ต้นปีหน้า ปี่กลองของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะดังขึ้นอีกรอบ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นวันที่เลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ สำหรับนายก อบจ.ที่อยู่ครบเทอม
หนึ่งในบรรดาสนามที่แข่งขันกันหนักที่สุดหนีไม่พ้นจังหวัดภูเก็ต ที่เจ้าถิ่นเดิม เรวัต อารีรอบ จากกลุ่ม ‘ภูเก็ตหยัดได้’ อดีต ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ลงชิงตำแหน่งกับ นายแพทย์เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล หมอผ่าตัดสมอง ตัวแทนจากพรรคประชาชน ที่เปิดตัวล่วงหน้าตั้งแต่เมื่อหลายเดือนก่อน ตั้งแต่พรรคก้าวไกลยังไม่ถูกยุบ
ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ภูเก็ตเป็นสนามเดียวในภาคใต้ที่พรรคก้าวไกลครองตำแหน่ง ส.ส.ทั้งหมด 3 คน เอาชนะพรรคขั้วอนุรักษนิยม ทั้งยังเป็นที่เดียวในภาคใต้ที่พวกเขายึด ส.ส.ได้ทั้งหมด แต่อีกส่วนหนึ่ง ‘พรรคส้ม’ ก็ถูกวิพากษ์ว่า เป็นเพราะ ส.ส.ขั้วอนุรักษนิยมเดิม ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทยนั้นตัดคะแนนกันเอง จนสุดท้าย ‘ก้าวไกล’ เอาไปกิน
คำถามคือ ‘แชมป์เก่า’ อย่างเรวัตจะขายด้วยจุดขายอะไร พวกเขามั่นใจอะไรในผลงานตลอด 4 ปีที่ผ่านมา และหาก ‘เรวัต ทีมภูเก็ตหยัดได้’ ได้เข้ามาอีกสมัย พวกเขาจะทำอะไรเป็นอันดับแรก The Momentum สบโอกาสพบกับเรวัต ในห้วงเวลาก่อนการเลือกตั้งไม่นาน เพื่อนั่งคุยถึง ‘ผลงาน’ ของเขา และเรื่องที่อยากทำ หากได้รับการเลือกตั้งอีกรอบ
“ผมคิดว่าทุกโครงการของผมที่ออกไป ตอบโจทย์พี่น้องประชาชนเป็นอย่างดี” เรวัตเริ่มตอบคำถาม เมื่อถามถึงจุดขายที่จะทำให้คนเลือกทีม ‘ภูเก็ตหยัดได้’ อีกรอบ
เรื่องแรกที่เรวัตนำมาขายคือ การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 21 แห่ง จากกระทรวงสาธารณสุข มายังองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยเรวัตตั้งชื่อโครงการว่า ‘อยู่ที่ไหนก็ใกล้หมอ’ โดยทำให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน ตอบโจทย์ระบบสุขภาพปฐมภูมิมากขึ้น
เรื่องที่ 2 คือการปรับปรุงสวนสาธารณะ โดยใน 4 ปีแรกของเรวัตได้เปลี่ยน ‘เรือนจำเก่าภูเก็ต’ ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต เนื้อที่ 33 ไร่ ให้กลายเป็น ‘สวนสาธารณะ’ ใจกลางเมืองเก่าภูเก็ต ขณะเดียวกันยังเปลี่ยนทุ่งถลางชนะศึกที่อำเภอถลาง ให้เป็นสวนสาธารณะและแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยใช้งบประมาณ 169.5 ล้านบาทในการปรับปรุงพื้นที่เรือนจำเก่าภูเก็ต ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ตให้เป็นสวนสาธารณะ เป็นสถานที่ออกกำลังกายแห่งใหม่ พร้อมด้วยที่จอดรถยนต์อีก 300 คัน รองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันในสมัยของเรวัตยังสร้าง ‘ระเบียงกระจก’ หาดสุรินทร์ ซึ่งเป็นสกายวอล์ก เนื้อที่ 9 ไร่ สร้างแหล่งท่องเที่ยวให้ภูเก็ตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง
“ถ้าเทียบกันจริงๆ ผมคิดว่าผมทำได้มากราว 80-90%” นายก อบจ.ภูเก็ตอธิบาย เมื่อเราถามว่า ทำตามเป้าได้กี่เปอร์เซ็นต์
ส่วนที่ยังไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น อาจเป็นด้วยติดระเบียบ-ข้อกฎหมาย ติดกับดักความล่าช้า แต่ถ้ามาถึงวันนี้ ก็นับได้ว่าใกล้เคียงกับเป้าหมาย และหากเทียบกับช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนักมากที่สุด ด้วยความเป็นเมืองท่องเที่ยว การเดินมาได้ถึง 80% นับว่าเป็นเรื่องที่เรวัตภูมิใจ
คำถามคือ ทำไมเรวัตและทีม ‘หยัดได้’ ถึงต้องลงต่ออีก 1 รอบ
“เหตุผลสำคัญคือ คราวหน้าผมจะสานต่อเรื่องงานเก่าทั้งหมดที่สำเร็จมาแล้ว แบบไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ เพราะผมรู้ปัญหาภูเก็ต ทั้งเรื่องการจราจร เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องคุณภาพชีวิตเป็นอย่างดี ผมอยากจะจำกัดความสั้นๆ ว่า ภูเก็ตต้องเป็นที่เมืองทั้งน่าอยู่และเป็นเมืองที่น่าดู”
ขณะเดียวกันอีกส่วนสำคัญก็จะแก้ปัญหาใหญ่อย่าง ‘ดินสไลด์’ และ ‘น้ำท่วม’ ซึ่งเป็นผลกระทบชัดเจนจากภาวะโลกรวน จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เหตุดินสไลด์ที่ซอยปฏัก 2 ตำบลกะรน จังหวัดภูเก็ต ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นกว่า 13 ราย เป็นผลกระทบจากภาวะโลกรวนโดยตรง
ฉะนั้นหนึ่งในแกนกลางของนโยบายเรวัต จะเป็นการเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วย
นอกจากนี้อำนาจของ อบจ.ดูแลเรื่อง ‘ความปลอดภัย’ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพิ่งเกิดเหตุไฟไหม้เรือในทะเลที่อ่าวปอ จนไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ อย่างไรก็ตามขนาดเศรษฐกิจว่าด้วย ‘เรือยอทช์’ สำหรับชาวต่างชาตินั้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนธุรกิจ ‘มารีน่า’ หรือที่จอดเรือหรูลักชัวรีนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว
แผนของเรวัตหากได้รับเลือกเข้ามาเป็นนายก อบจ.อีกสมัย เพื่อการจัดการเรื่องนี้ได้เบ็ดเสร็จมากขึ้น เขาวางแผนว่าจะต้องมี ‘เรือดับเพลิง’ มาประจำการอย่างน้อย 2 ลำ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับตลาดลักชูรี
นอกจากนี้ในเรื่องการสัญจรทางน้ำ องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตเตรียมเปลี่ยนท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ท่าเทียบเรือสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะล่องเรือไปยังเกาะต่างๆ เช่น เกาะเฮ เกาะราชา เกาะพีพี รวมถึงล่องเรือชมพระอาทิตย์ตก ที่แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 2,000 คนที่ อบจ.เป็นผู้ดูแล จะกลายเป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) มีการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) คัดกรองผู้โดยสาร จัดระเบียบการจราจรบนสะพาน เพื่อความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวทางทะเลของภูเก็ตมากที่สุด
ด้วยระบบดังกล่าว อบจ.ภูเก็ตตั้งใจจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการทุกคนที่ผ่านไปลงเรือทางท่าเรืออ่าวฉลอง เพื่อความปลอดภัยและสามารถตรวจสอบได้ หากเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ ว่ามีผู้โดยสารบนเรือกี่คน และเป็นใครบ้าง ขณะเดียวกันท่าเทียบเรือก็จะมีความสะดวกสบายมากขึ้น เหมือนท่าเทียบเรือใหญ่ๆ ในต่างประเทศ โดยจะพร้อมเปิดให้บริหารรในช่วงไฮซีซันสิ้นปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายนเป็นต้นไป
ส่วนในมิติการศึกษาและสาธารณสุข ก็เป็นมิติที่เรวัตจะต่อยอด สร้างโรงเรียนและโรงพยาบาลของ อบจ.ให้มีคุณภาพมากขึ้น ตอบโจทย์สำหรับประชาชน และตอบโจทย์สำหรับจังหวัดใหญ่อย่างภูเก็ตได้ดีขึ้น
และอีกหนึ่งผลงานที่เรวัตตั้งใจนำเสนอก็คือ ในวาระที่ 2 ของเขา รถโพถ้องกำลังจะกลายเป็น ‘โพถ้องไฟฟ้า’ โดยจะขยายเส้นทางแก้ปัญหาจราจร จูงใจให้คนภูเก็ตมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น โดยจะขยายจาก 3 เส้นทางที่มีอยู่เดิมให้ครอบคลุมมากขึ้น
ทั้งนี้จะนำรถโดยสารไฟฟ้าจำนวน 24 คัน มาใช้แทนรถโพถ้องสีชมพูของ อบจ.ภูเก็ต ที่ให้บริการมานานกว่า 10 ปี โดยให้บริการใน 3 เส้นทาง บวก 1 เส้นทาง ประกอบด้วย สายที่ 1 สายสีเหลือง เริ่มต้นที่สะพานหิน ไปสิ้นสุดที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลภูเก็ต ระยะทาง 11 กิโลเมตร สายที่ 2 ท่าเรืออ่าวฉลอง-ห้างซุปเปอร์ชีป หรือสายสีแดง ระยะทาง 18 กิโลเมตร สายที่ 3 ท่าเทียบเรือรัษฎา-สวนน้ำอันดามันดา หรือสายสีเขียว ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร และรวมอีก 1 เส้นทางคือสนามบิน-หาดราไวย์ รวมระทางประมาณ 47 กิโลเมตร ซึ่งได้ปรับให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ท่าเรือ โรงเรียน ชุมชน ย่านการค้า ย่านเมืองเก่ามากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม ทั้งคนภูเก็ต และนักท่องเที่ยวคนไทย และต่างชาติ 1 คันรองรับผู้โดยสารได้ 21 คน โดยจะเริ่มวิ่งภายในเดือนธันวาคมนี้
ส่วนรถโพถ้องเดิมก็ไม่ได้หายไปไหน โดยเรวัตวางแผนนำรถโพถ้องเดิมไปให้บริการกับโรงเรียนของ อบจ. โรงเรียนของเทศบาล และโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อใช้ในการรับส่งนักเรียน และใช้สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ในระยะทางไม่ไกลมาก เป็นการอนุรักษ์รถโพถ้องให้อยู่ต่อไป และเป็นการช่วยแก้ปัญหาจราจร ไม่ให้เขตโรงเรียนต้องเผชิญกับปัญหารถติดอย่างในปัจจุบัน
แต่ในระยะยาว ในฐานะ อบจ.เขาบอกว่า ภูเก็ตต้องการการเดินทาง ‘ระบบราง’ ในเมือง ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคมต้องเข้ามาลงทุนให้ครอบคลุม แก้ปัญหาการจราจรที่เรื้อรังอยู่ในขณะนี้ ให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น
ขณะที่เรื่องการท่องเที่ยว เขามั่นใจว่า งาน ‘Phuket Peranakan Festival’ ที่บ่งบอก ‘ราก’ ของความเป็นเพอนารากันภูเก็ตจะกลายเป็นหนึ่งในเฟสติวัลระดับโลก โดยงานนี้ เริ่มจาก อบจ.รวมคนเพอนารากันทั้งจากมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่มา 200-300 ปีก่อน มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเพอนารากัน จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เมื่อวันที่ 21-23 มิถุนายน 2567 และจะจัดต่อเนื่องต่อไป โดยปีที่ผ่านมาจัดอย่างยิ่งใหญ่ เนื่องจากองค์กรยูเนสโก (UNESCO) กำลังพิจารณามอบรางวัลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแก่เกอบาญา หรือเครื่องแต่งกายที่คนไทยเรียกว่า ‘ย่าหยา’
ขณะเดียวกันก็มีการสาธิตทำอาหารเพอนารากันอย่าง ‘ผัดหมี่’ ปั้นเมนูอาหารท้องถิ่นของภูเก็ตให้เป็นอาหารระดับโลก โดยรวมทุกภาคส่วน-เครือข่าย เข้าด้วยกัน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนเรื่องการท่องเที่ยว
ส่วนข้อสำคัญที่ต้องถามเรวัตก็คือ ในมุมของ อบจ.ภูเก็ตมี ‘มาเฟีย’ จริงหรือไม่ และเป็นแหล่งผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพลจริงไหม
“ต้องยอมรับว่าคนที่เข้ามาในจังหวัดภูเก็ตนั้นร้อยพ่อพันแม่ ภูเก็ตเป็นเมืองที่ทำให้คนทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้ามาได้ เป็นเมืองที่โอเพ่น ขณะเดียวกันการเข้ามาของชาวต่างชาติก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภูเก็ตโตเร็วขึ้น
“แต่ในแง่หนึ่งก็ลำบากมากขึ้นในการจัดการ” เรวัตระบุ
อย่างไรก็ตาม ในมุมของนายก อบจ.เขายังคิดว่า ภูเก็ตไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘มาเฟีย’ คุมเมือง และเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ถึงขั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของมาเฟีย
“ผมมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่เราเองไม่ได้รู้เห็นเป็นใจ และไม่ได้สนับสนุนให้คนเป็นมาเฟีย แต่ถ้ามว่าต้องทำอะไรมากกว่านี้หรือไม่ ก็ต้องคุมเข้มเรื่องการบังคับใช้กฎหมายมากกว่านี้” อดีตนายก อบจ.คนภูเก็ตระบุ
ส่วน ‘เรวัต’ และทีม ‘หยัดได้’ ที่แปลว่าเชื่อถือได้ในภาษาภูเก็ต จะกลับมาอีกคำรบหนึ่ง สานต่องานเดิมที่ทำไว้ได้หรือไม่ อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะได้รู้กัน
Tags: ภูเก็ตหยัดได้, เลือกตั้งภูเก็ต, ภูเก็ต, อบจ, เรวัต อารีรอบ