลังนี้เราอาจได้ยินประโยคเหล่านี้หนาหูขึ้น

“แฟลช ถ้ามึงจะส่งช้าขนาดนี้ เลิกเรียกตัวเองว่าแฟลชเถอะ”

“แฟลช โคตรรรรส่งช้าเลยแม่งเอ๊ย หลายวันละ ของยังไม่ถึง สถานะก็ไม่อัปเดต”

“ส่งแฟลชสภาพกล่องเละมาก ของค้างคลังนาน จนต้องไปตามเองที่คลัง เสียเวลาชีวิต”

“ของค้างอยู่คลังบางกะปิสามวันนี้แล้ว ดีนะเป็นของใช้เก็บปลายทาง ก็คงจะเป็นจริงตามข่าว”

“ไรเดอร์บอกว่าส่งของออกจากคลังแล้ว แต่ที่จริงยังไม่ได้เอาออกมาจากคลังสินค้าเลยพี่”

“แฟลชมาส่งของอะไรสามทุ่มวะ”

สิ่งที่ถูกสะท้อนจากผู้บริโภคเป็นเสียงบ่นปนด่า ว่าด้วยปัญหาการส่งของล่าช้าของขนส่งชื่อดังเจ้านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบการจัดการจากคลังขนส่งสินค้า ไปจนถึงในแง่ของการขนส่งพัสดุจากไรเดอร์มายังที่อยู่ของผู้บริโภคแต่ละราย ซึ่งสะท้อนอีกมุมของบริการดังกล่าว 

นอกจากเสียงของผู้บริโภคแล้ว อีกเสียงหนึ่งที่หลายคนมักมองข้าม ทั้งที่เป็นผู้ประสบกับปัญหานี้โดยตรง คือเสียงจาก ‘ไรเดอร์’ ที่อยู่ในฐานะพนักงานส่งของของบริษัทดังกล่าว

“พนักงานบางท่านอ้างว่า ถูกลดค่าคอมฯ จาก 8,000 บาท เหลือไม่ถึง 500 บาท และบริษัทออกกฎระเบียบใหม่ คือพนักงานต้องทำงาน 92% ต้องส่งสินค้า วันละ 300-500 ชิ้นและจะได้ค่าคอมฯ เพียงแค่ 40-80 ชิ้นเท่านั้น ที่เหลือคือทำงานฟรี ไม่มีค่าน้ำมัน ค่าคอมมิชชันก็น้อยลง รวมถึงไม่มีค่า OT ยุคที่ทุนขูดรีดแรงงานได้ตามอำเภอใจ รัฐไทยมัวทำอะไรอยู่ ?” ตัวอย่างข้อความจากเพจสหภาพไรเดอร์ – Freedom Rider Union ที่พยายามบอกเล่าถึงสถานการณ์ที่ไรเดอร์ต่างพบเจอ

The Momentum มีโอกาสพูดคุยกับ อนุกูล ราชกุณา ตัวแทนจากสหภาพไรเดอร์ เกี่ยวกับ ‘ไรเดอร์ส่งของ’ ในฐานะอาชีพที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากเหตุการณ์นี้ แต่เสียงของพวกเขามักถูกกลบให้ไม่ได้ยิน

 

‘ไรเดอร์แฟลช’ อาชีพที่ ‘คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า’

อนุกูลเริ่มต้นเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ตั้งแต่การคิดราคาค่าส่งของที่ถูกเกินไป จนกระทบกับความสามารถในการรับของได้ในระบบคลัง ส่งผลโดยตรงต่อการทำให้ไรเดอร์ต้องรับงานเยอะกว่าที่ควรจะเป็นด้วยเช่นกัน จึงส่งผลต่อเนื่องถึงการส่งของให้ลูกค้าล่าช้า และมองว่า เรื่องนี้เป็น ‘ความพยายามในการบิดเบือนราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย’

“การคิดหรือเสนอราคาบริการที่ถูกเกินไป ทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจเยอะก็จริง แต่กลับกลายเป็นว่า ภาระหนักจะตกกับคนที่ทำงาน ซึ่งก็คือ ‘ไรเดอร์’ ทันที หากคิดราคาถูก คุณจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้คนทำงาน สิ่งนี้ส่งผลให้ต้องกดคนทำงาน และค่าจ้างของคนทำงานไปด้วยเช่นกัน

“ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่เขาคิดราคาถูก บางสาขามีโปรโมชันจัดส่งทั่วประเทศ 15 บาท ทำให้ผมเอะใจว่า แล้วไรเดอร์จะได้อะไร บริษัทจะได้อะไร นั่นเป็นปัญหาที่ค้างคามานานแล้ว

“ผมเคยได้ยินมานานว่า ที่นี่ ‘คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า’ พอสมควร จากที่ผมเคยคุยมา ไรเดอร์ที่วิ่งงานหรือกระทั่งคนที่อยู่หน้าร้านก็บ่นกับผม ว่าเงินเดือนออกช้า สวัสดิการไม่เยอะ ซึ่งทุกอย่างมีการปรับเปลี่ยนตามนโยบายของบริษัทตลอด”

เมื่อให้ช่วยขยายในประเด็นคนในอยากออก คนนอกอยากเข้า อนุกูลอธิบายว่า นี่เป็นอาชีพที่คนนอกมองดูแล้วอยากเข้ามาทำ เพราะมีการโฆษณาเพื่อรับสมัครคนเข้ามาเป็นไรเดอร์เพิ่มบ่อย แค่เพียงเข้าในโซเชียลมีเดีย ก็มักเห็นโฆษณาการรับสมัครงานของบริษัทนี้เต็มหน้าฟีด ซึ่งเงื่อนไขการสมัครเข้ามาก็ง่ายแสนง่าย เพราะฐานเงินเดือนสูง (ระบุเริ่มต้น 2x,xxx บาท สำหรับการขับรถมอเตอร์ไซค์ หรือ 3x,xxx บาท สำหรับรถคันใหญ่ ซึ่งยังไม่รวมค่าคอมมิชชัน) ทั้งยังไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษา เพียงแค่มีใบขับขี่และรถคู่ใจเป็นของตัวเอง นั่นจึงเป็นเหตุผลมากพอที่คนภายนอกอาจมองเข้ามาแล้วคิดว่าเป็นอาชีพที่น่าทำ

“แต่เมื่อเข้ามาสัมผัสเนื้องานก็ค้นพบว่า ‘ไม่ใช่แบบที่คิด’ มีไรเดอร์หลายคนเล่าให้ผมฟังว่า เงินเดือนเริ่มต้นอาจได้เพียงแค่ 15,xxx บาทเท่านั้น ไม่ถึง 2x,xxx บาทตามที่ได้แจ้งเอาไว้ รวมถึงยังมีสิ่งอื่นๆ ที่พวกเขาได้พบเจอจากความเอารัดเอาเปรียบอีกมากมาย” อนุกูลกล่าว

ปัญหาต่อแรก ‘การจัดการปัญหาคลังสินค้า’

นี่เป็นปัญหาธรรมดาสามัญแต่ส่งผลกระทบหลายภาคส่วนในการบริการขนส่ง 

ปัญหานี้สืบเนื่องจากการคิด ‘ค่าส่งถูก’ ดังที่กล่าวไปข้างต้น ตัวแทนจากสหภาพไรเดอร์เล่าถึงการที่คิดราคาส่งถูกเพื่อการโปรโมตการตลาด ส่งผลให้มีผู้เข้าใช้บริการขนส่งสินค้ามาก และเมื่อมากเกินไป ส่งผลให้คลังที่เก็บพัสดุสินค้าไม่สามารถรับของได้ จนเกิดสภาวการณ์ ‘คลังแตก’ ซึ่งหมายถึงการที่สินค้าไปกองอยู่ที่คลังพัสดุที่ใดที่หนึ่งเยอะจนไรเดอร์ไปส่งไม่ทัน อีกทั้งเมื่อสาขาใดมีคนลาออกเยอะ ไม่มีคนทำงาน ยิ่งส่งผลให้ของกองอยู่ที่นั่น และทำให้ลูกค้าตำหนิ

“เมื่อปีที่แล้ว ผมเคยถามถึงการจัดการปัญหาของคลัง จึงได้รู้มาว่าอยู่ที่แต่ละคลังจะจัดการปัญหาอย่างไร ซึ่งบางทีคลังมีการเกี่ยงงานกันทำ เช่น 

“ปัญหาแรก ‘ใช้รถไม่เหมาะกับของ’ บางทีของชิ้นใหญ่แทนที่จะให้รถใหญ่วิ่ง ไม่ว่าจะเป็นรถกระบะทึบหรือรถตู้ กลายเป็นว่าถ้ารถใหญ่ไม่วิ่ง มอเตอร์ไซค์ก็ต้องรับผิดชอบในการขนส่งแทน ซึ่งบางทีมอเตอร์ไซค์ขนของชิ้นใหญ่ได้แค่ครั้งละ 1 ชิ้น และมอเตอร์ไซค์ก็ต้องยอม เพราะถ้าไม่ขนส่ง ลูกค้าจะบ่น ซึ่งก็จะเชื่อมโยงไปว่า ไรเดอร์จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายครั้งละประมาณ 300 บาทต่อการ Complain หนึ่งครั้ง หากอิงข้อมูลจากประมาณปีที่แล้ว ซึ่งกลายเป็น ‘ราคาที่คนทำงานต้องจ่าย’ ทั้งที่เป็นความผิดพลาดจากคลัง

“สอง การวิ่งงานแต่ละวันต้องวิ่งให้ได้ 100 ชิ้นขึ้นไป และต้องมีเกณฑ์ขั้นต่ำในการวิ่งแต่ละวัน แต่การวิ่งแต่ละรอบก็ไม่ได้ตรงตามเป้าหมายทุกอย่าง เพราะมีลูกค้าบางคนเก็บเงินปลายทาง แต่บางทีไม่อยู่บ้าน ของจึงตีกลับ กลายเป็นบางวันยอดส่งไม่ถึงเป้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อคะแนนของคลัง ซึ่งจะถูกปรับลดน้อยลงไปอีก

“สาม คลังไม่แยกประเภทรถรับ-ส่งงาน คือใช้ไรเดอร์กลุ่มเดียวกันในการรับและส่ง อีกทั้งบริษัทนี้มีนโยบายในการรับสินค้าที่บ้าน ดังนั้น การไปใช้กลุ่มรถเดียวกันจึงทำให้ภาระการจัดส่งตกอยู่ที่คนทำงานกลุ่มเดียว กลายเป็นว่าวันหนึ่ง ไรเดอร์หนึ่งคนที่วิ่งวนในเขตที่รับผิดชอบต้องวิ่งวนไม่ต่ำกว่าห้ารอบ 

“สี่ ปัญหาเรื่องการ Complain ซึ่งจะทำให้ไรเดอร์ถูกหักเงิน เท่าที่ผมทราบมา คือปีที่แล้วถูกหักประมาณ 300 บาท แต่ข้อมูลอัปเดตล่าสุดอาจจะถูกทำให้ถึงประมาณ 800-1,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าค่าวิ่งที่ได้แต่ละครั้ง นโยบายเหล่านี้จึงเสมือนบีบให้ไรเดอร์ ‘ทำงานฟรี’ เพราะถูก Complain หนึ่งครั้งก็แทบจะไม่เหลืออะไรแล้ว ถ้าถูก Complain สามครั้ง ก็จะถูกระงับเงินค่าคอมมิชชันและค่าน้ำมันทั้งหมดที่เคยวิ่งมาได้ เท่ากับว่าทำงานฟรีทั้งเดือน”

‘ไรเดอร์’ กลายเป็นคนรับไม้ต่อแรงกดดัน จากปัญหาของระบบโครงสร้าง 

จากข้อความของสหภาพไรเดอร์ที่ผู้เขียนหยิบยกมาช่วงต้น ทำให้พอเห็นได้ว่า การเป็นไรเดอร์แฟลช ‘ไม่ง่าย’ เพราะต้องทนรับแรงกดดันมากมาย ทั้งยังได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรม

อนุกูลเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ปัญหาหลักๆ ที่ไรเดอร์ถูกบีบให้รับแรงกระแทก เกิดขึ้นแทบจะทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานมากขึ้นแต่ได้รับค่าคอมมิชชันน้อยลง จากคำบอกเล่าของไรเดอร์เกี่ยวกับนโยบายล่าสุดของแฟลชระบุว่า ต้องทำงานหนักกว่าเดิมเพิ่มขึ้นถึง 92% โดยต้องส่งให้ได้ถึงวันละ 300-500 ชิ้น แต่ได้รับค่าคอมมิชชันเพียงแค่ไม่เกิน 80 ชิ้น ซึ่งน้อยกว่าของที่ส่งต่อหนึ่งวันไปมาก หรืออาจเทียบได้ว่าเป็นการ ‘วิ่งฟรี’ ไปเลย

สำหรับเรื่อง ‘ค่าน้ำมัน’ อาจต้องเป็นไปตามบริษัทกำหนด หากเป็นเมื่อก่อนจะมีค่าน้ำมันให้ราว 80 บาท แต่หลังปรับนโยบายใหม่ยังไม่แน่ชัดว่ามีค่าน้ำมันให้หรือไม่ หรือให้เท่าไร หรืออาจให้ หากมีการวิ่งงานจนถึงรอบที่บริษัทกำหนด

หลังปรับนโยบายบริษัทใหม่ให้เป็นเช่นนั้น สิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือการที่ ‘ไรเดอร์ลาออก’ เป็นจำนวนมาก

“หากให้ยกตัวอย่างสิ่งที่เห็นภาพที่สุด คือการที่พนักงานขนส่งทยอยกันออกเพราะเหตุผลที่บอกไปข้างต้น คือการส่งของหลายชิ้นต่อวัน รวมถึงเขาจะมีโควตาของแต่ละสาขา เช่น โควตาคนส่งของ 4 คน ต้องส่งของรวมกันวันหนึ่งทั้งหมด 500 ชิ้น ก็จะคงโควตานั้นไว้ และภาระจะไปตกไปอยู่ที่ไรเดอร์แทน ตอนนี้ปัญหาหลักๆ คือเมื่อคนลาออกเยอะ งานจึงเยอะตาม เพราะคนที่ยังอยู่ต้องเฉลี่ยงานรับกันเพิ่มแทน”

‘สถานะ’ ในการทำงานของไรเดอร์แฟลช เป็นแบบใด และถูกนับเป็นแรงงานรูปแบบหนึ่งหรือไม่

“ไรเดอร์แฟลชจะแตกต่างจากไรเดอร์เดลิเวอรีอื่นๆ คือเขาเหล่านั้นจะถูกเรียกเป็น ‘พาร์ตเนอร์’ ของแพลตฟอร์ม ซึ่งพวกเขาก็มีความยากลำบากในการไม่ถูกนับว่าเป็นแรงงาน เพราะถือว่าไม่ได้เป็น ‘ลูกจ้าง’ ตามข้อกฎหมาย

“แต่กับไรเดอร์แฟลชจะต่างออกไป พวกเขากับแฟลชอยู่ในสถานะเป็น ‘ลูกจ้าง-นายจ้าง’ ซึ่งมีเงินเดือนให้ตายตัว ได้รับค่าคอมมิชชันเพิ่มเติม และได้รับการคุ้มครองตามประกันสังคม มาตรา 33 แต่ที่เป็นปัญหาในตอนนี้คือ เงื่อนไขบริษัทที่กำหนดให้พวกเขาต้องทำงานเพิ่มขึ้น ทั้งที่ปัญหามาจากการจัดการเชิงโครงสร้างคลังสินค้าที่ไม่ดี ซึ่งพวกเขาต้องทำงานมากกว่แปดชั่วโมงในหนึ่งวัน และเสียงสะท้อนจากบริโภคที่ก่นด่าก็เห็นได้ชัดว่าไรเดอร์ทำงานหนักขนาดไหน”

อนุกูลยกตัวอย่างบางกรณีที่ไรเดอร์เคยกดว่า ‘สินค้าถูกจัดส่งแล้ว’ แต่ที่จริงตัวสินค้ายังไม่ได้ถูกจัดส่งและอาจยังอยู่ที่คลังสินค้าใกล้บ้านของลูกค้า แต่ต้องทำไปก่อนเพราะว่า ‘เลี่ยงการถูกลงโทษ’ จากบริษัท

ทั้งนี้ ต่อเนื่องไปถึงการลาออกจากงานของพนักงานแฟลช ตัวแทนจากสหภาพไรเดอร์กล่าวว่า ส่วนใหญ่ไรเดอร์มักถูก ‘บีบให้ออก’ โดยวิธีหนึ่งที่น่าตั้งข้อสังเกต คือ ‘การถ่ายโอนงานให้ทำงานมากขึ้น’ หรืออาจมากไปถึง ‘การไม่จ่ายเงินเดือนและค่าคอมมิชชัน’ ซึ่งเมื่อไรเดอร์ทนไม่ไหว ทั้งในแง่การรับผิดชอบภาระงานและการไม่ได้รับเงินเดือนตามที่ควรจะเป็น หากต้องการลาออกและเป็นการลาออกเองกลางคัน จะไม่เข้ากับกรอบกฎหมายแรงงานที่ระบุว่า ต้องแจ้งลาออกภายใน 30 วัน จึงจะได้รับการชดเชย ซึ่งเท่ากับว่า บริษัทไม่ต้องชดใช้อะไรให้กับลูกจ้างเหล่านี้เลย

ควรเริ่มต้นแก้ไขปัญหาอย่างไร

“ผมมองว่าต้องมี ‘พนักงานตรวจแรงงาน’ ที่มากพอ บางทีไรเดอร์มีสถานะเป็นลูกจ้าง แต่พนักงานตรวจแรงงานมีไม่เพียงพอที่จะเข้ามาคุ้มครองพวกเขา รวมไปถึงเข้ามาตรวจสอบการทำงานเหล่านี้ว่า คนทำงานมีการถูกเอาเปรียบอะไรหรือไม่ 

“ผมจำไม่ได้ว่า พนักงานตรวจแรงงานต้องมีอัตราส่วนเท่าไร ถ้าจำไม่ผิด พนักงานตรวจแรงงานตอนนี้อัตราส่วนอยู่ที่ 1 คน ต้องรับพนักงานประมาณ 1 หมื่นคน ซึ่งมันหนักมาก จึงกลายเป็นว่า เจ้าหน้าที่แรงงานอาจไม่เพียงพอในการตรวจพื้นที่

“คนทำงานก็ไม่ค่อยอยากมีปัญหากับบริษัท พอเวลาเกิดเหตุการณ์ถูกเอาเปรียบแบบนี้ขึ้นก็ไม่ได้มีการร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลายเป็นว่า ‘ไม่พอใจก็ลาออก’ มากกว่า ปัญหาจึงไม่ถูกแก้ วนอยู่ที่เดิม คนใหม่เข้ามาก็ทำเหมือนคนเก่าอีก คือไม่พอใจก็ออก ไม่ได้มีการร้องเรียนปัญหาพวกนี้ ผมอยากให้กระทรวงแรงงานเข้าตรวจสอบพื้นที่ว่า คนทำงานมีปัญหาอะไรไหม คือทำงานเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ” 

อยากฝากอะไรถึงกระทรวงแรงงานในการช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้

“นอกจากการทำงานในเชิงรุก อยากฝากในเรื่องของกฎหมาย เพราะกฎหมายแรงงานยังไม่ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม เรายังมีกฎหมายแรงงานในระบบและนอกระบบ ซึ่งถือว่าแบ่งแยกแรงงาน ทำให้สับสนมากเวลาจะบังคับใช้กฎหมายว่าจะต้องใช้กฎหมายตัวไหน

“ฝากภาครัฐว่า ควรกำหนดนิยามของแรงงานให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม หรือเขียนกฎหมายให้เป็นกฎหมายแรงงานฉบับเดียว แต่ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มได้ ไม่ต้องแบ่งแยกว่าแรงงานไหนเป็นในหรือนอกระบบ เพราะผมมองว่า การเป็นแรงงานในระบบยังได้รับการคุ้มครองมากกว่าการที่รัฐตีตราว่า เป็นแรงงานนอกระบบ”

สิ่งสุดท้ายที่คุณอยากฝาก

“ผมมองว่างานที่ดี คืองานที่ช่วยทำให้ผลักดันสังคมให้ดียิ่งขึ้น คนทำงานก็ต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เราต้องการทำงานที่มีรายได้สูง เพื่อที่จะมาจุนเจือครอบครัวได้ เรามีความหวังความฝันอยู่ในนั้น แต่กลายเป็นว่า นโยบายของรัฐก็ดี หรือว่ากฎหมายเองก็ดี มันบิดเบือน ขูดรีดเอาความฝันของคนทำงานเหล่านั้นไปหมด กลายเป็นว่าวันนี้เราทำงานเพื่อถูกขูดรีดความฝัน เราทำงานเพื่อกลุ่มคนแค่ไม่กี่เปอร์เซ็น อาจเป็นแค่หนึ่งเปอร์เซ็นในสังคมด้วยซ้ำ ที่ได้เติบโตและร่ำรวยอยู่บนการทำงานหนักของเรา” 

“ดังนั้น จุดกำเนิดของนโยบายเหล่านี้ล้วนมาจากรัฐ ถ้ารัฐใส่ใจสิทธิของคนทำงาน ให้ความสำคัญกับสิทธิผ่านกฎหมาย ผ่านนโยบายต่างๆ ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำพวกนี้ลงมาก อยากฝากไว้ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เห็นความสำคัญกับคนทำงาน เพราะว่ามันคือสิทธิพื้นฐาน”

Tags: , , , , , ,