วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2565) เวลา 10.30 น. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ยื่นเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 หรือร่างปลดล็อกท้องถิ่น ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) และทำการอภิปรายถึงสาเหตุว่าการปกครองแบบส่วนกลางในปัจจุบัน สร้างปัญหาให้กับประเทศไทยในส่วนภูมิภาคตามจังหวัดต่างๆ อย่างไรบ้าง

ในการอภิปราย ธนาธรได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากตำบลค้อใหญ่ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีปัญหาด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเช่นน้ำดื่ม ที่ไม่สามารถใช้ดื่มได้ในปัจจุบัน ซึ่งหากจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ต้องใช้เงินจำนวน 10 ล้านบาท แต่ขณะนี้ องค์การบริหาส่วนตำบลมีงบประมาณลงทุนเพียงแค่ 2-3 ล้านบาทเท่านั้น

โดยธนาธรกล่าวว่า ในปัจจุบันยังมีอีกวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหาตรงนี้ คือการวิ่งเต้น ของบประมาณจากหน่วยงานส่วนกลาง และหน่วยงานส่วนภูมิภาค แต่ก็ต้องแลกด้วยการเข้าสู่ระบบอุปถัมภ์ แลกด้วยความเป็นอิสระทางการเมือง ซึ่งหากไม่ทำเช่นนี้ก็ยากที่จะได้รับการพิจารณาตามความเร่งด่วน หรือตามความเดือดร้อนของประชาชน

นอกจากนี้ ธนาธรยังได้ยกอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่มีสาเหตุมาจากภาครัฐและส่วนกลางเช่นกัน คือคุณภาพชีวิตและการเหลื่อมล้ำ โดยอ้างอิงจากรายงานความสามารถขีดการแข่งขันของโลก (World Competitiveness Yearbook) ปัจจัยที่ฉุดรั้งการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีระดับโลก คือประสิทธิภาพของรัฐที่ในปี 2565 ตกลงมาถึง 11 อันดับ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยเป็นจำนวนมาก

“เราต้องการสังคมแบบไหน เราอยากเห็นโครงสร้างการเมืองการปกครองในประเทศไทยเป็นอย่างไร ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ปัญหาคนรวยและคนจน งานในต่างจังหวัดไม่มีการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างกลุ่มทุนกับชาวบ้าน โครงการที่พัฒนาโดยส่วนกลางแต่ไม่ตอบโจทย์คนในพื้นที่ เป็นเหตุผลที่ต้องเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น ทำให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อที่จะได้เห็นภาพอนาคตที่เป็นไปได้แบบอื่น” ธนาธรกล่าว

โดยจุดประสงค์ของเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อกท้องถิ่น คือการเปิดตัวเครื่องจักรเศรษฐกิจ มีเป้าหมายสำคัญ 3 อย่าง อันดับแรก คือให้อำนาจและอิสระในการบริหารกับองค์กรท้องถิ่นอย่างเต็มที่ โดยธนาธรมองว่าไม่มีใครรู้ปัญหามากกว่าคนในพื้นที่ คนในพื้นที่ย่อมรักและรู้ปัญหาในพื้นที่มากกว่าคนที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากส่วนกลาง อีกทั้งคนที่มาจากการเลือกตั้งมีแรงจูงใจในการตอบสนองความต้องการของประชาชนมากกว่า

อันดับสอง คือการจัดการงบประมาณที่เป็นธรรมเหมาะสมกับภารกิจที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ จากปัจจุบันแบ่งรายได้ให้กับท้องถิ่นร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 50 ลดปัญหาการวิ่งเต้นของบประมาณ ซึ่งประชาชนจะสามารถออกแบบการจัดสรรงบประมาณในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องทำเรื่องเพื่อขอเป็นเรื่องๆ ไป

สุดท้ายการทำประชามติ ปรับโครงสร้างบริหารประเทศครั้งใหญ่ ชวนสังคมมาตั้งคำถามในบทบาทของราชการส่วนภูมิภาคว่า หากจัดสรรงบประมาณให้เป็นธรรมแล้ว ราชการส่วนภูมิภาคควรเป็นแบบไหน จำเป็นต้องมีการทำประชามติภายใน 5 ปี พิจารณาว่าโครงสร้างการบริหารที่เหมาะสมกับภูมิภาคควรเป็นอย่างไร

“เราอยากสร้างอนาคตแบบนี้ร่วมกันไหมครับ และคำถามที่สำคัญกว่าคือเรากล้าฝัน เรากล้าทะเยอทะยานที่จะมีสังคมแบบนี้ในประเทศไทยหรือไม่” ธนาธรกล่าว

ด้าน ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้อภิปรายเพิ่มเติมถึงเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยกล่าวว่าปัจจุบัน องค์กรส่วนท้องถิ่นยังมีปัญหาที่ปรากฏอยู่ 5 เรื่อง คือองค์กรส่วนท้องถิ่นยังมีอำนาจและภารกิจอย่างจำกัด, ปัญหาอำนาจที่ซ้ำซ้อน, ปัญหางบประมาณที่ไม่เพียงพอ, ปัญหาราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคใช้อำนาจบังคับบัญชาส่วนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น และปัญหาการมีส่วนร่วมของพลเมืองในท้องถิ่น

และเมื่อนำปัญหาทั้งหมดมาสังเคราะห์แล้ว จะได้ออกมาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาซึ่งปรากฏในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 หรือร่างปลดล็อกท้องถิ่นทั้งหมด 12 ข้อ ได้แก่

1. การรับรองหลักการกระจายอำนาจ หลักการปกครองตนเอง ขององค์กรส่วนท้องถิ่นให้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ

2. กำหนดอำนาจหน้าที่แบบทั่วไปในการจัดการบริการสาธารณะขององค์กรส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

3. แก้ไขเรื่องอำนาจซ้ำซ้อนระหว่างองค์กรส่วนกลาง องค์กรส่วนภูมิภาค และองค์กรส่วนท้องถิ่น

4. กำหนดประเภทขององค์กรส่วนท้องถิ่นให้ปรากฏในรัฐธรรมนูญ

5. มอบสิทธิให้คนในท้องถิ่นสามารถเลือกตั้งผู้บริหารองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และสภาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น

6. ออกพระราชบัญญัติเพื่อขยายรายละเอียดเกี่ยวกับรายได้และรายรับองค์ส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

7. ออกแบบอำนาจการจัดทำบริการสาธารณะขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้มีความหลากหลาย

8. ให้ความเป็นอิสระในการบริหารของบุคคลในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น

9. การกำกับดูแลโดยองค์กรส่วนกลางต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัดเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อลดปัญหาการแทรกแซงอำนาจ

10. กระตุ้นการมีส่วนร่วมของพลเมือง ด้วยการจัดทำประชามติโดยคนท้องถิ่นในประเด็นต่างๆ

11. การกำหนดกฎหมายถ่ายโอน สภาพบังคับต่างๆ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

12. การจัดประชามติเกี่ยวกับทิศทางองค์กรส่วนภูมิภาคต่อไปในอนาคตข้างหน้า

“ผมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนสมาชิกรัฐสภา ในซีกของสมาชิกผู้แทนราษฎร ผมเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองสนับสนุนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นทั้งหมด อาจจะเห็นแตกต่างในรายละเอียดกันบ้าง แต่เราสามารถไปปรับเปลี่ยน ร่วมหาทางแก้ไขกันได้ เช่นเดียวกันกับสมาชิกวุฒิสภา ท่านก็พูดชัดเจนว่าสนับสนุนการกระจายอำนาจ ผมจึงขอเรียนว่า ร่างแก้ไขฉบับนี้อาจช่วยให้เพื่อนสมาชิกวุฒิสภาได้แสดงออกให้สังคมเห็นว่า ในบางเรื่องสมาชิกวุฒิสภาก็เอาด้วยถ้าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน” ปิยบุตรกล่าวสรุปในช่วงท้ายของการอภิปราย

Tags: , , , ,